“ฝ่ายค้าน” ยก 9 ข้อถล่ม รบ.บริหารเหลว-จับตาเลือกตั้งใหม่ หวั่นสืบทอดอำนาจ
เปิดแถลงการณ์ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ยก 9 ข้อถล่ม “รัฐบาล” ปัญหาภาวะความเป็นผู้นำของ “บิ๊กตู่” ปัญหาการคอร์รัปชั่น รับมือโควิด-19 เหลว บริหารจัดการงบผิดพลาด คุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน แก้เศรษฐกิจ-การศึกษาไม่ได้ จับตาเลือกตั้งใหม่ หวั่นเอาเปรียบการเมือง สืบทอดอำนาจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2564 ที่โรงแรมเอสซี ปาร์ค เลียบทางด่วนรามอินทรา พรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคพลังปวงชนไทย จัดงานเลี้ยงกระชับมิตรพรรคร่วมฝ่ายค้าน ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ฝ่ายค้านรวมใจ สรรค์สร้างชีวิตใหม่เพื่อประชาชน” โดยมีการแถลงข่าวถึงผลงานในรอบเกือบ 3 ปีของฝ่ายค้าน รวมถึงสรุปผลการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล 2 ครั้ง และมีการยื่นองค์กรอิสระ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาล
ภายหลังการประชุม พรรคร่วมฝ่ายค้านได้แถลงข่าว ในช่วงต้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อ่านแถลงการณ์พรรคร่วมฝ่ายค้าน เรื่อง การทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน และความล้มเหลวของรัฐบาลในรอบปี 2564 ระบุว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และพรรคพลังปวงชนไทย ได้ร่วมกันทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลตลอดระยะเวลาร่วม 3 ปีที่ผ่านมา โดยอาศัยกลไกในระบบรัฐสภาทั้งการตั้งกระทู้ การยื่นญัตติ ร่วมกันอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งสิ้น 3 ครั้ง ได้ยื่นคำร้องต่อองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญหลายเรื่อง เรื่องสำคัญๆหลายเรื่องถูกตีตกโดยองค์กรเหล่านั้นอย่างน่าเสียดาย อาทิ เรื่องการถวายสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การขัดกันแห่งผลประโยชน์ใช้บ้านพักอาศัยเป็นสวัสดิการของทางราชการในกรมทหารแม้ว่าจะเกษียณอายุราชการมาแล้ว การมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เป็นต้น นอกจากนี้แต่ละพรรคยังได้ทำหน้าที่ตนในการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับรัฐบาลมาโดยตลอด
จากการประมวลสรุปผลการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในรอบปี 2564 พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นร่วมกันว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลมีความผิดพลาดล้มเหลวในหลายด้าน ได้แก่
1. ภาวะความเป็นผู้นำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความบกพร่องติดกับดักการใช้อำนาจจนเคยชิน ทำให้การตัดสินใจในหลายเรื่องขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบ ดังเช่น การพยายามใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลด้วยการให้อำนาจเจ้าของค่ายมือถือระงับการใช้อินเทอร์เน็ตของบุคคลจนถูกประชาชนฟ้องคดีต่อศาล สุดท้ายก็มากลับลำยกเลิกคำสั่งดังกล่าว อีกกรณีหนึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องจากเมื่อครั้งที่ตนเองเป็นหัวหน้า คสช. ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งปิดเหมืองทองอัคราจนถูกฟ้องคดีต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เมื่อสถานการณ์เพียงพล้ำจนอาจต้องจ่ายเงินให้บริษัทนับหมื่นล้านสุดท้ายก็ยอมอนุญาตให้เปิดเหมืองและเพิ่มพื้นที่อีกจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ใช้งบประมาณแผ่นดินไปต่อสู้คดีนี้อีกหลายร้อยล้านบาท สิ่งนี้คือความบกพร่องในภาวะผู้นำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เห็นได้ชัดเจน
2. ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น จะเห็นได้ว่าผลการวิจัยของหลายองค์กรพบว่าในสมัยรัฐบาลนี้มีการทุจริตคอรัปชั่นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่กลับพบว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบทั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกลับไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบการทุจริตให้เห็นเป็นรูปธรรมได้แม้แต่เรื่องเดียว โดยที่เป็นข่าวครึกโครมคือ กรณีการจัดซื้อถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า (กระทรวงพาณิชย์) ซึ่งรัฐเสียหายนับแสนล้านบาท และมีข้อกล่าวหาว่ามีนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แต่เรื่องกลับเงียบหาย