จ้องคว่ำ พ.ร.ป.ฉบับ “ก้าวไกล” ปิดทาง “ริบอำนาจ” ยุบพรรค
แม้ "รัฐสภา" ยังไม่ทัน พิจารณาร่างพ.ร.ป. ที่แต่ละพรรคเสนอ มีข่าวกระเส็นกระสาย ในหมู่แกนนำพรรคการเมืองและส.ว.ว่า "บางฉบับ" จะไม่ผ่าน เพราะมีเหตุแย้งกับ รธน. แม้ไม่เอ่ยชื่อ ก็พอรู้ว่า เป็นฉบับของก้าวไกล ที่ขอริบอำนาจยุบพรรคจากศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา “ชลน่าน ศรีแก้ว” ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เอ่ยปากทำนายว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับจะถูกคว่ำ เพราะมีเนื้อหาย้อนแย้งกับ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560”
แม้ “ชลน่าน” ไม่เอ่ยว่า หมายถึงร่างกฎหมายลูกฉบับใดใน 7 ฉบับที่เสนอโดย 4 กลุ่ม คือ กลุ่มของพรรคร่วมรัฐบาล กลุ่มพรรคเพื่อไทย กลุ่มพรรคก้าวไกล และกลุ่มของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.และเลขาธิการพรรคประชาชาติ
ทว่า ในทางการเมืองก็พอจะประเมินได้ว่า หมายถึง “ร่างกฎหมายลูก” ของ “พรรคก้าวไกล” ที่เสนอตัดอำนาจ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ยุบพรรคการเมือง ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 90 (2) และกระบวนการ กลไกที่เกี่ยวเนื่อง ในมาตรา 92 มาตรา 93 และมาตรา 94
นอกจากนั้น ยังแก้ไขบทลงโทษนักการเมืองที่ทำผิดกฎหมาย โดยตัดข้อความที่กำหนดว่า “ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” ใน 12 มาตรา อาทิ มาตรา 101 ว่าด้วยการกล่าวหาพรรคการเมืองทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 103 การจดแจ้งจัดตั้งพรรคด้วยเอกสารอันเป็นเท็จ มาตรา 104 มาตรา 107 มาตรา 109 เป็นต้น
ถือได้ว่า เป็นการตัดอำนาจ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ใน พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับปัจจุบัน ทั้ง ต้นถึงราก
เหตุผลที่ “ก้าวไกล” เสนอนั้น “ธีรัจชัย พันธุมาศ” ส.ส.นักกฎหมายของพรรคก้าวไกล เคยอธิบายไว้ว่า การแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมืองเพื่อยึดหลักการให้พรรคการเมืองตั้งง่าย ไม่ซับซ้อน และยุบยาก ด้วยการตัดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคการเมือง ทั้งนี้เจตนารมณ์เพื่อให้พรรคการเมืองเติบโตตามระบบ และไม่มีการใช้อำนาจของคนไม่กี่คนเพื่อขัดขวางการเติบโต
ต่อประเด็นนี้ “วันชัย สอนศิริ ส.ว.” ทำนายไว้ว่า “ไม่ผ่าน” เพราะหัวใจหลักของการให้อำนาจ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตัดสินในคดีที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองนั้น ถูกกำหนดไว้ใน “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560”
ดังนั้น ลำพังแก้กฎหมายลูกเพื่อตัดอำนาจ ไม่เพียงพอสำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ตรวจสอบพรรคการเมือง และลงโทษพรรคการเมือง รวมถึงผู้บริหารพรรคการเมืองในหลายมาตรา
มาตราที่กำหนดไว้ชัดเจนถึงอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อประเด็นยุบพรรคการเมือง คือ มาตรา 101 (10) ว่าด้วยการขาดจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งระบุถ้อยคำว่า “ยุบพรรคการเมือง” ไว้ ซึ่งเป็นหัวใจ ที่โยงไปยัง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่เขียนถึงเหตุปัจจัยที่นำไปสู่การยุบพรรคการเมือง
หรือมาตรา 82 เขียนให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ “วินิจฉัย” เรื่องที่ ส.ส. หรือ ส.ว. ร้องเรียน การสิ้นสุดสมาชิกภาพ ตามมาตรา 101 หรือ มาตรา 111 และในมาตรา 210 ยังกำหนดเป็นบทบัญญัติ ย้ำในหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ต้องทำเรื่องต่อไปนี้
1.กำหนดให้พิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายและร่างกฎหมาย
2.ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ ส.ส. ส.ว. รัฐสภา ครม. หรือองค์กรอิสระ
3.หน้าที่ และอำนาจอื่นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ
ดังนั้น ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองที่พรรคก้าวไกลเสนอให้ตัด 3 มาตรา และ 1 อนุ ออกไปนั้น เท่ากับตัดทอนอำนาจ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไปด้วยเช่นกัน
ส่วนกรณีที่ “เพื่อไทย” และ “ประชาชาติ” เอาด้วยกับประเด็นที่เกี่ยวกับการแก้ไข "คำสั่งยุบพรรคการเมือง" แต่การนำเสนอไม่ใช่การริบอำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ขอตัดแค่พฤติกรรมที่นำไปสู่การพิจารณายุบพรรค
โดยมาตรา 92 ที่ “เพื่อไทย” และ “ประชาชาติ” เสนอคือ ตัด มาตรา 92(3) ที่บัญญัติให้เป็นพฤติกรรมที่เป็นเหตุให้ยุบพรรค คือ
1. มาตรา20 วรรคสอง คือ จัดตั้งพรรคเพื่อแสวงหากำไรแบ่งปัน
2. มาตรา 28 ให้คนนอกพรรคครอบงำพรรค
3. มาตรา 30 การจูงใจให้คนสมัครสมาชิกด้วยการสัญญาให้เงิน ทรัพย์สิน ประโยชน์
4.มาตรา 36 การตั้งสาขา หรือตัวแทนพรรคในต่างประเทศ
5.มาตรา 44 การรับบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการก่อความไม่สงบ
6.มาตรา 45 ส่งเสริมบุคคลก่อความไม่สงบเรียบร้อย
7.มาตรา 46 เรียกเงินใต้โต๊ะเพื่อตำแหน่งการเมือง หรือ การบริหารแผ่นดิน
8.มาตรา 72 รับบริจาคเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
และ 9. มาตรา 74 การรับบริจาคเงินจากคนต่างชาติ
ทั้งนี้ ยังคงการสั่งยุบพรรคการเมืองด้วยเหตุว่า มีพฤติกรรมล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ , การกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเหตุยุบพรรคตามที่กฎหมายกำหนด
สิ่งที่ “ก้าวไกล” คิด และเสนอต่อรัฐสภา เชื่อว่าคือความพยายามแก้ไขกำแพงขวางทางที่เจอเมื่อครั้งเป็น “พรรคอนาคตใหม่” แต่อาจไปไม่ถึงฝั่งฝัน
โดยต่อจากนี้ เชื่อว่าแนวโน้มของ “ก้าวไกล” จะไม่หยุดแค่นี้ เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการ คือปักหมุดประเด็นการเมือง เพื่อขยายไปสู่การสร้างฐานนิยมในสังคมต่อไป.