"สมาคมสสส." ชี้ "10เรื่องถดถอย" ด้านสิทธิสรีภาพ "ประชาชน" รอบปี64
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เผยแพร่รายงานด้านสิทธิ เสรีภาพประชาชน ประจำปี64 พบ7เรื่องก้าวหน้า แต่มี 10 เรื่องถดถอย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564 เนื่องในวันที่ 10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญไทย ใน 7 เรื่องเด่น และ 10 เรื่องถดถอย
โดยมีสาระสำคัญคือ 10 เรื่องเด่น ที่ก้าวหน้า ได้แก่ 1.ความตื่นตัวของเยาวชนในการปฏิรูปการเมือง เห็นได้จากการชุมนุมเพื่อเรียกร้อง และแสดงความเห็นต่อระบบการศึกษา การเมือง รวมถึงการขับเคลื่อนในประเด็นสังคมอื่นๆ
2. การรับรู้และตระหนักต่อความหลากหลายทางเพศ เห็นได้จากสถาบันอุดมศึกษาและภาคธุรกิจยอมรับในบุคคลข้ามเพศมากขึ้น
3. การส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
4. ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่เข้าสู่ชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
5.บทบาทการปกป้องสิทธิมนุษยชนในสื่อใหม่ออนไลน์ และเพิ่มพื้นที่ข่าวให้ภาคประชาชน
6. การเติบโตในบทบาทขององค์กรภาคประชาชนต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในช่วงวิกฤติโควิด-19
และ 7. ความสำเร็จของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ที่ฟ้องศาลปกครองถอนเอกสารสิทธิครอบครองที่ดินโดยไม่ชอบ
ขณะที่ 10 เรื่องถดถอยในรอบปี 2564 ได้แก่ 1. การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งพบว่ามีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษเพื่อควบคุมการชุมนุม และมีการจับกุมดำเนินคดีต่อการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง โดยมีสถิติจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า ตั้งแต่สิงหาคม - ตุลาคม 2564 พบมีผู้ที่ถูกดำเนินคดี 753 ราย และยังพบว่ามีผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตเป็นเยาวชนด้วย
2. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในสาระสำคัญที่เป็นประชาธิปไตย
3.ปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม ที่ล่าช้า
4. สิทธิ เสรีภาพของประชาชนถูกลดทอนคุณค่าจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีคดีล้มล้างการปกครอง และ สิทธิสมรสเท่าเทียมในเพศเดียวกัน
5. การซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยในคดีค้ายาเสพติดของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผู้กำกับโจ้ อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรนครสวรรค์ เพราะความล่าช้าของร่างกฎหมาย
6. การละเมิดสิทธิชุมชน กรณีกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน เมื่อมกราคม 2564
7. ความไร้ประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการลักลอบขนแรงงานข้ามชาติ
8. ความรุนแรงในครอบครัว ที่เพิ่มมากขึ้นจากปี 2563 โดยมีสถิติจากศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พบว่ามีความรุนแรงในครอบครัว มากถึง 2,177 ราย โดยรูปแบบของความรุนแรงคือ ทางร่างกาย และทางจิตใจ
9. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ.... ที่ครม.อนุมัติหลักการ เมื่อ 23กุมภาพันธ์ 64 ขัดต่อหลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ที่ห้ามจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล
และ 10. รัฐบาลไทยไม่ยกระดับสิทธิมนุษยชนให้เป็นไปตามหลักการสากลตามพันธะสัญญากับนานาชาติ