กลซักฟอกถล่ม"รัฐ-ประยุทธ์" จับตา"แผนล้มกระดาน"

กลซักฟอกถล่ม"รัฐ-ประยุทธ์"    จับตา"แผนล้มกระดาน"

การขยับไทม์ไลน์การ “อภิปรายทั่วไป” จากเดิมที่วางในช่วงปลายปี64 ไปเป็นต้นปี65 ในช่วงปลายสมัยประชุม เพื่อต้องการให้มีการอภิปรายในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการ “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” ในเดือนพ.ค. หวังผลไปถึงการขยี้แผลรัฐบาล รวมถึงตัวพล.อ.ประยุทธ์ในคราวเดียวกัน

เปิดศักราชปีเสือดุ “การเมืองไทย” ยังอยู่ในสภาวะที่เรียกว่าต้องลุ้นวันต่อวัน นาทีต่อนาที โดยเฉพาะ “ซีกรัฐบาล” รวมถึงตัว “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่ยามนี้กำลังง่อนแง่นจากปัญหาเสถียรภาพภายในรัฐบาล

ซ้ำยังเผชิญ“เกมวัดพลัง” ทั้งจากภายในขั้วเดียวกันไม่ว่าจะเป็น “ศึกก๊ก-ก๊วน” ภายในพรรคพลังประชารัฐที่ไม่ต่างอะไรกับแก้วร้าวที่รอวันแตกหัก หรือสัมพันธ์ภาพระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่ได้หวานชื่นเหมือนดังเก่าก่อน

กลับกันต่างฝ่ายต่างเปิดเกมวัดพลังกันเอง โดยเฉพาะ“ศึกสามเส้า” 3สนามเลือกตั้งซ่อมล่าสุดทั้งการเลือกตั้งซ่อมส.ส.เขตหลักสี่ กทม. ,การเลือกตั้งซ่อมเขต1 จ.ชุมพรและการเลือกตั้งซ่อมเขต6สงขลา ที่งานนี้ต่างฝ่ายทั้งพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ ต่างชิงเกมชักธงรบ ชนิดไม่สน“มารยาทการเมือง” ตามที่มีการพูดถึงกันก่อนหน้านี้

ไม่ต่างไปจาก “เกมงัดข้อ” จาก “ขั้วฝ่ายค้าน” ทิ้งทวนปี64ด้วยเกมประชุมล่ม จนกลายเป็นภาพจำที่ไม่ต่างอะไรกับเรือที่กำลังอับปางดังฉายาที่สื่อมวลชนตั้งให้ว่า “สภาอับปาง”

ต่อเนื่องมาถึงปี65 ที่เตรียมเปิดศักราชด้วยการยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา152 ซึ่งไทม์ไลน์คร่าวๆจะมีขึ้นก่อนปิดสมัยประชุมสภาในช่วงเดือนก.พ.2565

รอบนี้ฝ่ายค้านจั่วหัวไว้ว่า จะเน้นไปที่การก่อวิกฤตเศรษฐกิจ ,วิกฤตโควิด-19 รวมถึงประเด็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยเป็นหลัก

อย่างที่รู้กันว่า กลเกมของฝ่ายค้านครั้งนี้มีการขยับไทม์ไลน์การ “อภิปรายทั่วไป” จากเดิมที่วางในช่วงปลายปี64 ไปเป็นต้นปี65 ในช่วงปลายสมัยประชุม เพื่อต้องการให้มีการอภิปรายในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการ “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” ซึ่งจะสามารถยื่นญัตติอภิปรายได้1ครั้งต่อ1สมัยประชุม หรือในช่วงเดือนพ.ค.65 เพื่อชิงจังหวะขยี้แผลรัฐบาล รวมถึงพล.อ.ประยุทธ์ไปในคราวเดียวกัน

