“ประวิตร” งัดไม้ตาย ขาย “ประยุทธ์” เบิกทาง พปชร. โกย ส.ส.กทม. 2 โหล
พลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ "พล.อ.ประวิตร" หากไร้ซึ่ง "พล.อ.ประยุทธ์" เดินคู่ขนานกันไป ก็อาจกลายเป็นม้าขาเป๋ ก็เป็นได้ โดยเฉพาะการต่อสู้ในสนาม "กทม."
ยังไม่ทันที่เสียงระฆังเลือกตั้งจะดังขึ้น การขับเคี่ยวในพื้นที่สนามกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็ส่อเค้าระอุ ใกล้ลุกเป็นไฟเสียแล้ว
เมื่อ “พี่ใหญ่ 3 ป.” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ตัดสินใจกระโดดลงมาเล่นในสนามนี้เอง ด้วยการถือธงนำ มุ่งมั่นคว้าชัย โกยที่นั่งส.ส. เมืองหลวงให้ได้มากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อน
จำนวนส.ส.เมืองหลวง ในการเลือกตั้ง มี.ค.2562 ในระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือบัตรเลือกตั้งใบเดียว มีทั้งหมด 30 ที่นั่ง และมีเพียง 3 พรรคการเมืองเท่านั้น ที่สามารถประกาศศักดาได้
โดย “พลังประชารัฐ” กวาดมาได้ 12 ที่นั่ง ขณะที่ “เพื่อไทย” คว้ามาได้ 9 ที่นั่ง และ “อนาคตใหม่” ในขณะนั้น เรียกว่าหักปากกาเซียน ได้ส.ส.มาถึง 9 ที่นั่ง ก่อนที่บางส่วนจะย้ายไปอยู่กับ“ภูมิใจไทย” ส่วนแชมป์เก่าในหลายเขตอย่าง “ประชาธิปัตย์” กลับพลาดท่ากลับบ้านมือเปล่าไม่ได้ส.ส.แม้แต่คนเดียว
มาเที่ยวนี้ พล.อ.ประวิตร ประกาศก้องว่า 12 ส.ส. ที่เคยได้นั้น ถือว่าน้อยไป เลือกตั้งครั้งหน้าอยากได้อีก12 คน หรือพูดง่ายๆ ว่า พปชร. จอง 24 ที่นั่ง หรือ 2 โหล
ปัจจัยความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งก่อนของพลังประชารัฐ นอกจากตัวผู้สมัครบางคนที่มีฐานเสียงในพื้นที่แล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีส่วนช่วยอย่างมาก
แคมเปญ “เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่” ถูกปล่อยออกมาในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งถือว่าได้ผล
โดยที่มาที่ไปของประโยคดังกล่าวเกิดขึ้นจากยุทธศาสตร์ของ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” อดีตรมว.ศึกษาธิการ ที่ดูแลพื้นที่กทม. มาก่อน ก่อนที่ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม จะตกผลึกกลั่นออกมาเป็นประโยคดังกล่าว ที่คนกรุงเห็นกันไปทั่ว
หากบริบทภายในพลังประชารัฐเวลานี้ แตกต่างจากช่วงเวลานั้นเป็นอย่างมาก ความไม่ลงรอยระหว่างแกนนำแต่ละกลุ่มภายในพรรค กำลังเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นไปทุกวัน เมื่อคู่ขัดแย้งแต่ละฝ่าย ต่างไม่ต้องการให้อีกฝ่าย ดำรงสถานะอยู่ในพรรคต่อ
จึงได้เห็นเกมใต้ดิน ปล่อยข่าว คนนั้นคนนี้ หรือกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ เตรียมจะย้ายพรรคบ้าง หรือออกไปตั้งพรรคใหม่บ้าง
เรื่องนี้ พล.อ.ประวิตร รู้ลึกๆ ว่าถ้าปล่อยให้พรรคเดินต่อไปแบบนี้ ย่อมไม่เป็นผลดี แต่ตอนนี้ก็ยังไม่เห็นวิธีการที่จะทำให้คนในพรรคกลับมาจูบปากกันได้
จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่ พล.อ.ประวิตร ลงมาคุมทัพเมืองหลวงเอง เพราะรู้แน่ว่าหากปล่อยให้ใครก็ตามในพรรคมารับผิดชอบ ยิ่งเป็นการตัดกำลังของพรรค
แม้กระทั่ง “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” สายตรงของ พล.อ.ประวิตร เอง ที่มองหาที่ทาง หมายตาจะคุม กทม.ก็เป็นคู่ขัดแย้งของคนในพรรค
ทางออกของ พล.อ.ประวิตร ก็คือเข้ามาดูแล กทม.เอง พร้อมกับงัดความสัมพันธ์ระหว่างน้องเล็ก 3 ป. ขึ้นมาฉายซ้ำ ในโอกาสมอบนโยบายคณะทำงานภาค กทม. ที่มีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. และส.ก. เข้าร่วมเมื่อ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา
“ใครที่บอกว่าผมแตกแยกกับนายกฯ ไม่มีแน่นอน มีสิ่งเดียวที่ทำให้ผมกับนายกฯแตกแยกกันได้คือความตาย 40 กว่าปีผมกับนายกฯ ดูแลกันมาตลอด ยืนยันเป็นหนึ่งเดียวไม่แตกแยก นายกฯ มีหน้าที่บริหารประเทศ ผมมีหน้าที่บริหารพรรค ขอให้ทุกคนขยันลงพื้นที่ให้หนัก ผมจะมาดูกทม.เอง สบายใจได้ ขอให้รักกัน ไม่มีการทะเลาะ ขอให้อยู่ด้วยกัน” พล.อ.ประวิตร ระบุ
สะท้อนชัดว่า พลังประชารัฐภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร หากไร้ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เดินคู่ขนานกันไป ก็อาจกลายเป็นม้าขาเป๋ ก็เป็นได้ โดยเฉพาะการต่อสู้ในสนาม กทม. พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีแฟนคลับเหนียวแน่นระดับหนึ่ง ต่างจาก พล.อ.ประวิตร แบบเทียบกันไม่ได้
ดังนั้น การจะลุยพื้นที่ กทม. ด้วยการชูภาพ “บิ๊กป้อม” และ ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า นำทัพเมืองหลวง อาจไม่ได้กระแสบวก
บทน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า จำเป็นอย่างมาก สำหรับพลังประชารัฐ ที่ต้องควงแขน กอดคอพล.อ.ประยุทธ์ เพื่อใช้เป็นตัวเรียกคะแนนให้กับพรรค
ทว่า กลุ่มก๊วนขาใหญ่จะมองเช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร หรือไม่ เป็นอีกเงื่อนไข ที่นำมาซึ่งความขัดแย้งได้ทุกเมื่อ