“ธรรมนัส”กลางความขัดแย้ง “ไม่ได้แย่งความรักจากใคร”
“ผมไม่เคยคิดเรื่องพวกนี้ (มีส่วนทำให้ความสัมพันธ์3 ป.แตกแยก) ผมถือว่าเข้ามาทำงานการเมือง ผมไม่เอาตัวเองที่ตั้ง ชีวิตผมไม่เคยเรียกร้องอะไรจาก พล.อ.ประวิตร ไม่ได้แย่งความรักจากใคร"
ชื่อของ “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อยู่ใจกลางความขัดแย้งมาหลายเดือน หลังตกเป็นข่าวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม และอยู่ในความขัดแย้งของ 3 ป. รวมทั้งการทำหน้าที่เลขาฯ พปชร.ที่ยังต้องนำทัพสู้ศึกเลือกตั้ง
รายการ “คม ชัด ลึก” โดย วราวิทย์ ฉิมมณี ผู้ดำเนินรายการ ได้เปิดใจ “ร.อ.ธรรมนัส” พูดคุยถึงปมร้าวและก้าวต่อไปของพรรคพลังประชารัฐ รวมทั้งการ “สู้ศึก..เลือกตั้งภาคใต้ เปิดยุทธการชิงปลายด้ามขวานทอง”
ร.อ.ธรรมนัส เปิดฉากเล่า ถึงแนวทางสรรหาผู้สมัครของเขา ที่มักจะติดต่อตระกูลการเมือง เพื่อคัดสรรผู้มาลงรับเลือกตั้ง จะเรียกว่า “บ้านใหญ่โมเดล” ได้หรือไม่ว่า ตัวผมเองมาจากการเมืองท้องถิ่น ที่พะเยา บ้านใหญ่แต่ละจังหวัด มีฐานการเมืองที่เป็นรากเหง้าการเมืองสนามใหญ่ หากมีการเมืองท้องถิ่นแน่น การเลือกตั้งสนามใหญ่ย่อมไม่ยาก
ต้องยอมรับว่า การเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ส.ส.ภาคใต้ของพรรคพลังประชารัฐ มาจากกระแสของท่านนายกฯ จริง แต่ที่เดินทุกวันนี้ เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่า บ้านเมืองมีปัญหาหลายอย่าง คนไทยโดยฐานราก สาหัสมาก ดังนั้นสิ่งที่ต้องผสมผสานมาเป็นกลยุทธ์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป คงต้องขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง
ดังนั้นแนวทางหรือกลยุทธในการนำมาสู่ชนะเลือกตั้ง การเมืองท้องถิ่นสำคัญอย่างยิ่ง ตอนนี้สังคมไปไกล โลกเปลี่ยนไปเยอะ ต้องยึดฐานการเมืองระดับท้องถิ่นให้มันแน่น นั่นคือสิ่งที่คิดแล้ว สำคัญที่ต้องเดินต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากฐานการเมืองแน่น ยังจำเป็นต้องพึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกหรือไม่นั้น ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า “ผมตัดสินใจด้วยตัวเองไม่ได้เด็ดขาด ต้องฟังเสียงคนส่วนใหญ่ในพรรค รวมทั้งเสียง ส.ส. ที่ถือเป็นตัวแทน ต้องฟังเสียงเขา แต่ละพื้นที่ จังหวัด บริบทไม่เหมือนกัน การหาเสียงทางใต้ เหนือ อีสาน กลาง ไม่เหมือนกัน ทุกสิ่งทุกอย่างต้องนั่งหารือกัน”
ร.อ.ธรรมนัส ตอบคำถามถึงความสัมพันธ์กับ พล.อ.ประยุทธ์ หลังจากมีกระแสข่าวขัดแย้งกันว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างท่านนายกฯ กับผม เรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันตลอด แต่ความเห็นต่าง ที่ผมสะท้อนให้เห็นคือว่า ส.ส. มีความรู้สึกอย่างไร อาจกระทบกระเทือนหลายท่าน ก็เป็นแบบที่เกิดขึ้น"
