เปิดสารพัด "วิธีกลโกง" เลือกตั้ง เกมใต้ดินวิชามารใช้เข้าสู่อำนาจทุกยุค

เปิดสารพัด "วิธีกลโกง" เลือกตั้ง เกมใต้ดินวิชามารใช้เข้าสู่อำนาจทุกยุค

เปิดกลโกงวิชามารการเลือกตั้งที่นำมาใช้หลายยุคหลายสมัย เพื่อเป็นทางลัดในการเข้าสู่อำนาจของนักการเมืองที่ไม่สุจริต

ใกล้ถึงวันเลือกตั้งซ่อม 3 พื้นที่ในเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดชุมพร เขตเลือกตั้งที่ 6 จังหวัดสงขลา และเขตเลือกตั้งที่ 9 หลักสี่-จตุจักร แทนตำแหน่ง ส.ส.ที่ว่างลง โดยในพื้นที่เลือกตั้ง "ชุมพร-สงขลา" กำหนดวันลงคะแนนเสียง 16 ม.ค.65 ส่วน "หลักสี่" จะเลือกตั้งวันที่30 ม.ค.2565

ปฏิทินวันเลือกตั้งยิ่งใกล้เข้ามาเมื่อใด การแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองยิ่งเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกระแสการทุจริตเลือกตั้งของผู้สมัครในพื้นที่ผ่านการซื้อเสียง และเตรียมพร้อมวิธีโกงการเลือกตั้งสารพัดรูปแบบไปจนถึงเวลานับคะแนนผลการเลือกตั้ง

ที่ผ่านมาการ "ซื้อเสียง" สุดคลาสสิกที่นิยมของผู้ทำการทุจริตตั้งแต่อดีตส่วนใหญ่ยังอยู่ที่วิธีการ "แจกเงิน" ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผ่าน "หัวคะแนน" แต่ในปัจจุบันกลวิธีหาโกงการเลือกตั้งได้ปรับ-เปลี่ยนรูปแบบเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับทุจริตสารพัดวิธี เพื่อใช้ทุกหนทางในการเข้าสู่อำนาจของนักการเมือง ซึ่งหากรวมกลโกงเลือกตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันสามารถแบ่งได้ ดังนี้

1.ซื้อเสียง : ในทางการเมืองที่จะได้ยินคำว่ากระแสที่ควบคู่ไปกับ "กระสุน" ซึ่งเป็นนิยามที่นักเลือกตั้งเข้าใจตรงกัน หมายถึงเม็ดเงินที่เตรียมพร้อม "ยิง" ออกไปซื้อเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเป็นวิธีที่ยังถูกใช้มาตลอดทุกยุค ผ่านมือ "หัวคะแนน" ทำหน้าที่หาชาวบ้านแล้วทำบัญชีเบิกเงิน โดยเฉพาะการยิงกระสุนใน "คืนหมาหอน" ก่อนถึงวันเลือกตั้งที่กระสุนจะถูกยิงไปที่ฐานเสียงเลือกตั้งของฝ่ายตรงข้ามหรือกลุ่มพลังเงียบเพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงในวันเปิดคูหาวันถัดไป

2.ยึดบัตรประชาชน : รูปแบบวิธีที่ถูกใช้ในช่วงหลังประมาณ 10-20 ปีที่ผ่านมา เพื่อตัดคะแนนผู้สมัครฝ่ายตรงข้ามโดยการเก็บบัตรประชาชน หรือเรียกว่า "ซื้อบัตรประชาชน" ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ฐานเสียงของพรรคการเมืองอื่น ได้ไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้งจริงซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ถูกใช้กันแพร่หลาย เนื่องจากสามารถคำนวณคะแนนคู่แข่งที่จะเสียไปทันที และเป็นหลักประกันว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะไม่หักหลัง หากรับกระสุนมาแล้วแต่ไปเลือกคู่แข่งฝ่ายตรงข้ามอยู่ดี

3.เวียนเทียน : วิธีที่ถูกใช้โดยนำประชาชนใบเดียวทำการ "เวียนเทียน" เพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งหลายครั้ง หรือกรณีที่ช่วงใกล้ถึงเวลาปิดหีบจะตรวจสอบว่าหน่วยเลือกตั้งดังกล่าวยังขาดชื่อใครมาลงคะแนนเสียง ก็จะนำรายชื่อนั้นมาสวมสิทธิเวียนเทียนกันลงคะแนน ซึ่งวิธีนี้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งจะต้อง "ถูกซื้อ" ไปแล้วเช่นกันด้วย 

