“ก้าวไกล” อัดรัฐบาลซื้อฝูงบินใหม่ ไม่เห็นหัว ปชช.-แฉใช้งบจริง 4.1 หมื่นล้าน
“พิจารณ์” รองหัวหน้า “ก้าวไกล” ออกโรงซัดรัฐบาล เคาะซื้อ “ฝูงบินใหม่” ไม่เห็นหัวประชาชน สร้างความเหนื่อยหน่ายท่ามกลางสภาวะข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจตกต่ำ แฉตัวเลขจริงผูกพันงบประมาณกว่า 4.1 หมื่นล้านบาท
เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565 นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า แค่เริ่มต้นปีใหม่ 2566 กองทัพไทย ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็มีประเด็นมากมายที่ประชาชนต้องหัวเสีย และเบื่อหน่าย เพราะไม่สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็น กองทัพที่อยู่เคียงข้างประชาชนได้สักที ไม่ว่าจะเป็นกรณีนายทหารเรือเมาแล้วกร่าง ที่นอกจากเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแล้ว สังคมยังตั้งคำถามถึง จำนวนพาหนะหรูต่าง ๆ ที่มีมูลค่าเกินกว่ารายได้ข้าราชการทหารแล้ว แต่ดูเหมือนหน่วยงานต้นสังกัด อย่างกองทัพเรือ จะไม่มีความระแคะระคายที่ต้องตรวจสอบที่มาที่ไปเลย หรือในสถานการณ์โควิดที่ยังแพร่ระบาดสูงขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ในค่ายทหาร เช่น ค่ายที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ที่มีการติดเชื้อนับร้อย แต่กองทัพบก กลับยังคงเดินหน้าให้มีการฝึกภาคสนามของนักศึกษาวิชาทหาร (ร.ด.) ประจำปีการศึกษา 2564 ต่อไป ซึ่งไม่รู้ว่า กองทัพได้ประเมินหรือไม่ ว่าการนำเด็กนักเรียน ร.ด.ไปฝึกร่วมกัน นอนร่วมกัน กินร่วมกัน จะไม่นำไปสู่คลัสเตอร์ขนาดใหญ่ ที่ไม่ควรจะเสี่ยงให้เกิดขึ้น
"อีกเรื่องที่สร้างความเหนื่อยหน่ายให้ประชาชนอย่างมากคือ เกิดสถานการณ์ข้าวยากหมากแพงท่ามกลางเศรษฐกิจตกต่ำขนาดนี้ โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ ทดแทน F-16 งบประมาณ 13,800ล้านบาท จำนวน 4 ลำ ก็ยังผ่าน มติ ครม. วาระลับ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. จนได้ จะทำให้เกิดภาระงบประมาณ ในปี 2566 ที่ 2,760 ล้านบาท และ ในปี 67-69 อีกปีละประมาณ 3,680 ล้านบาท และเชื่อได้ว่า การจัดหาจะดำเนินต่อไปอีกจนได้ครบทั้งหมดที่ 12 ลำ เพราะโครงการนี้เป็นการแบ่งซื้อ 3 ระยะ ๆ ละ 4 ลำ ในปีงบประมาณต่อ ๆ ไป ดังนั้น สิ่งเรากำลังพูดถึงความจริงในโครงการนี้ก็คืองบประมาณที่จะต้องใช้ทั้งสิ้น ประมาณ 41,400 ล้านบาท" นายพิจารณ์ กล่าว
นายพิจารณ์ กล่าวอีกว่า การจัดซื้ออาวุธดังกล่าวของ ครม. อยู่บนหลักที่ไม่สมเหตุสมผลกับสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญ โดยหากย้อนไปเปรียบเทียบ 2 วิกฤติที่เราเคยผ่านมา ในวิกฤตต้มยำกุ้ง เรายังต้องลดงบกลาโหมลง 21% วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ลดงบกลาโหมลดลง 9.5% นอกจากนั้น ปัจจุบันที่ประชาชนกำลังเผชิญ สถานการณ์วิกฤตโรคระบาด และเศรษฐกิจอยู่ ก็ต้องถามว่า งบด้านสาธารณสุข ด้านสวัสดิภาพ สวัสดิการของประชาชน งบเหล่านี้ได้รับการจัดสรรอย่างเหมาะสมและเพียงพอแล้วหรือยัง
