"สรรเสริญ" เผยส่ง "ร่างกฎหมายจริยธรรมสื่อ" ให้ "ครม." แล้ว รอพิจารณา
อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ แจงทำร่างกฎหมายจริยธรรมสื่อมวลชน รอบคอบ ยืนยันเนื้อหาเดิม ส่งให้ "ครม." พิจารณารอบที่สามแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประะชุมวุฒิสภา ซึ่งพิจารณาความคืบหน้าในการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งพิจารณา แผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน และ แผนปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ และสังคม ทั้งนี้ ส.ว.ได้ท้วงติงต่อการทำงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ในหลายประเด็น อาทิ การสร้างรัฐบาลดิจิทัล ที่พบว่ามีระยะเวลาของรัฐบาลเหลืออีก 1 ปีเศษ แต่การทำงานของหน่วยงานพบว่าไม่สามารถทำตามแผนได้ตามเป้าหมาย รวมถึงการทำงานของหน่วยงานรัฐที่ทำงานล่าช้า โดยเห็นได้จากการตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม แต่ที่ผ่านมา พบว่ามีการชี้แจงข่าวเท็จ ข่าวปลอมจำนวนน้อยมาก เช่น พบข่าวปลอม 100 เรื่อง แต่การชี้แจงพบมีเพียง 6 เรื่องเท่านั้น เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ว. ตั้งคำถามต่อความคืบหน้าต่อการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หลังจากทราบว่าได้เสนอร่างเนื้อหาให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแล้วโดย พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ชี้แจง ถึงร่าง พ.ร.บ. ว่า กรมประชาสัมพันธ์ ฐานะอนุกรรมการและฝ่ายเลขานุการจัดทำเนื้อหา ได้นำเสนอร่างพ.ร.บ. ให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรอบที่สาม หลังจากที่หน่วยงานได้พิจารณาอย่างรอบคอบ ในสาระสำคัญ ร่างกฎหมายดูแลสื่อไม่ให้มีใครรังแกสื่อมวลชน นอกจากนั้นส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบวิชาชีพได้รับการอบรมผ่านสภาวิชาชีพสื่อมวลชน
พล.ท.สรรเสริญ ชี้แจงด้วยว่าความพยายามยกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่ไม่สัมฤทธิผลเพราะมีความเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เสนอกฎหมาย ที่กังวลว่าสื่อมวลชนควบคุมกันเองจะไม่สามารถทำได้ ขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน กังวลว่าหากมีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมเป็นกรรมการจะขาดความเป็นอิสระ อย่างไรก็ดีรัฐบาลได้พยายามแก้ปัญหาดังกล่าว ผ่านการตั้งอนุกรรมการฯ มีนายมานิจ สุขสมจิต สื่อมวลชนอาวุโส เป็นประธานอนุกรรมการฯ โดยรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในหลายพื้นที่ และเสนอให้ ครม. พิจารณารอบที่หนึ่ง เมื่อวัน 18 ธ.ค.62 และมีมติเห็นชอบ จากนั้นให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนส่งร่างกฎหมายให้กรมประชาสัมพันธ์พิจารณาและจัดทำบทวิเคราะห์ผลกระทบด้านกฎหมาย แต่กรรมการกฤษฎีกาและ ครม. 23 มี.ค.63 และ 29 เม.ย.63 ขอให้นำเรื่องกลับมาเสนอ ครม. อีกครั้ง
“การเสนอเนื้อหาร่างกฎหมายต่อ ครม. ครั้งที่สอง 23 ก.ย. 63 โดย ครม. รับทราบด้วยความกังวล เพราะถูกสื่อมวลชนวิจารณ์การทำงาน หากไม่ดูรายละเอียดให้รอบคอบ อาจถูกมองว่าต้องการออกกฎหมายเพื่อควบคุมสื่อ และอีกทางคือ หากปล่อยให้คุมกันเอง จะทำให้มองว่ารัฐบาลต้องการให้สื่อมวลชนเป็นพวก จากนั้นจึงนำเสนอให้คณะกรรมการประสานงานสภา พิจารณาก่อนส่งให้ ครม. พิจารณา 9 ก.พ.64 และมีข้อสังเกต ก่อนจะส่งให้กรมประชาสัมพันธ์พิจารณา เมื่อ 23 เม.ย.64 โดยหน่วยงานได้นำข้อเสนอแนะ หารือกับอนุกรรมการยกร่าง เห็นว่าผ่านมาหลายรอบ จึงยืนยันกลับไปว่า จะใช้ร่างกฎหมายฉบับเดิม แต่ไม่ติดใจหากสภาผู้แทนราษฎรจะแก้ไข” พล.ท.สรรเสริญ ชี้แจง
พล.ท.สรรเสริญ ชี้แจงด้วยว่า กรมประสัมพันธ์ทำหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการ ครม. แล้ว เพื่อให้นำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.รอบที่สาม โดยยืนยันว่าได้ทำอย่างละเอียดและรอบคอบแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนั้นในงานด้านสารสนเทศ นายประเสริฐ ปิ่มปฐมรัฐ ส.ว.อภิปรายถึงการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ ที่พบว่ามีการยกเลิกการทำสัญญาเพื่อทำโครงการมาแล้วหลายรอบ แต่สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าได้ทำทีโออาร์ฉบับใหม่ ซึ่งตนไม่มั่นใจว่าจะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยตอบสนองอนาคตหรือไม่ ทั้งนี้เห็นว่าควรดำเนินการโดยใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มโดยเชื่อมโยงและต่อยอดจากสาธารณสุข, กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มหลักของประเทศ พร้อมใช้การบริหารจัดการแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม แทนการจัดตั้งศูนย์ทั่วประเทศเพื่อลดภาระของงบประมาณ
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์