"เพื่อไทย" เปิดแผนพัฒนา ปศุสัตว์อุตสาหกรรม 4 ด้าน หนุนส่งออกโค-กระบือ
"เพื่อไทย" เตรียมแผนพัฒนา ปศุสัตว์อุตสาหกรรม 4 ด้าน การตลาด-ด้านศักยภาพ-เทคโนโลยี-แหล่งทุน เพิ่มช่องทางอาชีพเกษตร หนุนส่งออกโค-กระบือ เพิ่มรายได้เกษตรกรไทย
8 ม.ค.2565 คณะทำงานด้านนโยบายด้านวางระบบเกษตรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ นำโดย นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส. พะเยา ประธานคณะทำงาน นางสาวสกุณา สาระนันท์ ส.ส. สกลนคร คณะทำงาน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรค ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรค นางสาวธีราภา ไพโรหกุล กรรมการบริหารพรรค ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือประเทศไทย
อาทิ นายพรหมพิริยะ ศรศิริ อดีตนายกสมาคมเลี้ยงควายแห่งประเทศไทย ดร.นิธิศ จิตนิยม นายสิทธิพร บูรณะนัฐ ดร.สมจิต กันทรพรหม นักวิชาการสัตวบาล นายนิเชต สิงห์อาจ ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ นายยู จอง อัน นักวิจัยจุลินทรีย์ และนายนเรศ รัศมีจันทร์ ผู้ส่งออกวัวจังหวัดเชียงราย จัดสัมมนาหัวข้อ ถอดบทเรียนปศุสัตว์: โค-กระบือ เพิ่มรายได้เกษตรกรไทย ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย
นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า จากการจัดสัมมนา โดยได้เชิญกลุ่มเกษตรกรผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงโค-กระบือมาให้ข้อมูลครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นโอกาสพัฒนาการปศุสัตว์ของประเทศไทยเพื่อการแข่งขันอย่างน้อย 4 ด้าน คือ
(1) โอกาสด้านการตลาด ที่มีอยู่อย่างมหาศาล ทั้งในและนอกประเทศ ยกตัวอย่าง การส่งออกโค-กระบือ ยังไม่มีขีดจำกัดและขายได้ราคาสูง เพราะมีความต้องการจากจีนและเพื่อนบ้าน โดยจีนต้องการโคอย่างน้อย 40 ล้านตัว/ปี และรสสัมผัสเนื้อโคไทยก็เป็นที่ต้องการในตลาดอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น ราคาเนื้อโคไทยในตลาดจีนสามารถทำราคาได้สูง 3-5 เท่าตัวจากราคาในไทย
(2) โอกาสด้านศักยภาพ จากพื้นฐานชีวิตดั้งเดิม รวมกับความเหมาะสมด้านสภาพภูมิอากาศจากที่ตั้ง จึงเป็นพื้นฐานให้ไทยสามารถยกระดับรายได้ด้วยการพัฒนาจากทรัพยากรที่มีอยู่ ในด้านปศุสัตว์ เกษตรกรไทยมีทั้งความสามารถและประสบการณ์ และข้อดีอีกประการคือ ลักษณะเด่นของโค-กระบือ สามารถเลี้ยงได้ทั้งในทุ่ง ในโรงเรือน และในระบบปิดแบบปราณีต เพื่อควบคุมคุณภาพเป็นสินค้าพรีเมี่ยม
(3) โอกาสด้านเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มคุณภาพและผลผลิต ปัญหาสำคัญของกลุ่มผู้เลี้ยงคือไม่มีพันธุ์โค-กระบือที่ดี ซ้ำร้ายในบางพื้นที่ ยังพบการแจกพันธุ์โค ที่ให้ผลผลิตต่ำทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ จึงไม่ได้เนื้อโคคุณภาพสูงเพื่อแข่งขันในตลาด ข้อนี้น่าเสียดายโอกาสของประเทศไทยอย่างมาก
(4) โอกาสการเข้าถึงแหล่งทุน เพราะการเลี้ยงโค-กระบือเป็นการลงทุนระยะยาว ดังนั้นการเข้าถึงแหล่งทุน รวมทั้งการสนับสนุนอย่างจริงใจจากภาครัฐจึงเป็นเรื่องจำเป็น
นายวิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า จากประสบการณ์คลุกคลีกับวงการปศุสัตว์และได้รับฟังการสะท้อนปัญหา - ข้อเสนอแนะจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญโค-กระบือ จึงเห็นได้ชัดว่าการทำปศุสัตว์สามารถเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะพาประเทศไทยพ้นความยากจน และแก้ปัญหาความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนไทยได้ หากนโยบายจากภาครัฐออกมาได้ถูกต้องตรงจุด ให้ความสำคัญตั้งแต่การจัดการเจรจาอำนวยความสะดวกในการนำสินค้าสู่ประเทศที่มีความต้องการสูง สนับสนุนเทคโนโลยีและการเข้าถึงแหล่งทุน การเปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน จะช่วยผลักดันศักยภาพด้านการปศุสัตว์ของคนไทยให้ก้าวได้ไกลขึ้น ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะได้นำปัญหาและแนวทางเหล่านี้ ทำงานต่อเพื่อจัดทำเป็นนโยบายส่งเสริมให้เกิดการเลี้ยงโค-กระบือในเชิงอุตสหกรรมการเกษตร แปรเปลี่ยนอุตสาหกรรมเกษตรสู่อาหารที่ชัดเจน เพิ่มรายได้หลักให้กับประชาชนต่อไป