4.เหมาด้วยช่วยไปกลับ : วิธีที่ถูกใช้ในพื้นที่เลือกตั้งต่างจังหวัด ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ จะได้รับการเหมารถยนต์จากกรุงเทพฯ เดินทางกลับไปเลือกตั้งพื้นที่ของตัวเองแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย แลกกับการกาหมายเลขผู้สมัครพรรคการเมืองนั้น โดยจะมีเงินแถมให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกลุ่มนั้นด้วย

5.ตำหนิบัตรตัดคะแนน : อีกหนึ่งวิธีที่ใช้ ตัดคะแนนเสียงจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม โดยในช่วงการ "นับคะแนน" หลังปิดหีบจะมีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง(ที่ถูกซื้อ) คอยตรวจคะแนน หากพบว่าเป็นฝ่ายผู้สมัครคู่แข่งจะคอยทำตำหนิ "บัตรเลือกตั้ง" ด้วยวิธีต่างๆ อาทิ ทำให้บัตรขาด บัตรชำรุด หรือกากากบาทไม่ถูกต้องเพื่อให้บัตรเลือกตั้งใบนั้นเป็นบัตรเสีย

6.เปลี่ยนบัตรหรือเปลี่ยนหีบ : เป็นการเปลี่ยนบัตรเลือกตั้งหรือหีบเลือกตั้งระหว่างการขนย้ายจากหน่วยเลือกตั้งที่อยู่ห่างไกล โดยระหว่างทางจะถูกสับเปลี่ยนก่อนจะไปถึงจุดนับคะแนนส่วนกลางในเขตเลือกตั้งนั้น

7.ซื้อยกหน่วยเลือกตั้ง : เป็นการซื้อเสียงไปถึงเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ให้มาลงคะแนนในวันออกเสียงจากนั้นจะมีกระบวนการกาคะแนนกันเอง ซึ่งวิธีนี้ช่วงหลังถูกจับตามองอย่างมาก เพราะจะมีผู้สังเกตการณ์ของผู้สมัครเข้าไปเกาะติดการนับคะแนนเสียงทุกหน่วยเลือกตั้งว่าสอดคล้องกับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ 

8.ไฟดับคะแนนใหม่ : วิธีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่อดีตในช่วงการนับคะแนน ซึ่งจะเป็นช่วงเย็นหลังปิดหีบไปแล้วจะนับคะแนนเป็นเวลานานหลายชั่วโมงจนถึงกลางดึก แต่มีเหตุไฟดับในพื้นที่นับคะแนน ปรากฏว่าเมื่อไฟใช้งานได้แล้ว คะแนนเสียงที่นับไว้เปลี่ยนไปก่อนที่ไฟฟ้าจะดับ

9.ย้ายหน่วยเลือกตั้ง : การย้ายหน่วยลงคะแนนในวันเลือกตั้งกะทันหันโดยไม่ได้แจ้งผู้ออกเสียง ซึ่งวิธีนี้จะถูกใช้กรณีตรวจฐานเสียงแล้วว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน่วยใดหน่วยหนึ่งจะเป็นฐานเสียงหลักให้คู่แข่งจะใช้วิธีย้ายหน่วยเลือกตั้ง เพื่อชาวบ้านให้เกิดความสับสนหรือไปผิดหน่วยเลือกตั้ง จนอาจตัดสินใจไม่ไปลงคะแนนในวันนั้นได้

10.บัตรเขย่ง-บัตรผี : ปรากฏการณ์บัตรเขย่ง-บัตรผี ที่อาจถูกนำมาใช้อีกครั้ง โดยเริ่มที่การวางตัวกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งใกล้ชิดกับนักการเมืองในพื้นที่ เช้าไปปฏิบัติหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง เพื่อปฏิบัติการ "บัตรเขย่ง" คือ บัตรที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่มาลงคะแนน หรือบัตรผี คือ บัตรที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสียชีวิตไปแล้ว นำมาหย่อนลงหีบในนาทีสุดท้ายก่อนปิดหีบเลือกตั้ง

ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งกลโกงวิชามารการเลือกตั้งที่นำมาใช้หลายยุคหลายสมัย เพื่อเป็นทางลัดเข้าสู่อำนาจของนักการเมืองที่ไม่สุจริตแต่อยู่ที่การทำหน้าที่ของ กตต. โดยเฉพาะประชาชนที่ถูกซื้อเสียงจะปกป้องไว้ถึงศักดิ์ศรีของตัวเองแค่ไหน เพื่อแลกกับเงินที่ได้มาไม่สะอาดทุกการเลือกตั้งหรือไม่.

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์

เปิดสารพัด \"วิธีกลโกง\" เลือกตั้ง เกมใต้ดินวิชามารใช้เข้าสู่อำนาจทุกยุค