เกมถนัด งัดปราศรัย"เสี้ยมพปชร." ปชป.ขยี้ปม“ก๊วนล้มลุง-เลือกคนรวย”

เกมถนัด งัดปราศรัย"เสี้ยมพปชร." ปชป.ขยี้ปม“ก๊วนล้มลุง-เลือกคนรวย”

ความช่ำชองกลยุทธ์ปราศรัยหาเสียง ด้วยสำนวนโวหาร วาทกรรมการเมือง ของพรรคเก่าแก่ ที่เคยใช้ได้ผลในอดีต จะได้ผลอย่างไรหรือไม่ในยุคนี้ อีกไม่กี่อึดใจก็จะรู้กัน

งวดเข้ามาทุกขณะ สำหรับการหาเสียงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 1 ชุมพร ที่ต่างงัดทุกกลวิธีมาช่วงชิงคะแนนเสียงจนถึงนาทีสุดท้าย ก่อนหย่อนบัตรในวันอาทิตย์ที่ 16 ม.ค.นี้

ความน่าสนใจอีกอย่าง นอกจากการใช้ “กำลังภายใน” เป็นตัวขับเคลื่อนฐานทางการเมืองแล้วกลยุทธ์การ “ปราศรัยหาเสียง” ยังเป็นอีกปัจจัย หรือองค์ประกอบหนึ่งของความสำเร็จในสนามเลือกตั้ง ยังสร้างกระแสในโค้งสุดท้ายได้เป็นอย่างดี

 

การเผชิญหน้าของ 2 พรรคใหญ่ในสนามชุมพร “ประชาธิปัตย์” ที่ส่ง เสี่ยตาร์ท “อิสรพงษ์ มากอำไพ” ลงมารักษาพื้นที่ และ “พลังประชารัฐ” ที่มี ทนายแดง “ชวลิต อาญหาญ” เป็นฝ่ายท้าชิงถูกมองว่าเป็นมวยคู่เอก

 

แม้ตัวผู้สมัครทั้งคู่ จะหน้าใหม่ในเวทีการเมืองสนามใหญ่ก็ตาม แต่เบื้องหลังต่างฝ่ายต่างมีขุมกำลังที่แข็งแกร่ง มีดี มีข้อได้เปรียบกันคนละอย่าง

หากมองการตั้งเวทีปราศรัย ที่นับเป็นการห้ำหั่น ช่วงชิงความได้เปรียบได้เช่นกัน “พลังประชารัฐ” จึงเน้นโปรโมทโครงการรัฐบาล โดยเฉพาะ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราชนะ ซึ่งล้วนแต่เป็นนโยบายประชานิยมที่แจกเงินช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนเป็นหลัก และหวังผลเป็นคะแนนได้

หรือแม้แต่ การยกยอปอปั้น บิ๊กป้อม “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่าเป็นหัวหอกในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ แก้ปัญหาความยากจน เป็นต้น

ชนิดที่แทบจะไม่ได้ยินการให้เครดิต บิ๊กตู่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี จากบรรดาแกนนำพรรคพลังประชารัฐเลย

เข้าใจได้ว่า ชนวนเหตุอาจมาจากความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค ที่คาราคาซังกันมา อันสืบเนื่องจากความไม่ลงรอยกันในเรื่องของตำแหน่งรัฐมนตรี ที่ฝ่ายหลัง หวังจะอัพเกรดเก้าอี้ แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง จนนำมาซึ่งความพยายามในการเดินเกมล้มกระดานในสภา

ช่องโหว่ตรงนี้ทำให้ “ประชาธิปัตย์” มองเห็นจุดอ่อนความไม่เป็นเอกภาพของ “พลังประชารัฐ” จึงฉวยโอกาส หยิบมาเป็นประเด็นในการปราศรัย แซะปัญหาภายในของคู่ต่อสู้ มาเร้าอารมณ์คนใต้ผ่านหลายเวที ทั้งชุมพร เขต 1 และสงขลา เขต 6

แกนนำปราศรัยของประชาธิปัตย์ พยายามผูกโยงปมการเมืองในพรรคพลังประชารัฐเข้ากับ “พล.อ.ประยุทธ์” ได้อย่างแนบเนียน

เมื่อคีย์แมนพลังประชารัฐ เมินผลงานนายกฯ ประชาธิปัตย์จึงเล่นบทเห็นต่าง เพราะรู้ดีว่าชื่อชั้นของนายกฯ ประยุทธ์ ยังมีกระแสดี ในพื้นที่ภาคใต้พอสมควร เวทีปราศรัยจึงเน้นย้ำ ประเด็นการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกฯ ของประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ต้น

