"วิปพรรคร่วมรัฐบาล" เคาะวันยื่น 2ร่างพ.ร.ป. ปลายธันวา64
"วิเชียร" เผยที่ประชุม คณะทำงานแก้ไข 2พ.ร.ป.ที่ใช้เลือกตั้ง เคาะวันยื่นเนื้อหา ปลายธ.ค.64 พบยังมีประเด็นที่เห็นต่าง - ให้ฝ่ายเลขาฯ ทำเนื้อหาเปรียบเทียบก่อนสรุปรวม
นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานคณะทำงานวิปรัฐบาล เพื่อพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่ใช้เลือกตั้ง เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะทำงาน ว่า หลังจากที่พรรคร่วมรัฐบาลมีมติจะร่วมกันเสนอร่างแก้ไข พ.รป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ต่อรัฐสภา แล้ว ล่าสุดได้ขอให้พรรคการเมืองนำร่าง พ.ร.ป.ทั้ง2ฉบับที่แต่ละพรรคยกร่าง มานำเสนอและพิจารณาในรายละเอียดว่ามีประเด็นใดที่เห็นตรงกันและเห็นต่างกัน โดยให้ฝ่ายเลขานุการคณะทำงานเป็นผู้พิจารณาและเปรียบเทียบเนื้อหา ก่อนจะจัดทำเนื้อหาที่เป็นฉบับที่เห็นร่วมกัน เบื้องต้น ได้รับร่าง พ.ร.ป. จากพรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติไทยพัฒนา และ พรรคพลังประชารัฐ แล้ว ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ อยู่ระหว่างการหารือภายในพรรคเพื่อนำเนื้อหาส่งให้คณะทำงาน
นายวิเชียร กล่าวด้วยว่า สำหรับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับฟังความเห็น คณะทำงานได้พิจารณาและเห็นว่ามีประเด็นที่ต้องหารือในรายละเอียด เช่น ข้อกำหนดให้ใช้หมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบเขต เป็นหมายเลขเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคการ, การคำนวณหาส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นต้น อย่างไรก็ดีในการทำเนื้อหาของพรรคร่วมรัฐบาลจะต้องยึดเนื้อหาว่าในนามพรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอเนื้อหา ประเด็นใดบ้าง โดยไม่ได้ยึดเอาเนื้อหาของร่างของ กกต.
นายวิเชียร กล่าวด้วยว่าสำหรับการนัดหมายเพื่อยื่นร่าง พ.ร.ป. ทั้งฉบับต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เบื้องต้นจะยื่นช่วงปลายเดือนธันวาคม 2564 และจะพอดีกับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเสนอร่างแก้ไข พ.ร.ป. ต่อรัฐสภา ช่วงเดือนมกราคม 2565
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะทำงานฯ ซึ่งพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับที่ กกต. รับฟังความเห็น ได้ถกเถียงกันในรายละเอียดและมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ต่อการกำหนดให้ใช้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส.เขตเป็นเบอร์เดียวกับผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามเนื้อหาที่ กกต. เสนอ ในร่างแก้ไข มาตรา 5 ซึ่งแก้ไข มาตรา 12 (4) ที่ระบุในสาระสำคัญ ว่า “ให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว จึงมีสิทธิส่งผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และต้องส่งบัญชีผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ก่อนปิดรับสมัคร ส.ส.เขต โดยต้องกำหนดวันที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีดังกล่าวไม่น้อยกว่า 3 วัน”
เนื่องจากจะเป็นประเด็นที่เกิดปัญหาต่อการสร้างความรับรู้ของประชาชน เพราะการระบุให้ยื่นบัญชี ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ภายหลัง ผู้สมัคร ส.ส.แบบเขต จะทำให้ ผู้สมัครส.ส.เขตไม่ได้หมายเลขทันทีในวันสมัคร เพราะต้องรอหมายเลขจากบัญชีผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อก่อน อีกทั้งหากล็อคให้ใช้หมายเลขเดียวกับพรรคการเมือง อาจทำให้พรรคการเมืองที่ไม่สามารถส่งส.ส.ครบทุกเขต จะทำให้เกิดช่องว่างของหมายเลขบนบัตรเลือกตั้งได้ ทั้งนี้ในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลได้แบ่งความเห็นในเรื่องดังกล่าวเป็น 2 ฝั่ง แต่ทิศทางที่เป็นทางออก คือ จะให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยเสนอเป็นคำแปรญัตติแก้ไข.