“กกต.โพล” พบ ปชช.ตัดสินใจใช้สิทธิ “เลือกตั้ง อบต.” เพิ่ม แต่ยังกังวลโควิด-19
“กกต.” เผยผลโพลโค้งสุดท้ายก่อน “เลือกตั้ง อบต.” พบประชาชนรับรู้การเลือกตั้ง ตัดสินใจไปใช้สิทธิเพิ่มมากขึ้น เชื่อมั่นดำเนินการโดยสุจริต ยุติธรรม ชี้โควิด-19 ยังเป็นปัจจัยหลักที่กังวล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2564 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ร่วมกับนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 12 (พตส. 12) ได้ออกสำรวจความเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ระหว่างวันที่ 6-14 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ 42 จังหวัด จำนวน 1,500 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการสำรวจความคิดเห็นของ อปท. นิวส์โพล ที่ออกมา เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา
โดยพบว่าเมื่อถามถึงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.อบต. และ นายก อบต. ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.8 ระบุว่า ทราบว่าจะมีการเลือกตั้ง ส.อบต. และ นายก อบต. ในวันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย. (ผลสำรวจรอบแรก ร้อยละ 86) ส่วนร้อยละ 7.2 ระบุว่า ไม่ทราบ (ผลสำรวจรอบแรก ร้อยละ 14) แสดงให้เห็นว่าประชาชนรับรู้วันเลือกตั้ง มากขึ้นกว่าการสำรวจในรอบแรก ทั้งนี้เมื่อถามถึงระยะเวลาในการออกเสียงลงคะแนน พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.7 ทราบถึง เวลาออกเสียงลงคะแนนถูกต้อง คือ ระหว่าง 08.00 -17.00 น. นอกจากนั้นเมื่อถามว่าท่านจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.อบต. และนายก อบต. ในวันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย.นี้หรือไม่ พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.5 ระบุว่า ไปแน่นอน (ผลสำรวจรอบแรก ร้อยละ 53) ขณะที่ร้อยละ 18.7 ระบุว่า คิดว่าจะไม่ไป ร้อยละ 6.1 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจ และร้อยละ 1.7 ระบุว่า ไม่ไป
เมื่อถามว่าการเลือกตั้ง ส.อบต. และนายก อบต. ทำให้นึกถึงเรื่องใดมากที่สุด พบว่าส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 49.1 ระบุว่า คิดถึงเรื่องการพัฒนาท้องถิ่น (ผลสำรวจรอบแรก ร้อยละ 50) รองลงมาร้อยละ 23.9 ระบุว่า การมีประชาธิปไตย (ผลสำรวจรอบแรก ร้อยละ 26) และร้อยละ 26.4 ระบุว่า สิทธิของคนในท้องถิ่น (ผลสำรวจรอบแรก ร้อยละ 25) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจ 2 ครั้ง จะเห็นได้ว่า ประเด็นที่ผู้ตอบแบบสอบถามนึกถึงในแต่ละประเด็นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนั้นเมื่อถามถึงปัจจัยที่จะมีผลต่อการไปใช้สิทธิเลือกตั้งฯ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 52.4 ระบุว่า คิดว่าโควิด-19 (ผลสำรวจรอบแรก ร้อยละ 51) รองลงมาร้อยละ 12.8 ระบุว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ร้อยละ 12.4 ระบุว่า ฝนฟ้าอากาศ ร้อยละ 10.9 ระบุว่า ต้องประกอบอาชีพ ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจรอบแรก จะพบว่าลำดับแรกยังเป็นเรื่องโควิด-19 และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น แสดงว่าประชาชน ยังมีความกังวล สำนักงาน กกต. ต้องเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนว่า ได้กำหนด มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไว้ในทุกขั้นตอนการลงคะแนน อย่างไรก็ตามเมื่อถามถึงปัจจัยที่จะส่งผลต่อการเลือกตั้งฯ ส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 41.4 ระบุว่า นโยบาย รองลงมาร้อยละ 27.9 ระบุว่า คุณสมบัติของผู้สมัคร และร้อยละ 11.8 ระบุว่า วิธีการ/กลยุทธ์ในการหาเสียง
เมื่อถามว่าทราบถึงแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งจากแอปพลิเคชัน Smart Vote พบว่า ส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 55.9 ระบุว่า ทราบ (ผลสำรวจรอบแรก ทราบเพียง ร้อยละ 33) ส่วนร้อยละ 44.1 ระบุว่า ไม่ทราบ นอกจากนั้นเมื่อถามว่าทราบถึงช่องทางการแจ้งเหตุหากพบการกระทำทุจริตการเลือกตั้ง การกระทำผิดกฎหมายการเลือกตั้ง ผ่านแอปพลิเคชันตาสับปะรด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.1 ระบุว่า ไม่ทราบว่าสามารถแจ้งผ่านแอปพลิเคชันตาสับปะรด (ผลสำรวจรอบแรก ไม่ทราบร้อยละ 62) ส่วนร้อยละ 43.9 ระบุว่า ทราบถึงช่องทางการแจ้งเหตุดังกล่าว ทั้งนี้เมื่อถามต่อว่า หากพบการทุจริตเลือกตั้ง / การกระทำผิดกฎหมายฯ จะแจ้งข้อมูล หรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.3 ระบุว่า แจ้ง รองลงมาร้อยละ 21.1 ระบุว่า อาจจะแจ้ง ส่วนร้อยละ 14.6 ระบุว่า พบแต่ไม่แจ้ง