รวมถึงการยื่นตรวจสอบรัฐมนตรีจากกรณีการผลักดันการซื้อขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรมอำเภอจะนะ ส่อเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และการยื่นตรวจสอบข้อพิพาทสัมปทานดาวเทียมไทยคม นอกจากนี้ยังมีเรื่อง การทุจริตจัดซื้อชุดตรวจโควิด-19 ATK การทุจริตจัดซื้อวัคซีน การทุจริตการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพซึ่งมีหลายเรื่องการทุจริตในการประมูลก่อสร้างเตาเผาขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร เป็นต้น เรื่องการทุจริตเหล่านี้พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบแล้ว อาทิ การบุกรุกที่ดินการรถไฟเขากระโดง เนื้อที่ 5,000 ไร่เศษ หรือการประมูลขายยางโล๊ะสต๊อก 1.04 แสนตัน เป็นต้น บางเรื่องก็เสนอข้อมูลผ่านสื่อมวลชนและการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ไม่เคยทราบถึงความคืบหน้าในการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลย
3. ความล้มเหลวในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลประเมินการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่ำกว่าความเป็นจริงและขาดองค์ความรู้ จึงขาดมาตรการเตรียมความพร้อมทำให้ตัดสินใจผิดพลาดจนทำให้การระบาดขยายวงกว้างจนระบบสาธารณสุขมีไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยได้ ถึงขนาดต้องให้ผู้ป่วยรักษาตัวเองที่บ้าน บางคนทนไม่ไหวถึงกับนอนตายนอกบ้านหลายรายขณะที่การจัดการเรื่องวัคซีนก็มีความผิดพลาดไม่ทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดจนมีผู้ติดเชื้อเกินกว่า 20,000 คนต่อวัน จนปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อสะสมนับแต่เมษายน 2564 กว่า 2 ล้านคน และผู้เสียชีวิตกว่า 20,000 คน ขณะที่มาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคก็ไม่แน่นอน กลับไปกลับมา ส่งผลให้ประชาชนต้องตกงานจำนวนมาก ธุรกิจต้องปิดกิจการ ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ตกต่ำอยู่แล้วต้องทรุดตัวลงต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปี
4. การใช้และบริหารงบประมาณที่ผิดพลาด ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่รัฐบาลต้องกู้เงินจำนวนมากแต่เงินที่ได้มากลับไม่สามารถจัดสรรให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีการใช้งบประมาณไปเพื่อการหาเสียงจำนวนมาก แทนที่จะใช้งบประมาณเพื่อรองรับระบบสาธารณสุขประเทศ กลับใช้เพื่อการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทั้งที่ไม่มีสถานการณ์ของการสู้รบใดๆ รัฐบาลนี้ถือเป็นรัฐบาลที่กู้เงินสูงสุดกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา แต่กลับไม่สามารถนำเม็ดเงินมาบริหารจัดการให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้ และไม่สามารถทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้นได้ ขณะเดียวกันกลับพบว่ามีข่าวทุจริตคอรัปชั่นไปทั่ว มีการกู้เงินจนสุดเพดาน ถึงขนาดที่ต้องมีการปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะของประเทศ
5. ความล้มเหลวในการปฏิรูปการเมือง ทำลายระบบนิติรัฐนิติธรรม การปฏิรูปการเมืองที่พลเอกประยุทธ์กล่าวอ้าง เป็นเพียงลมปาก ปราศจากความคืบหน้าให้เห็นเป็นรูปธรรม ในทางกลับกัน พฤติกรรมของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์กลับทำในทิศทางตรงกันข้าม ทำให้การเมืองถอยหลัง ทั้งความพยายามทุกทางในการสืบทอดอำนาจของตนเอง ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการทำลายระบบรัฐสภาด้วยการทำลายพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม มีการซื้อตัวนักการเมือง มีการกระทำการให้มีการยุบพรรค ย้ายพรรค ด้วยวิธีการที่ไม่เป็นตามวิธีการประชาธิปไตย ทำให้ระบบรัฐสภาถูกวิพากษ์วิจารณ์ เป็นรอยด่างว่าเป็นเพียงเวทีสำหรับนักการเมืองเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดคือการทำลายการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
6. รัฐบาลคุกคามและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน มุ่งใช้กฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้ผันตัวเองจากหัวหน้า คสช. ซึ่งมาจากการยึดอำนาจมาสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญที่สร้างความได้เปรียบให้ตนเองในการเลือกตั้ง แม้สถานการณ์ของประเทศจะมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย โดยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลไกในระบบกฎหมายของประเทศโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ในส่วนของรัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีเองก็ขาดจิตสำนึกประชาธิปไตย ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นต่างๆ เมื่อมีการแสดงออกทางการเมืองหรือการชุมนุมจึงมักเห็นภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังมีเจตนาในการบิดเบือนการใช้กฏหมายเกี่ยวกับความมั่นคง มาดำเนินคดีกับประชาชนที่ชุมนุมอย่างสันติ ทำให้เกิดการดำเนินคดีกับประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม จนมีจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่รัฐบาลเองมีปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสารและใช้กลไกของกระทรวงดีอีเอส เพื่อมุ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนบนข้ออ้างของการต่อต้านข่าวปลอม
7. ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ผู้นำหรือตัวนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ แต่กลับไม่มีความเข้าใจถึงปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ประเทศยากจน ประชาชนเจ็บป่วยโดยถ้วนหน้า เศรษฐกิจของประเทศไทยยุคพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากเสาหลักของเอเชียกลายเป็นเสาที่หักล้มลงจากบริหารงานของรัฐบาล อุ้มชูคนรวยซึ่งเป็นส่วนน้อยของประชาชนในประเทศ บดขยี้คนจนที่เป็นส่วนมากของประชาชนในประเทศ พาคนไทยเข้าสู่การเสื่อมถอยและสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ทำลายสถิติการกู้เงิน ทำลายสถิติการขาดดุลงบประมาณ ทำลายสถิติการสร้างคนจน ทำลายสถิติหนี้สาธารณะหนี้ครัวเรือน เกิดปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคการเกษตร หยุดชะงักพร้อมกัน การจัดเก็บรายได้ของรัฐต่ำกว่าประมาณการเกือบทุกปี งบประมาณปี 2565 ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน เป็นงบประมาณที่ผิดที่ ผิดทิศ ผิดทาง และผิดเวลา การใช้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 2 ฉบับ มีปัญหาทั้งในมิติของมาตรการและความล่าช้าในการเบิกจ่าย กลายเป็นการแจกหว่านแหไร้ทิศทาง ไม่สามารถประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติได้ จนทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยเสียหายเป็นอันดับต้นๆของโลก และยังเป็นเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าอันดับท้ายๆของโลก อีกทั้งรัฐบาลยังไร้ทิศทางว่าจะสามารถฟื้นเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างไร
8. ความล้มเหลวด้านการปฏิรูปการศึกษา 7 ปีที่ผ่านมา เด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษา 1.3 ล้านคน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาพุ่งสูง เด็กยากจนถูกปล่อยให้ไร้โอกาส โดยรัฐไร้การเหลียวแล ยิ่งในช่วงโควิด-19 เด็กจบใหม่ไร้อนาคต ไร้ฝัน ไร้งาน คนตกงานกว่า 9 แสนคน การวัดผลคะแนนและการประเมินของเด็กไทยในระดับโลกตกต่ำทุกด้านทั้ง PISA และล่าสุดผลสอบด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษของเด็กไทยปี 2564 ยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน
9. ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมร้ายแรง จะเห็นได้ว่าปัญหายาเสพติดภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้มีความรุนแรงและแพร่ระบาดไปทั่ว มีการขนส่งยาเสพติดล็อตใหญ่ๆ จำนวนมาก ทั้งขนส่งเข้ามายังประเทศไทยและส่งออกไปยังต่างประเทศจนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ขณะที่ข่าวการจับยาเสพติดมีเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่การดำเนินการสอบสวนกลับไม่สามารถเอาผิดได้ เช่นเดียวกับปัญหาอาชญากรรมที่มีมากขึ้นรายวัน ประชาชนไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
โดยข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนของความผิดพลาด ล้มเหลว และส่อทุจริตของรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้นต่อไปทั้งในเรื่องความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ความล้มเหลวในการปฏิรูปประเทศ รวมถึงพฤติกรรมการบริหารประเทศแบบลุแก่อำนาจ เอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง และเนื่องจากระยะเวลานี้น่าจะเป็นช่วงสุดท้ายของรัฐบาลนี้ ใกล้ที่จะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป เราจะจับตาและให้ความสำคัญต่อการเอาเปรียบทางการเมือง ทั้งในทางกฎหมายและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ เพื่อการสืบทอดอำนาจของตนเองต่อไปอีก