ดุลยภาพใหม่ "ไทย-อาเซียน" รับ สหรัฐฯทัวร์ คว่ำบาตรโอลิมปิกจีน
การเผชิญหน้าของ "สหรัฐ-จีน" ในภูมิภาคนี้ คือบททดสอบ "อาเซียน" ว่าหลักการประคับประคอง ยึดฉันทามติ หรือความเป็นแกนกลาง และกฎไม่แทรกแซงเรื่องภายใน ยังใช้ได้ผลหรือไม่
การทำ “อาเซียน” และ “ไทย” ให้เป็น “ดุลยภาพใหม่” คือสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เคยพูดคุยที่ “สิงคโปร์” เพื่อรับมือการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจระหว่าง “สหรัฐ-จีน” สร้างความสมดุล ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของ 10 ประเทศสมาชิก
กว่า 50 ปีของ “อาเซียน” เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2510 ที่ กรุงเทพฯ โดยมี 5 ประเทศหลักที่ร่วมกันก่อตั้ง คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ สิงคโปร์ ก่อนจะดึง เวียดนาม ลาว กัมพูชา บรูไน เมียนมา เข้าร่วมจนครบ 10 ประเทศในภายหลัง
“อาเซียน” มีความเป็นปึกแผ่นมากที่สุดในช่วงที่ร่วมกันต่อต้าน “คอมมิวนิสต์” แต่หลังจากนั้นกระจัดกระจาย “เสียงแตก” อันเกิดจากปัญหาข้อพิพาทดินแดน เขตการค้าทางด้านเสรีระหว่างประเทศสมาชิก แต่หลักการประคับประคอง การยึดฉันทามติ หรือความเป็นแกนกลาง และกฎไม่แทรกแซงเรื่องภายใน ทำให้ 10 ประเทศเกาะกลุ่มกันได้จนถึงทุกวันนี้
การเผชิญหน้าของ“สหรัฐ-จีน”ในภูมิภาคนี้ กำลังเป็นบททดสอบ“อาเซียน”ว่า หลักการดังกล่าวยังใช้ได้ผลหรือไม่ กับการเข้ามามีบทบาทของสองประเทศมหาอำนาจในลักษณ์แสวงหาความร่วมมือกับประเทศสมาชิกแบบทวิภาคี เจาะจงเป็นรายประเทศที่กระทบต่อสมดุล
เช่นเดียวกับแผนการเยือน 3 ประเทศแกนหลักของ “อาเซียน” อย่าง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ไทย ของ “แอนโทนี บลิงเคน” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ในระหว่าง 13 -16 ธ.ค.นี้ โดยเป้าหมายแนะนำตัวอย่างเป็นทางการ เพราะบางประเทศก็กำลังจะมีการเลือกตั้ง ในขณะที่บางประเทศก็อยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่าน
รวมถึงการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ กับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ถูกมองว่าใกล้ชิดกับจีน เพราะหลังจากที่มีการเชิญประเทศไปร่วมประชุมประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย มีข้อสังเกตว่าทำให้เกิดความแตกแยกเพิ่มขึ้น การเดินทางมาของ “รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ” หวังแก้ปัญหาและปรับความเข้าใจ
ขณะที่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย แม้ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมครั้งนั้น อีกทั้งยังมีข้อพิพาททะเลจีนใต้ กับ จีน แต่ทั้งสองประเทศก็ให้ความสนใจในศักยภาพการทางด้านการค้าของจีนที่มีพลังมหาศาลไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประเทศอื่นๆ และการเป็นประเทศมุสลิม เปรียบเหมือนช่องว่างปิดกันสหรัฐ อยู่กลายๆ
ส่วน “ไทย” ก็ยังอยู่ระหว่างกึ่งๆ กลาง ๆ แต่เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางทหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ที่สหรัฐให้น้ำหนักและความสำคัญเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการอาศัยไทย เป็นตัวเชื่อมเข้าไปในประเทศเมียนมา หวังขับเคลื่อนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
การ “ทัวร์” 3 ประเทศหลัก ที่มีสถานะเป็นผู้ก่อตั้งอาเซียน ของ “รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ” เพื่อซาวเสียงว่าประเทศในภูมิภาคนี้คิดเห็นเป็นอย่างไร
รวมถึงการหาแนวทางโน้มน้าวดึงประเทศต่างๆ เหล่านี้เข้ามาร่วมปิดล้อม ถ่วงดุลจีน โดยเฉพาะการคว่ำบาตรการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง ในปีหน้านี้
โดยทั้ง อินโดนีเซีย มาเลเซีย คงได้รับสัญญาณมาก่อนหน้านั้นแล้ว เช่นเดียวกับ “ไทย” ภายหลังการมาเยือนของ “เดวิด เอส โคเฮ” รองผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลาง สหรัฐอเมริกา หรือ “ซีไอเอ” เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล ในห้วงที่ผ่านมา
ก็เป็นเรื่องน่าคิดว่า หลังการซาวเสียงของ “รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ” ทั้ง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย จะมีจุดยืนไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ เพราะการสร้าง“ดุลยภาพใหม่”ให้ “อาเซียน”เป็นพื้นที่ตรงกลางของสองขั้วมหาอำนาจ ในสถานการณ์ที่ถูกบังคับให้เลือกข้าง จำเป็นต้องอาศัยความเป็น“เอกภาพ”