ACT พบ 10 หน่วยงานรัฐพิรุธจัดจ้าง-ปมเอกชน “หลานบิ๊กตู่” กวาดงานรัฐติดโผ
เปิด 10 หน่วยงานรัฐ ACT พบ “ข้อพิรุธ” การจัดซื้อจัดจ้าง 8 หมื่นโครงการ วงเงินรวมหลายแสนล้านบาท “กรมชลประทาน-กรมการปกครอง-กทม.” ติดโผ 3 อันดับแรก ติดตามใกล้ชิด 5 กรณีเสี่ยงคอร์รัปชัน ปมเอกชน “หลานบิ๊กตู่” กวาดงานรับเหมาภาครัฐปี 64 กว่า 251 ล้าน คัดค้านอภัยโทษคดีทุจริต
เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2565 เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์รายงานอ้างว่า ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เปิดเผยถึงปัญหาการคอร์รัปชันของไทยว่า ในช่วงปี 2564 ยังอยู่ในขั้นวิกฤต มีการทุจริตเพิ่มมากขึ้น และ ACT ได้ติดตามดูอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ มี 5 กรณีหลัก ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ 1.การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ 2.การก่อสร้างถนนที่พิลึกพิลั่น 3.การทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4.โครงการก่อสร้างของบริษัทหลาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ 5.การลดโทษให้นักโทษคดีคอร์รัปชัน
กรณีโครงการก่อสร้างของบริษัทหลาน พล.อ.ประยุทธ์ ที่ ACT อยู่ระหว่างจับตานั้น กรุงเทพธุรกิจ เคยรายงานแล้วว่า หจก.คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น ของนายปฐมพล จันทร์โอชา บุตรชาย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากเป็นผู้ชนะการประมูลในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา อย่างน้อย 3 สัญญา รวมวงเงิน 251.88 ล้านบาท
ทั้งที่เมื่อปี 2561 หจก.คอนเทมโพรารีฯ ถูกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีที่ถูกกล่าวหาว่าบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนจัดตั้งในค่ายทหารสมเด็จพระเอกาทศรถ (กองทัพภาคที่ 3) แต่กลับได้ร่วมประมูลและชนะงานโครงการของรัฐ โดยเฉพาะของกองทัพภาคที่ 3 หลายโครงการ รวมวงเงินหลายร้อยล้านบาท
โดยนายปฐมพล จันทร์โอชา และนายปฏิพัทธิ์ จันทร์โอชา 2 บุตรชาย พล.อ.ปรีชา ไปแล้วว่า ดำเนินธุรกิจรวมกันอย่างน้อย 5 แห่ง ได้แก่ นายปฐมพล 4 แห่ง หจก.คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น บริษัท บีวิช คาร์ เร้นทอล จำกัด บริษัท มาซูมิ จำกัด และ บริษัท พีทีที พาวเวอร์ กรุ๊ปคอน จำกัด และนายปฏิพัทธิ์ 1 แห่ง บริษัท พี-ไรท์แอนด์บริส จำกัด
โดยในจำนวนนี้ มี 3 แห่งเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ แบ่งเป็น หจก.คอนเทมโพรารีฯ ระหว่างปี 2558-2564 เป็นคู่สัญญารัฐวงเงินอย่างน้อย 863.31 ล้านบาท บริษัท บีวิช คาร์ เร้นทอล จำกัด ระหว่างปี 2562-2564 เป็นคู่สัญญารัฐรวมวงเงินอย่างน้อย 174.82 ล้านบาท และบริษัท พี-ไรท์ฯ เป็นคู่สัญญารัฐวงเงินอย่างน้อย 12.96 ล้านบาท รวมทั้ง 3 บริษัท และนับรวมที่เป็นกิจการร่วมค้ากับเอกชนรายอื่นด้วย เป็นคู่สัญญารัฐอย่างน้อย 1,100.95 ล้านบาท
สำหรับรายละเอียด 3 โครงการ รวมวงเงินกว่า 251 ล้านบาทที่ หจก.คอนเทมโพรารีฯ เป็นผู้ชนะการประกวดราคา คือ
1.สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก-อุบัติเหตุ เป็นอาคารโครงสร้างเหล็ก(คสล.) 5 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 9,318 ตารางเมตร (โครงสร้างต้านแผ่นดินไหว) โรงพยาบาลบางจาก ตำบลบางจาก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 1 หลัง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (E-bidding) หจก.คอนเทมโพรารีฯ เป็นผู้ชนะการเสนอราคา ด้วยวงเงิน 128,850,000 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2564
