เช็คลิสต์“คดีดัง-นักการเมือง” ป.ป.ช.วางคิวปิดฉากปี 2565
ทั้งหมดคือคดีความสำคัญที่คาดว่าจะมีบทสรุปในปี 2565 ท่ามกลางสมรภูมิรบทางการเมืองที่กำลังห้ำหั่นกันอย่างเต็มกำลังอยู่ในขณะนี้
รูดม่านปิดฉากลงไปแล้วสำหรับ “ปีฉลู” 2564 ก้าวเข้าสู่ “ปีขาล” 2565 ท่ามกลางอุณหภูมิการเมืองยังคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง
ในปีที่ผ่านมามีสารพัด “คดีทุจริตคอร์รัปชัน” ที่ถูก “องค์กรตรวจสอบ” ดำเนินการไต่สวนอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เป็น “มือไม้หลัก” ในการ “ป้องกัน-ปราบปราม” การทุจริตดำเนินการอย่างเต็มอัตราศึก โดยในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา ดำเนินการแล้วเสร็จไป 4,552 คดี
เปิดฉากด้วยคดีสำคัญที่อยู่ในช่วง “โค้งสุดท้าย” นั่นคือกรณีการทุจริตจัดซื้อ “ถุงมือยาง” มูลค่ากว่าแสนล้านบาท ขององค์การคลังสินค้า (อคส.) กระทรวงพาณิชย์ ที่เป็นข่าวอื้อฉาวอย่างหนัก จนอาจเรียกได้ว่าเป็น “คดีทุจริตแห่งปี 2564” เพราะมูลค่าความเสียหายมหาศาล ที่สำคัญเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มักประกาศว่าเรื่องทุจริตคอร์รัปชันเป็น “วาระแห่งชาติ”
คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ อคส.ดำเนินการจัดซื้อถุงมือยางจากบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด จำนวน 500 ล้านกล่อง มูลค่า 112,500 ล้านบาท โดยมีการจ่ายเงินมัดจำล่วงหน้าให้แก่บริษัท การ์เดียนโกลฟส์ฯ ถึง 2 พันล้านบาท ทว่ากลับไม่มีการนำสินค้าดังกล่าวมาให้แต่อย่างใด ทำให้เกิดข้อครหาว่าเป็นการ “ซื้อสินค้าลม” ส่งผลให้เกิดการยื่นเรื่องร้องเรียนหน่วยงานเกี่ยวข้องมาตรวจสอบเป็นการด่วน
ว่ากันว่ากรณีนี้มี “บิ๊กเนม” นักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แต่ “หลบฉาก” ออกมาทันในวินาทีสุดท้าย ส่งผลให้ถูก “ตัดตอน” เหลือแค่ “ข้าราชการระดับสูง” ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น ปัจจุบันเรื่องนี้แบ่งการตรวจสอบเป็น 2 ส่วน
1.การตรวจสอบในกระทรวงพาณิชย์ โดยมีการไล่ออกข้าราชการที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 ราย ได้แก่ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการผู้อำนวยการ อคส. นายเกียรติขจร แซ่ไต่ และนายมูรธาธร คำบุศย์ รวมถึงสั่งให้ชดใช้ความรับผิดทางละเมิดด้วยรวม 7 ราย
2.การตรวจสอบของ ป.ป.ช. โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องนี้ และมีการสั่งอายัดเงินจำนวน 2 พันล้านบาทแล้ว ทว่าไม่ทันการ เมื่อมีการยักย้ายถ่ายเทเงินออกไปบัญชีต่าง ๆ เหลือยึดไว้ได้เพียงแค่ 858 ล้านบาทเศษเท่านั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนในทางอาญา-วินัย รวมถึงตามเส้นทางการเงินเพื่อนำกลับคืนหลวง
ถัดมาคดี “สินบนข้ามชาติ” ที่งวดเข้ามาทุกขณะ คือคดีปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยบริษัท พีทีที.จีอี บริษัทลูกของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยพบพฤติการณ์ว่ามีการซื้อขายที่ดินและจ่ายค่านายหน้าแพงเกินจริงอย่างน้อย 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหาบุคคลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีก 4 ราย รวมมีผู้ถูกกล่าวหาคดีนี้ 16 ราย ซึ่งบางรายมีความสัมพันธ์ “ใกล้ชิด” กับ “นักการเมืองดัง” บางรายใกล้ชิด “อดีตผู้บริหารระดับสูง” ในองค์กรอิสระแห่งหนึ่ง ขณะที่ “คีย์แมนสำคัญ” คดีดังกล่าวอย่าง “อดีตบิ๊ก ปตท.” ยังคงไม่ถูกเพิ่มชื่อเข้าไต่สวนแต่อย่างใด โดยในช่วงที่ผ่านมาเคยถูกเสนอให้เพิ่มชื่อเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. อย่างน้อย 4 ครั้ง ทว่า “เสียงไม่เพียงพอ” ในการที่จะไต่สวนบุคคลรายนี้ จนเกิดเป็นคำถามว่ามี “เบื้องลึก-ฉากหลัง” แอบแฝง หรือต้องการ “ตัดตอน” สาวไปถึง “ตัวการใหญ่” หรือไม่
