40 ปี ไทยแบก 9 แคมป์ลี้ภัย "เก่าไม่ไป-ใหม่ทะลัก"
ท่ามกลางการสู้รบครั้งใหม่ "กองทัพเมียนมา "กับ "ชนกลุ่มน้อย" เริ่มรุนแรง ทำให้มีผู้อพยพมาตามชายแดนจ.ตาก ต่อเนื่อง ในขณะที่ของเดิมในอดีตยังมีผู้ลี้ภัยอีก 9 แคมป์ จำนวนเกือบแสนคน ที่ "ไทย" ต้องแบกภาระนี้ไปเต็มๆ
ตั้งแต่เกิด "รัฐประหาร" ใน "เมียนมา" เมื่อ ก.พ. ปีนี้ "ไทย" ต้องเผชิญกับคลื่นผู้อพยพก้อนใหญ่ที่หลั่งไหลมาตามชายแดน ในขณะที่ความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างทหารเมียนมา กับ ชนกลุ่มน้อย ยังคงดำเนินต่อและนับวันยิ่งทวีความรุนแรง โดยไม่มีทีท่าจะยุติลง
ซากอาวุธหนักที่ตกลงมาฝั่งไทย บ่งบอกถึง สถานการณ์สู้รบในพื้นที่รัฐกระเหรี่ยงชายแดนด้านเมียวดีติดกับ อ. แม่สอด จ.ตาก เป็นไปด้วยความดุเดือด ส่งผลให้มีผู้อพยพเข้ามาฝั่งไทยแล้ว 4,000 กว่าคน พักคอยบริเวณตะเข็บชายแเดนอีก 3,000 กว่าคน
กองกำลังนเรศวร กองทัพภาคที่ 3 ได้ยิงตอบโต้ด้วยกระสุนควันตามกลไกความร่วมมือชายแดนเพื่อแจ้งเตือน พร้อมประสานไปยังฝ่ายปกครองให้อพยพคนไทยในพื้นที่เสี่ยงไปยังที่ปลอดภัยที่ ส่วนผู้อพยพชาวเมียนมา ได้จัดพื้นที่ปลอดภัย อาหารและน้ำดื่ม ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
"ไทย" ตีกรอบตัวเองไว้ชัดเจนว่าจะไม่เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว หรือ ศูนย์ผู้ลี้ภัยจากการสู้รบเพิ่มเติม โดยสิ่งที่ "กองกำลังนเศวร" ดำเนินการอยู่เป็นการใช้มาตรการชั่วคราว คืออำนวยความสะดวกเบื้องต้น ซึ่งหากเป็นไปได้ให้ผู้อพยพพักคอยในพื้นที่ปลอดภัยบริเวณตะเข็บชายแดนฝั่งตัวเอง
ส่วนผู้อพยพอีกกลุ่มลักลอบเข้าไทยมาแล้ว ต้องผ่าน "จุดแรกรับ" คัดแยกกลุ่มบุคคลก่อนส่งไปรวบรวมในพื้นที่พักรอและกักกันโรคพื้นที่ ซึ่งจัดตั้งขึ้นในสภาวะฉุกเฉิน โดยจะจำแนกตามประเภทบุคคลเพื่อนำไปควบคุมและกักกันโรคในสถานที่ที่กำหนด โดยมีนายอำเภอประจำท้องถิ่นนั้นเป็น ผบ.เหตุการณ์พื้นที่พักรอ ซึ่งหากตรวจพบผู้ป่วยให้ส่งตัวไปรักษาทันที
นอกจากนี้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหลังสถานการณ์คลี่คลาย โดยพิจารณาว่า บุคคลกลุ่มใดเป็นผู้หนีภัยสงครามหรือต้องการลักลอบเข้ามา โดยจัดประเภทเป็น 1.กลุ่มคนไทยที่ทำงานในเมียนมา 2.บุคคลสัญชาติเมียนมาที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลหรือกองกำลังติดอาวุธ และ 3.บุคคลสัญชาติอื่นเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศกลุ่มเอ็นจีโอบุคคลอื่นๆ ผู้ลี้ภัยทางการเมือง ก่อนส่งตัวผู้อพยพกลับให้เร็วที่สุด
"ไทย" ยังขยาดกับการรับบทเป็น "ม้าอารี" เมื่อ 40 ปีที่แล้วด้วยการจัด"พื้นที่พักพิงชั่วคราว" ให้ผู้หนีภัยจากการสู้รบ หรือ "แคมป์ผู้อพยพ" จนกระทั่งสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย "เมียนมา" มีการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า แต่การเจรจาส่งผู้ลี้ภัยกลับไม่ประสบความสำเร็จ เพราะติด "กฎเหล็ก" ต้องพิสูจน์สัญชาติ และมีทะเบียนบ้านอยู่ในเมียนมา
ปัจจุบัน"พื้นที่พักพิงชั่วคราว" ให้ผู้หนีภัยจากการสู้รบกระจายตามจังหวัดต่างๆของไทยจำนวน 9 แคมป์ มีผู้ลี้ภัยเกือบแสนคน ประกอบด้วย
1. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เป็นศูนย์ใหญ่ที่สุด มีผู้หนีภัยอาศัยอยู่กว่า 40,000คน เป็นกะเหรี่ยงคริสต์ หรือ กะเหรี่ยงเคเอ็นยู
2. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านอุ้มเปี้ยม อ.พบพระ จ.ตาก จำนวนกว่า 10,000 คน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้ง กะเหรี่ยง กลุ่มมุสลิม กลุ่มมอญ กลุ่มอาระกัน กลุ่มปะโอ กลุ่มระหุ กลุ่มฉาน กลุ่มคะยา กลุ่มคะฉิ่น กลุ่มปะหล่อง กลุ่มชิน
3. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านนุโพ อ.อุ้มผาง จ.ตาก จำนวนกว่า 10,000 คน เป็นกะเหรี่ยงเคเอ็นยู
4. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านใหม่ในสอย อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน มีผู้หนีภัยหลายชาติพันธุ์ กว่า 10,000คน
5. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่ลามาหลวง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน
6.พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่ละอูน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เป็นชาวกะเหรี่ยง
7. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่สุริน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน
8. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านต้นยาง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
และ 9. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านถ้ำหิน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
สภาพความเป็นอยู่ผู้ลี้ภัยทั้ง 9 แคมป์ ไร้การเหลียวแล งบประมาณที่เคยได้รับจาก ยูเอ็น หรือ องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ลดลงต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นแหล่งหาผลประโยชน์ของบางกลุ่ม อีกทั้งยังเป็นแหล่ง ซ่องสุมค้ามนุษย์ อาวุธสงคราม ยาเสพติด ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสุขภาพอนามัยและโรคระบาด
"ไทย" จำต้องแบกภาระนี้ไปเต็มๆ ในขณะที่การเจรจาขอส่งผู้ลี้ภัย 9 แคมป์ไม่คืบหน้า การสู้รบครั้งใหม่ส่อเค้ารุนแรง ส่งผลให้มีผู้อพยพทะลักเข้ามาเรื่อยๆเข้าทำนอง เก่าไม่ไปไหน ใหม่เข้ามาเติม