"ไทยสร้างไทย" ผุดนโยบาย "รถเก่า" ใช้น้ำมัน แลก รถ "EV"
"ศิธา" เผย "ไทยสร้างไทย" ดัน นโยบาย ใช้ "รถยนต์ EV" ตั้งกองทุน หนุน เงินทุนให้ปชช. จูงใจ ภาษี0% 3ปี "เทพฤทธิ์" ระบุ ใช้รถเก่า แลก รถใหม่ หวังคนไทยเข้าถึงมากขึ้น
น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้อำนวยการคณะกรรมการอำนวยการและพัฒนาพรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยว่า อนาคตอันใกล้ ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการใช้รถยนต์ให้สอดคล้องกับแนวทางความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะการมุ่งลดภาวะโลกร้อน มลพิษทางอากาศ เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน พรรคไทยสร้างไทย จึงมีนโยบายที่จะผลักดัน การใช้รถไฟฟ้า (EV)ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศ
โดยพรรคไทยสร้างไทย จะสนับสนุนให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่รถยนต์ EV เป็นรถยนต์หลักเพิ่มขึ้น 1 ล้านคัน หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คนภายในปี 2567 และพร้อมสนับสนุนให้ไทยเป็นประเทศที่มีจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2 ล้านคัน คิดเป็นร้อยละ10 ของจักรยานยนต์ ภายในปี 2567 ด้วยการลดหย่อนภาษี 0% เป็นเวลา 3 ปี เช่น ภาษีอากรนําเข้า ภาษีสรรพสามิต และภาษีมหาดไทย พร้อมต้ังกองทุน เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้ประชาชนแลกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ราคาไม่เกิน 1 แสนบาท
ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าระดับครอบครัว(FAMILYCAR) ที่ผลิตจากต่างประเทศ ได้รับการอุดหนุนสูงสุดไม่เกิน 150,000 บาท ส่วนรถที่ผลิตภายในประเทศไทย ได้รับการอุดหนุนสูงสุดไม่เกิน250,000 บาท ส่วนรถจักรยานยนต์ ที่ผลิตจากต่างประเทศ ได้รับการอุดหนุนสูงสุด 25,000 บาท ส่วนรถที่ผลิตภายในประเทศ ได้รับการอุดหนุนสูงสุดไม่เกิน 35,000 บาท
นอกจากนี้ ยังเพิ่มมาตรการรับสิทธิ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 2 ปี รวมเป็น 10 ปี โดยให้กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทําข้อตกลงร่วมกับมหาวิทยาลัยของไทย เพื่อสร้างหลักสูตรระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า และจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมกับสนับสนุนวีซ่าและใบอนุญาติทํางานให้กับผู้ชํานาญการ ด้านรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับนักวิชาการ และแรงงานไทย รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมผลิตรถยนต์และจักรยายนต์ไฟฟ้า ที่มีการลงทุนด้านการรีไซเคิลรถยนต์และซากรถยนต์ เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศรวมถึงภาวะโลกร้อน
ด้านนายเทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรม และข้อมูล กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลสถานีชาร์จไฟของไทยมีเพียง 1,818 สถานีทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศเยอรมนี ที่มีพื้นที่น้อยกว่าไทย แต่มีสถานีชาร์จไฟถึง 70,000 สถานีทั่วประเทศ ดังนั้นพรรคไทยสร้างไทย จึงเห็นว่าประเทศไทยสามารถเพิ่มสถานีชารจ์ ไฟเป็น 46,000 สถานีภายในปี 2567, และ 70,000 สถานีภายในปี 2569
เนื่องจากมีสถานที่รัฐ ทั้งสถานีตำรวจกว่า 1,400 แห่ง สำนักอําเภอและสํานักงานเขต 878 อําเภอ และ 50 เขต ,โรงเรียนสังกัด สพฐ. - 2,456 แห่ง มหาวิทยาลัยกว่า 155 แห่ง รวมถึงสถานที่เอกชน อย่าง ปั๊มนํ้ามันทั่วประเทศอีกประมาณ 30,000 แห่ง ร้านสะดวกซื้อจำนวน10,988 แห่ง ซึ่งสามารถลดการนําเข้านํ้ามันดิบได้ถึง 155.65 ล้านลิตร/วัน สร้างรายได้ให้รัฐผ่านการไฟฟ้ากว่า 76,000 ล้านบาทต่อปีจากจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า 1 ล้านคัน
นายเทพฤทธิ์ ระบุว่าจากข้อมูลปัจจุบันจำนวนประเภทรถไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยปี 2563 พบว่ามีรถยนต์ไฟฟ้าเพียง 2,202 คัน เมื่อรวมกับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และรถขนส่งสาธารณะไฟฟ้ามีเพียง 5,685 คัน ต่างจากรถรถยนต์ที่ใช้น้ำมันที่มีกว่า 10 ล้านคัน รวมกับซากรถยนต์อายุ 20 ปีขึ้นไป อีกกว่า 5 ล้านคัน และรถจักรยานยนต์น้ำมัน อีกประมาณ 21 ล้านคัน สะท้อนให้เห็นว่ารถยนต์ และรถจักยานยนต์ ที่ใช้ไฟฟ้าในไทยยังน้อยมาก
พรรคไทยสร้างไทย จึงมีนโยบายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ประจำครัวเรือน เพื่อปรับเปลี่ยนฐานจากรถยนต์น้ำมันให้เป็นรถไฟฟ้า EV ด้วยแลกรถยนต์ และรถจักรยานยนต์น้ำมันคันเก่า ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ ลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ และคนไทยจะสามารถเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึง สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนในการเดินทาง ทําให้คนไทยมีเงินเหลือในกระเป๋าเพิ่มขึ้น