สำหรับความคืบหน้าในการไต่สวน ป.ป.ช. ตรวจสอบพบเส้นทางการเงินว่า มีเงินไหลจากอินโดนีเซียไปยังสิงคโปร์ และพักอยู่ที่ฮ่องกง ปัจจุบันมีการประสานขอรายละเอียดไปหลายครั้ง แต่หน่วยงานเกี่ยวข้องของทั้ง 2 ประเทศดังกล่าวไม่ตอบอะไรกลับมา
แต่เหมือนมีความหวังเกิดขึ้นอีกครั้ง เพราะในปี 2565 มีรายงานว่า ทางการของสิงคโปร์เตรียมยื่นเรื่องร้องต่อศาล เพื่อขอให้ส่งรายละเอียดข้อมูลเส้นทางการเงินดังกล่าวแก่สำนักงาน ป.ป.ช. แล้ว ดังนั้นจึงอาจจับได้-ไล่ทันเส้นทางการเงินอย่างน้อยก็ก้อนหนึ่งจากหลายสิบก้อนที่กระจายออกไป
เพราะไม่ใช่แค่ที่สิงคโปร์ หรือฮ่องกงเท่านั้น แต่พบข้อมูลใหม่ว่า มีเส้นทางการเงินไหลกระจายไปทั่วยุโรป โดยไปพักที่ “เกาะสวรรค์” ที่นักธุรกิจชื่อดังมักเอาไว้ “หลบเลี่ยงภาษี” ด้วย ปัจจุบัน ป.ป.ช. ได้ข้อมูลส่วนนี้เพื่อนำมาประกอบใน “จิ๊กซอว์” แล้ว ดังนั้นคาดว่าในช่วงปี 2565 จะมีบทสรุปคดีดังกล่าวค่อนข้างแน่นอน
อีกคดีหนึ่งที่สาธารณชนให้ความสนใจอย่างมากคือ คดีการช่วยเหลือนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส” ผู้ต้องหาขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 โดยกลายเป็น “จุดด่างพร้อย” ที่ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์กระบวนการยุติธรรมไทย ในช่วงปี 2563-2564 “นายกฯบิ๊กตู่” ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาชุดหนึ่ง นำโดยนายวิชา มหาคุณ “กระบี่มือหนึ่ง” อดีตกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน จนสุดท้ายได้สรุปรายงานผลไปยังหน่วยงานตรวจสอบต่าง ๆ ดำเนินการต่อ
หนึ่งในหน่วยงานที่รับลูกต่อหนีไม่พ้นสำนักงาน ป.ป.ช. โดยความคืบหน้าขณะนี้มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว และแจ้งข้อกล่าวหากับบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 14 ราย มีทั้งนายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด (อสส.) ที่เป็นคนลงนามไม่สั่งฟ้องนายวรยุทธ รวมถึง “บิ๊กตำรวจ” ที่ยังรับราชการอยู่ และที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว รวมถึงเครือญาตินักการเมืองชื่อดังย่านอีสานใต้อีกด้วย โดยคดีดังกล่าว ป.ป.ช. ตั้งเป้าไต่สวนให้แล้วเสร็จภายใน 14 เดือน ดังนั้นคาดกันว่าปลายปี 2565 จะมีบทสรุปของเรื่องนี้อย่างแน่นอน เพราะถ้าปล่อยให้ล่าช้าไปกว่านี้ อาจตอบคำถามสังคมไม่ได้อีกต่อไป
ขณะที่การไต่สวนนักการเมืองชื่อดังที่ถูกกล่าวหาว่าปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เช่น น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่ปัจจุบันถูกศาลฎีกาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดมาตรฐานจริยธรรม กรณี “ฟาร์มเลี้ยงสัตว์” บุกรุกที่ดินป่าสงวน และที่ดิน ส.ป.ก. นั้น ป.ป.ช. อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน และลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยคาดว่าจะมีบทสรุปในปี 2565
เช่นเดียวกับกรณีกล่าวหา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่แจ้งการถือครองหุ้นเกิน 5% ของ “ภริยา” ใน 3 บริษัท เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ อาจเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการหุ้นและหุ้นส่วนของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 ปัจจุบัน ป.ป.ช. ลงพื้นที่ตรวจสอบทรัพย์สินของ ร.อ.ธรรมนัส ในพื้นที่ จ.พะเยา รวมถึงข้อมูลการถือครองหุ้นทั้งหมดแล้ว และจะมีการเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงอีกครั้ง
ทั้งหมดคือคดีความสำคัญที่คาดว่าจะมีบทสรุปในปี 2565 ท่ามกลางสมรภูมิรบทางการเมืองที่กำลังห้ำหั่นกันอย่างเต็มกำลังอยู่ในขณะนี้