8 ปี “ประยุทธ์” ผ่านจุดพีค จุดเสี่ยงรอบข้าง"บนหลังเสือ”
อนาคตของ "พล.อ.ประยุทธ์" ในปี 2565 ต่อเนื่องไปจนถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หนำซ้ำจะเต็มไปด้วยขวากหนาม
การอยู่ในอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2565 กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 ของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการนับถอยหลังวาระรัฐบาลเต็มตัว กับระยะเวลาที่เหลืออีกปีเศษจะครบเทอม 4 ปี ในเดือน มี.ค.2566
ความตั้งใจของคนชื่อ “ประยุทธ์” ชัดเจนว่าต้องการขี่หลังเสือ ควบอำนาจต่อไปให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และพร้อมเข้าสู่สนามเลือกตั้งครั้งต่อไปอีกสมัยด้วย
ระหว่างทางก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น มีอุปสรรคสั่นคลอนความมั่นคงของรัฐบาล และพล.อ.ประยุทธ์ ไม่น้อย ด่านแรก คือเสถียรภาพในฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มักปรากฎภาพสภาล่มเป็นประจำ
ความประนีประนอมที่เคยเกิดขึ้นระหว่างคนในวิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน จากที่ช่วยกันประคับประคองให้สภาสามารถเดินหน้าทำงานได้ ก็ค่อยๆ หายไป กลายเป็นจุดเสี่ยงอันตรายของรัฐบาล ที่จะถูกกดดันให้ยุบสภา
ขณะเดียวกัน ความไม่เป็นเอกภาพในพรรคพลังประชารัฐ แกนนำกลุ่มที่กุมอำนาจบริหารพรรคยังเต็มไปด้วยแรงแค้นเต็มอก ที่มีต่อตัว พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย
หนังม้วนเก่าอาจถูกนำกลับมาฉายซ้ำในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ สุ่มเสี่ยงเผชิญเกมล้มกระดานโดยก๊วนขาใหญ่ของพลังประชารัฐ ในการโหวตสวน หรือตีรวน เพื่อหวังต่อรองอะไรบางอย่าง
คราวนี้ ขาใหญ่ในพลังประชารัฐ คงมีบทเรียนอันล้ำค่าจากการปฏิบัติล้มกระดานที่เคยล้มเหลวในศึกซักฟอกรัฐบาลครั้งที่แล้ว ที่พยายามเดินเกมโหดเพื่อคว่ำประยุทธ์ มาเที่ยวนี้ถ้าความคิดล้มกระดานยังมีอยู่ คงไม่โฉ่งฉ่างเหมือนครั้งที่แล้ว นอกจากจะถูกจับได้คาหนังคาเขา แถมโดนถอนแค้นจนเกือบเอาตัวไม่รอด
จุดบกพร่อง พล.อ.ประยุทธ์ ที่สำคัญคือ การปลดรัฐมนตรีบางคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีในแผนล้มโต๊ะซึ่งคิดว่าทุกอย่างจะจบ แต่กลับปล่อยให้โลดแล่นมีบทบาทในพลังประชารัฐ สถานการณ์จึงไม่ต่างกับปล่อยเสือเข้าป่า
การทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในเรื่องนี้ ไม่ถอนรากถอนโคน อาจเป็นหอกที่ย้อนกลับมาเล่นงานตัวเองไม่ช้าไม่นานจากนี้
เกมในสภาจึงเป็นอีกจุดเสี่ยงสำคัญสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องเจอฝ่ายค้านลากขึ้นเขียงเชือดและเสียงโหวตที่อาจคุมลำบาก รวมถึงกฎหมายสำคัญของรัฐบาล และ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี2566 ก็อยู่ในความสุ่มเสี่ยง เมื่อสภาไร้เสถียรภาพ และพลังประชารัฐไร้ความเป็นเอกภาพ
ที่สำคัญ การอยู่ในอำนาจมายาวนานของ พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนจำนวนไม่น้อยอยู่ในอาการเบื่อหน่าย เพราะใครก็อยากลองของใหม่ จึงเริ่มเห็นความเคลื่อนไหวของหลายพรรคการเมือง ที่ขยับเตรียมพร้อมเลือกตั้ง ได้เห็นเค้าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งนับว่าน่าสนใจ
พลังประชารัฐ เองพร้อมจะเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจ แยกทาง ไปร่วมงานกับพรรคใหม่ ซึ่งแนวโน้มความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง
ส่วนพรรคเพื่อไทย คนแดนไกลไฟเขียว เสี่ยเพ้ง พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในนามพรรค ร่วมกับ เสี่ยนิด เศรษฐา ทวีสิน และ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร
ส่วน “ภูมิใจไทย” ยังเป็นชื่อเดิม อนุทิน ชาญวีรกูล หรือจะมีตัวสอดแทรกชื่อ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผบ.ตร. จะมาสวมเสื้อสีน้ำเงินหรือไม่
ขณะที่ “ประชาธิปัตย์” ดัน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ “ก้าวไกล” ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คงได้เห็นชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขึ้นสังเวียน
ขณะที่บรรดาพรรคใหม่ เช่น “ไทยสร้างไทย” อาจได้เห็นชื่อ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ “พรรคกล้า” ที่ค่อนข้างแน่นอนว่าเป็น กรณ์ จาติกวณิช ขณะที่พรรค “สร้างอนาคตไทย” ของ 2 กุมาร กลุ่มทุนรายใหญ่ ล็อกชื่อ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ เท่านั้น
รายชื่อเหล่านี้คือบรรดาผู้ท้าชิงเก้าอี้นายกฯ ซึ่งนับว่ามีตัวเลือกให้คนไทยค่อนข้างหลากหลายแต่เมื่อย้อนกลับมาดูแชมป์เก่า พล.อ.ประยุทธ์ การจะป้องกันแชมป์รอบหน้า เหนื่อยกว่าเก่าหลายเท่าตัว การบริหารงานในช่วงเวลาที่ผ่านมา นายกฯ คนนี้ ผลักมิตรเป็นศัตรูไปก็มาก
ตอนนี้ อาจจะยังไม่เห็นสัญญาณ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะไปต่อทางการเมืองอย่างไร จะร่วมงานกับพรรคการเมืองใด แม้แต่กลุ่มคนใกล้ชิด นายกฯ ยังยอมรับตามตรงว่า ยังไม่รู้จะเอาอย่างไรต่อไป
ยังไม่นับประเด็นการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ในช่วงเดือน ส.ค.2565 ที่ฝ่ายค้านลับมีดรอเชือดพล.อ.ประยุทธ์ ด้วยการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ
อนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์ในปี 2565 ต่อเนื่องไปจนถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หนำซ้ำจะเต็มไปด้วยขวากหนาม
พล.อ.ประยุทธ์ ได้ผ่านจุดพีค ทางการเมืองมาแล้ว แต่จะถึงช่วงขาลงแล้วหรือยัง ผลการเลือกตั้งครั้งถัดไปจะเป็นคำตอบสำหรับอนาคต ที่ส่งผลต่อการเมืองไทยอย่างมีนัยสำคัญ