นายพิจารณ์ กล่าวด้วยว่า ภายใต้วิกฤติโรคระบาด วิกฤติเศรษฐกิจ ข้าวยากหมากแพง ครม. มีมติแบบนี้ออกมายังเห็นหัวของประชาชนอยู่หรือไม่ ยิ่งขณะนี้รัฐบาลเองกำลังเผชิญปัญหาการจัดเก็บรายได้ ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณจะต้องจัดลำดับความสำคัญให้ดี คิดอยู่บนพื้นฐานที่ประชาชนได้ประโยชน์ ในปีงบ 66 รัฐบาลตั้งกรอบวงเงินงบประมาณที่ 3.185ล้านบาท ซึ่งเราคาดการณ์ว่าจะไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าและจะต้องกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณอีกจำนวนมาก เพราะหากนำการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลปีงบ 63-64 มามอง จะเห็นว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลพลาดเป้ามาแล้วสองปีติดต่อกัน
"ดังนั้น ในความเห็นของผม หากกองทัพยืนยันว่าจะขอซื้ออาวุธ ก็ต้องสามารถบริหารจัดการ ภายใต้กรอบงบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่ต้องลดลงจากปี 65 อย่างน้อยอีก 10% ให้ได้ หาก ครม. ไม่ได้ตัดสินใจบนหลักการและเหตุผลลักษณะนี้ ก็คงจะกล่าวโทษการใช้จ่ายงบประมาณของกลาโหมไปที่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียวไม่ได้เป็นความรับผิดชอบต่อบาปกรรมที่กระทำไว้กับประชาชนร่วมกันฐานสมรู้ร่วมคิดทั้งคณะ" นายพิจารณ์ กล่าว
นายพิจารณ์ กล่าวว่า อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพูดถึงด้วยในฐานะที่ติดตามงบก้อนนี้มานานคือ การที่กองทัพเรือยอมถอย ไม่เสนอซื้อเรือดำน้ำ ในปีงบ 66 นั้น คงต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องที่น่างยกย่อง หรือต้องขอบคุณใครทั้งนั้น เพราะถึงแม้ไม่ซื้อเรือดำน้ำ แต่สัดส่วนของงบกองทัพเรือหรืองบกลาโหม เมื่อเทียบกับภาพรวมของประเทศ ยังคงเท่าเดิมหรือไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ จึงยังคงแปลความได้ว่า พลเอก ประยุทธ์ จัดงบประมาณเหมือนไม่มีวิกฤต และไม่ได้ลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายงบประมาณเหมือนเดิม
"จากข่าว เหตุผลที่ถอยการซื้อเรือดำน้ำ ก็เพราะว่าโครงการนี้ถูกสังคมจับจ้อง หากเสนอเข้ามา อาจถูกสภาผู้แทนราษฎร ตัดลดงบประมาณ ซึ่งจะทำให้งบของกองทัพเรือลดลง เสียโอกาสในการใช้เงินก้อนนี้ จึงเห็นว่าควรตั้งงบประมาณไปที่โครงการอื่นดีกว่า พูดง่ายๆคือ เอาไปซื้ออย่างอื่นที่ไม่ใช่เรือดำน้ำดีกว่า เพราะน่าจะได้ซื้อ มากกว่าดันทุรังขอซื้อเรือดำน้ำ จึงแสดงให้เห็นว่า กองทัพเรือเองก็ไม่ได้มองที่ความจำเป็น ไม่ได้มีเจตนาที่จะลดงบประมาณ เพื่อให้เกิดเม็ดเงินมากขึ้นในการใช้จ่ายด้านอื่นที่เป็นประโยชน์กับประชาชน โดยเฉพาะงบที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการประชาชน ในช่วงวิกฤตนี้ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนมาก" นายพิจารณ์ กล่าว