โดยเฉพาะในส่วนของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมี“แผลฉกรรจ์”จากศึกซักฟอกรอบที่แล้วเมื่อเดือนก.ย.2564 ทั้ง “แผนล้มกระดาน” ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีแกนนำคนสำคัญคือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ อยู่เบื้องหลังแต่แผนดันรั่วเสียก่อน

ยิ่งไปกว่านั้น หากยังจำกันได้ศึกซักฟอกรอบนั้น มีการแฉกลางสภาโดย “วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ” ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ว่ามีการจ่ายเงิน5 ล้านบาทบนพื้นที่ชั้น3อาคารรัฐสภา โดยมีข้อแลกเปลี่ยนสำคัญคือการให้ส.ส.โหวตสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ

ทว่าในวันโหวตจริง แม้พล.อ.ประยุทธ์จะรอดศึกซักฟอกไปได้อย่างหวุดหวิด แต่ผลคะแนนในครั้งนั้นกลับพบว่า นายกฯได้รับเสียง “ไม่ไว้วางใจ” มากที่สุด มิหนำซ้ำยังได้รับเสียง “ไว้วางใจ” อยู่ในลำดับรองบ๊วยอีกด้วย

ยิ่งยามนี้รัฐบาลกำลังเผชิญปัญหาเสถียรภาพภายในด้วยกันซ้ำยังมีการจับตาไปที่สัมพันธ์ “พี่น้อง3ป.” รวมถึงพล.อ.ประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐ

“เกมซักฟอก” ที่กำลังจะเกิดขึ้นกลับยิ่งไปเข้าทางฝ่ายค้านในการล็อกเป้าเพื่อขยายแผลใหญ่รัฐบาล พุ่งตรงไปที่ตัวพล.อ.ประยุทธ์หวัง “ขยี้แผลฉกรรจ์” ที่เคยเกิดขึ้นอีกคำรบหนึ่ง ยิ่งในห้วงของวิกฤติโควิด บวกปัญหาเศรษฐกิจด้วยแล้ว ย่อมเป็นการลดทอนความเชื่อมั่นและความชอบธรรมของรัฐบาลไปโดยปริยาย

ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมเช่นกันว่า หลังเสร็จศึกซักฟอกรอบที่ผ่านมาแม้พล.อ.ประยุทธ์ จะแก้เกมล้มกระดานรวมถึงงัดดาบอาญาสิทธิ์สั่งปลด“ผู้กองธรรมนัส” ออกจากรมช.เกษตรและสหกรณ์ รวมถึง “ดร.แหม่ม” นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรมช.แรงงานเพื่อไม่ให้เป็นหนามตำใจได้สำเร็จ

แต่ทว่าแทนที่จะเดินหน้าต่อได้โดยสะดวกโยธิน ทำไปทำมาพล.อ.ประยุทธ์กลับยิ่งเผชิญแรงกระเพื่อมทั้งจากบนดินและใต้ดินที่นับวันจะยิ่งก่อตัวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะแรงกระเพื่อมจากภายในขั้วรัฐบาลด้วยกัน

เมื่อสถานการณ์ตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้ แม้ก่อนหน้าพล.อ.ประยุทธ์ จะพยายามย้ำนักย้ำหนาว่า “จะอยู่ครบเทอมไปจนถึงปี2566” แต่ศึกที่กำลัง “บดขยี้” อยู่รอบด้าน ณ เวลานี้ ส่งผลให้รัฐบาลรวมถึงตัวพล.อ.ประยุทธ์อยู่ในสภาวะ “ชำรุดยุทธ์โทรม” ตามที่สื่อมวลชนทำเนียบรัฐบาลให้ฉายาไว้ก่อนหน้านี้

ทำไปทำมาแทนที่จะ“ยื้อยุทธ์”(ตามฉายาสื่อทำเนียบ)อยู่ครบเทอม ท้ายที่สุดการตัดสินใจ“ยุบสภา” อาจเป็นทางเลือกที่พล.อ.ประยุทธ์นำมาใช้ก็เป็นได้