รวมถึงการเชื่อมโยงตรงนั้นตรงนี้เข้าด้วยกัน เช่น การเลือกตั้งครั้งนี้ แม้จะเลือกประชาธิปัตย์ เป็นส.ส.แต่ “พล.อ.ประยุทธ์” ก็ยังเป็นนายกฯ นโยบายต่างๆ อย่างเบี้ยจากบัตรสวัสดิการฯ ก็โอนเข้าบัญชีเหมือนเดิม เป็นต้น

รวมถึงการชูบทบาทของ “ลูกหมี” หรือ “ชุมพล จุลใส” อดีต ส.ส.ชุมพร เขต1 ที่ต้องตกเก้าอี้ จากวีรกรรมการเคลื่อนไหวในนามกลุ่ม “กปปส.” เพื่อต่อต้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยล้างผิดคนโกง แต่สุดท้ายต้องมารับชะตากรรมแบกรับคดีความอันหนักอึ้ง

ชื่อของ “ลูกหมี” ใน “ชุมพร” ยังมีมูลค่าทางการเมืองอยู่มาก โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านเกิด พรรคต้นสังกัดรู้ดีถึงจุดแข็งนี้ ดังนั้นหลายเวที ขุนพลประชาธิปัตย์จึงขนานนามการเลือกตั้งซ่อมสนามนี้ว่า “เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ลูกหมี จากการต่อสู้เพื่อชาติบ้านเมือง”

“สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ส.ส.ตรัง ในฐานะผอ.เลือกตั้งซ่อมชุมพร ขึ้นปราศรัยครั้งหนึ่ง ยกความดีความชอบให้ “ลูกหมี” ถึงความชัดเจนว่าสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์”เป็น “นายกฯ”ตั้งแต่ต้นทั้งๆ ที่พรรคยังไม่มีมติว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ด้วยซ้ำ

อีกหมัดเด็ดที่ “ประชาธิปัตย์”ปล่อยบนเวทีปราศรัยทิ่ม“พลังประชารัฐ”อย่างเจ็บแสบ คือการขยี้แผลใจของ “ขาใหญ่พรรคคู่แข่ง” ที่คิดล้ม“พล.อ.ประยุทธ์”เพื่อดัน“นาย”ตัวเองขึ้น ด้วยการไปจับมือกับคนแดนไกล

สะท้อนให้เห็นว่า “ประชาธิปัตย์” เข้าใจอารมณ์การเมืองคนใต้ขนาดไหน จึงฉายภาพขบวนการล้มผู้นำที่มีเรตติ้งในพื้นที่ และขุดภาพหลอนของอดีตนายกฯ บางรายขึ้นมาฉายซ้ำ เพราะรู้ดีว่าชื่อนี้กับคนใต้ ปลุกเมื่อไหร่ก็ขึ้นเมื่อนั้น

คืนวันศุกร์ 14 ม.ค.หัวหน้าอู๊ดด้า จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ขนทัพหลวงปราศรัยโค้งสุดท้าย หน้าอบจ.ชุมพร นำทีมถล่มหนักจนนึกว่าเป็นฝ่ายค้าน เพราะยก 3 เรื่องที่ค่ายสะตอต้องต่อสู้ในพื้นที่อำนาจเงิน อำนาจรัฐ ความไม่ชอบธรรมทางการเมือง ย้ำจุดพลาดพรรคคู่แข่ง ด้วยวาทกรรม“เลือกคนรวย” หมิ่นคนใต้

ฟาดต่อด้วยเรื่องมารยาทการเมือง ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล แม้ไม่เอ่ยชื่อพรรค แต่เหน็บแนมพฤติกรรม "สร้างความบาดหมางใจต่อกันโดยไม่จำเป็นในทางการเมือง... บางพรรคการเมืองเพิ่งเกิด อาจเข้าใจว่าการเมืองเป็นเรื่องของมือใครยาวสาวได้สาวเอา พรรคการเมืองบางพรรคคิดว่าคุณธรรมทางการเมืองในการทำงานร่วมกันในรัฐบาลผสม อาจจะไม่ใช่เรื่องจำเป็น" 

ความช่ำชองกลยุทธ์ปราศรัยหาเสียง ด้วยสำนวนโวหาร วาทกรรมการเมือง ของพรรคเก่าแก่ ที่เคยใช้ได้ผลในอดีต จะได้ผลอย่างไรหรือไม่ในยุคนี้ อีกไม่กี่อึดใจก็จะรู้กัน

ผลเลือกตั้งสนามซ่อมชุมพรครั้งนี้ จะเป็นคำตอบที่อาจบ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภาคใต้ในอนาคตได้หลายอย่าง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เสาไฟฟ้าเคยถูกเลือก และถูกล้มระเนนระนาดมาแล้ว