"รัฐบาล"ปลื้ม "ไทย" มั่นคงทางสุขภาพ อันดับ5ของโลก นำ "อังกฤษ-เยอรมนี"
"รองโฆษกรัฐบาล" เผย ไทย ติดอันดับ5โลก มีความมั่นคงทางสุขภาพ นำหน้า "อังกฤษ-เยอรมนี" ขึ้นอันดับ1 เอเชีย ในการรับมือระบาดโรคติดต่อ ประเมินโดย ม.จอนส์ ฮอปกินส์ 37 ตัวชี้วัด "นายกฯ" ขอบคุณบุคลากรด่านหน้า สะท้อนนโยบายสธ.เป็นที่ยอมรับ
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ล่าสุดประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพ (Global Health Security Index : GHS) อันดับที่ 5 ของโลก จากทั้งหมด 195 ประเทศ เป็นอันดับที่ 1 ของเอเซีย จากการประเมินความพร้อมของประเทศในการรับมือการแพร่ระบาดโรคติดต่อปี 2021 โดยมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ ( Johns Hopkins Center for Health Security) สหรัฐอเมริกา มีคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก อาทิ สถาบัน Nuclear Threat Initiative (NTI) ร่วมด้วย
โดยการประเมินประกอบด้วย 37 ตัวชี้วัด ครอบคลุมประเด็น อาทิ การป้องกันการแพร่ระบาดการตรวจหาเชื้อและติดตามดูแลผู้ป่วย การรับมือต่อการแพร่ระบาด ระบบสาธารณสุข การปฏิบัติตามมาตรฐานสากล การจัดการกับความเสี่ยงด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เป็นต้น
ประเทศที่อยู่ใน 10 อันดับแรก คือ
- สหรัฐอเมริกา
- ออสเตรเลีย
- ฟินแลนด์
- แคนาดา
- ไทย
- สโลวาเนีย
- สหราชอาณาจักร
- เยอรมนี
- เกาหลีใต้
- สวีเดน
น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ฝากขอบคุณ บุคลากรด่านหน้า ภาคส่วนต่างๆ และคนไทยที่ร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ทำให้ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมในเรื่องการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ ในปี 2019 ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 6 ของโลก สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของนโยบายด้านสาธารณสุขและการจัดการกับการแพร่ของโรคระบาดที่ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับระดับสากล และเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ปัจจุบันภาพรวมสถานการณ์โควิด – 19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลง แต่นายกรัฐมนตรียังเน้นการเฝ้าระวังโดยตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ตามกลุ่มเสี่ยง สถานที่เสี่ยง กลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศทุกราย สุ่มตรวจผู้ติดเชื้อในลักษณะคลัสเตอร์ รวมทั้งส่งตัวอย่างผู้ป่วยที่อาการต้องสงสัย เพื่อตรวจหาสายพันธุ์โอมิครอน ทันทีด้วย เพื่อควบคุมไวรัสให้อยู่ในวงจำกัด ขณะเดียวกัน ยังกำชับเรื่องการสวมหน้ากากของชาวต่างชาติ ทั้งกรณี Test & Go และ Sandboxด้วย
รองโฆษกรัฐบาล ยังได้กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลทางสื่อออนไลน์ว่า พบหน้ากากอนามัยทางการแพทย์หลายยี่ห้อไม่ผ่านเกณฑ์ประสิทธิภาพ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้ชี้แจงว่า หน้ากากอนามัยจัดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ที่ต้องได้รับอนุญาตจาก อย. โดยผ่านการทดสอบในห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ISO 17025 และผลการกรองอนุภาค (PFE) เพื่อใช้ป้องกันเชื้อโรค ซึ่งต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานมากกว่า 95% ตามที่มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) กำหนด
สำหรับค่าผลต่างความดันนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคจากการสวมใส่ เนื่องจากเป็นค่าที่แสดงถึงความสบายในการสวมใส่เท่านั้น โดยพบว่าอยู่ในช่วง 4-6 mm H2O/cm2 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้