2.สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารบูรณาการของกระทรวงยุติธรรมจังหวัดนครปฐม ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (E-bidding) หจก.คอนเทมโพรารีฯ ชนะด้วยราคา 82,500,000 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2564
3.เทศบาลตำบลพลายชุมพล จ.พิษณุโลก ประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง 4 ชั้น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพลายชุมพล อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (Ebidding) หจก.คอนเทมโพรารีฯ ชนะด้วยราคา 40,527,708 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2564
ขณะที่ความคืบหน้าในการไต่สวนของสำนักงาน ป.ป.ช. พบว่า มีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในค่ายทหาร และเก็บพยานหลักฐานเรียบร้อยแล้ว แต่ปัจจุบัน หจก.คอนเทมโพรารีฯ แจ้งย้ายออกจากที่ตั้งในค่ายทหารไปอยู่นอกค่ายแล้ว ทว่าในการขั้นตอนการไต่สวนยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงขั้นต้นเท่านั้น ยังไม่มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
ในส่วนของโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานต่าง ๆ พบว่า เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน เผยแพร่ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ปี 2558-2564 รวมทั้งหมด 22,182,987 โครงการ ที่น่าสนใจคือ พบโครงการที่แสดงเครื่องหมายแจ้งเตือน ทั้งหมดจำนวน 80,866 โครงการ
โดย ACT ยก 10 อันดับหน่วยงานรัฐ ที่มีจำนวนโครงการ “เสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติ” มากที่สุดมานำเสนอเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการตรวจสอบ รวมวงเงินหลายแสนล้านบาท ได้แก่
อันดับ 1 กรมชลประทาน พบ 6,197 โครงการ
อันดับ 2 กรมการปกครอง พบ 2,513 โครงการ
อันดับ 3 กรุงเทพมหานคร พบ 2,111 โครงการ
อันดับ 4 กรมทางหลวงชนบท พบ 1,966 โครงการ
อันดับ 5 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พบ 1,503 โครงการ
อันดับ 6 กรมทางหลวง พบ 1,020 โครงการ
อันดับ 7 การประปาส่วนภูมิภาค พบ 993 โครงการ
อันดับ 8 การประปานครหลวง พบ 949 โครงการ
อันดับ 9 กรมทรัพยากรน้ำ พบ 828 โครงการ
อันดับ 10 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พบ 725 โครงการ
นอกจากนี้ยังมีกรณี ACT เคลื่อนไหวเรียกร้องกรณีกรมราชทัณฑ์ดำเนินการลดโทษกับนักโทษคดีทุจริต โดยอ้างว่าเป็นไปตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ พ.ศ. 2564 ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ส่งผลให้ ACT ออกแถลงการณ์คัดค้านกรณีนี้ กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมากลั่นกรองข้อกฎหมาย โดยมีนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นประธาน
โดย ดร.มานะ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะคดีคอร์รัปชันเป็นคดีใหญ่ที่สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลทั้งต่อเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นการทำลายระบบราชการ ทำลายความเป็นธรรม ทำให้ระบบพวกพ้องเข้ามาครอบงำระบบราชการ การจะเอาคนผิดในคดีคอร์รัปชันมาลงโทษได้เป็นเรื่องที่ยากลำบากและใช้เวลานานมาก ดังนั้น จึงไม่ควรลดโทษให้ผู้กระทำผิดในคดีนี้ง่าย ๆ เอามูลค่าความเสียหายในคดีลักวิ่งชิงปล้นทั้งประเทศในช่วงเวลา 1 ปีมารวมกัน มูลค่าความเสียหายยังไม่เท่าคดีคอร์รัปชันคดีเดียว