ส่วนกรณีที่ถูกมองได้ว่ามีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ของพี่น้อง 3 ป. ต้องเกิดรอยร้าวนั้น “ผมไม่เคยคิดเรื่องพวกนี้ ผมถือว่าเข้ามาทำงานการเมือง ผมไม่เอาตัวเองที่ตั้ง ชีวิตผมไม่เคยเรียกร้องอะไรจาก พล.อ.ประวิตร ไม่ได้แย่งความรักจากใคร พล.อ.ประวิตร จะเน้นกับผมเสมอว่า หน้าที่การบริหารเป็นหน้าที่ของรัฐบาล คือท่านนายกฯบริหารบ้านเมือง ส่วนหน้าที่ในพรรคเป็นหน้าที่ของหัวหน้า เลขาฯ และกรรมการบริหารพรรค”
เมื่อถามถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งครั้งหน้ายังเป็นชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ คนเดียวหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า “การที่จะหาแคนดิเดตนายกฯ หัวหน้าพรรคต้องการให้พรรคพลังประชารัฐ เป็นสถาบันการเมือง การตัดสินใจอยู่ที่หัวหน้าพรรค เราให้ความเคารพรักกับหัวหน้าพรรค เราเชื่อมั่นในตัวหัวหน้าพรรค”
ร.อ.ธรรมนัส ยังตอบคำถามถึงความสัมพันธ์กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “ผมมาจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย เราปฏิเสธความจริงไม่ได้ คุณทักษิณคืออดีตนายกฯ ที่อย่าปฏิเสธสังคมว่า คนทางอีสานและเหนือยังให้ความนิยม ถือว่าเราต้องศึกษาว่าเพราะอะไร คนเหนือตอนบน กับอีสาน ถึงให้ความนิยมในตัวท่านสูง สิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องศึกษา เราจะต้องชนะจุดนั้นให้ได้
ขณะเดียวกัน ร.อ.ธรรมนัส ตั้งเป้า ส.ส.เขต ในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่าพรรคพลังประชารัฐ จะได้ส.ส.มากกว่าเดิม “คราวที่แล้วเราได้ 97 คน เราต้องไม่น้อยกว่าเดิม เป้าเราต้องสูงกว่านั้น ครั้งต่อไปผมมั่นใจว่าต้องได้มากกว่านั้น หลายท่านพูดกันว่าได้ 150 แต่ผมว่า ต้องได้มากกว่าของเดิม”
“การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นช้าสุดอีก 14 เดือน แต่ว่าในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค.2565 เราไม่รู้จะเกิดสถานการณ์อะไรขึ้น โดยเฉพาะปากท้องของพี่น้องประชาชน เรื่องการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ไม่รู้เกิดอะไรจะทำให้สถานการณ์การเมืองพลิกผัน วันนี้พรรคพลังประชารัฐ พร้อมเลือกตั้ง เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น”
สำหรับ การเลือกตั้งซ่อมส.ส.เขต 6 จ.สงขลา และเขต 1 จ.ชุมพร ในวันนี้ที่ประชุม กก.บห.พรรคพลังประชารัฐ จะมีมติว่าจะส่งผู้สมัครลงรับการเลือกตั้งหรือไม่ “ธรรมนัส” ระบุว่า จะต้องพิจารณาจากปัจจัยหลายอย่าง กรอบเวลาเป็นเรื่องสำคัญ ห้วงเวลาที่เหลืออยู่ นานสุดคือ 14 เดือนจนถึง มี.ค. 2566 เป็นเรื่องสำคัญ เราต้องช่างน้ำหนักผลดีผลเสีย อันไหนได้มากกว่ากัน จะมาตัดสินใจว่าส่งโดยมารยาทหรือไม่ มันไม่ใช่
ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. “ธรรมนัส” มองว่า อาจจะไม่ใช่ระยะเวลาอันใกล้ กรอบเวลาอาจขยายไปอย่างที่นายกฯประกาศว่าอาจเป็นกลางปี 2565 ซึ่งทำให้พรรคพลังประชารัฐ ยังมีเวลาหาตัวผู้สมัคร
“สนามกทม. ต้องมองยุทธศาสตร์ภาพรวม การเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครไวเกินไปมันอาจจะไม่ดี การเปิดตัวไวเกินไปอาจไม่ใช่เรื่องที่ดีในความคิดผม สนามกทม.เราให้ความสำคัญกับ ส.ก. ที่จะต้องลงสมัครในนามพรรคอยู่แล้ว” เลขาฯ พรรคพลังประชารัฐ กล่าว