ชำแหละพิรุธ “โครงการช่องนนทรี” ชง สตง. สางปมใช้ “งบกลาง”
โครงการ “คลองช่องนนทรี” แม้เปิดตัวเฟส 2 ให้ประชาชนเข้าไปร่วมถ่ายภาพในเทศกาล “คริสต์มาส-ปีใหม่” ไปแล้ว ทว่ายังมีหลายประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม และค้างคาใจสาธารณชนบางส่วนอยู่ สุดท้ายต้องรอให้ สตง.เข้ามาสางเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับ “เงินหลวง” ก้อนนี้เสียที
เป็นอีกเงื่อนปมที่ กรุงเทพธุรกิจ ติดตามนำเสนอตรวจสอบมาอย่างต่อเนื่อง กรณีการตรวจสอบโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี งบประมาณรวม 980 ล้านบาท โดยใช้งบกลางของ กทม. มาดำเนินการอย่างน้อย 2 ช่วง (เฟส) รวมวงเงินกว่า 158 ล้านบาท ควบคู่ไปกับการตรวจสอบของคณะอนุกรรมาธิการ (อนุ กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามงบประมาณโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล เป็นประธาน
โครงการนี้มีการใช้ “งบกลาง” ของ กทม. มาดำเนินการแล้ว 2 เฟส โดยเริ่มดำเนินการจากเฟส 2 ก่อนคือ จากถนนสาทรถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 วงเงินงบประมาณ 80 ล้านบาท ประกาศราคากลาง 79.7 ล้านบาท มีบริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด เป็นผู้ยื่นเสนอราคารายเดียว และชนะไป โดยเสนอราคา 79 ล้านบาทถ้วน ต่ำกว่าราคากลาง 7 แสนบาท
ส่วนเฟส 1 จากถนนสุรวงศ์ถึงถนนสาธร วงเงินงบประมาณ 80 ล้านบาท ประกาศราคากลาง 79.9 ล้านบาท เปิดประกวดราคาไปแล้วเมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา มีเอกชนเข้ามาซื้อซอง 6 ราย แต่ไม่มีรายใดเสนอราคา กระทั่งเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา กทม. ออกประกาศ “ยกเลิก” การประกวดราคาโครงการดังกล่าวไป ลงนามโดย น.ส.อุทัยวรรณ คงรัตนวรรณ เลขานุการสำนักการโยธา ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เหตุผลว่า ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ กรุงเทพมหานครจึงขอยกเลิกประกาศดังกล่าว
เงื่อนปมที่น่าสนใจในโครงการนี้ นอกเหนือจากการตั้งข้อสังเกตของคณะอนุ กมธ.ดังกล่าว ทั้งเรื่องการเร่งรีบใช้ “งบกลาง” มาดำเนินการ และความคุ้มค่าของโครงการดังกล่าวแล้ว ยังมีประเด็นว่า โครงการดังกล่าวเคยถูกสภา กทม. “ตีตก” เกี่ยวกับการโยกงบประมาณมาดำเนินการแล้ว 1 ครั้งเมื่อต้นปี 2564 วงเงิน 980 ล้านบาท ทำให้ “บิ๊กวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. งัดไม้ตายใช้ “งบกลาง” มาดำเนินการแทน โดยอ้างตามข้อบัญญัติรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 ของ กทม. ในส่วนของค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนา กทม.
โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ “คลองช่องนนทรี” แบ่งออกเป็น 5 ช่วง (เฟส) ได้แก่ ใช้งบกลาง 2 เฟส คือ เฟสแรก ใช้งบกลาง วงเงิน 79.9 ล้านบาท เฟส 2 ใช้งบกลาง วงเงิน 79.7 ล้านบาท อีก 3 เฟสใช้งบประมาณจากข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 คือ เฟส 3 ใช้งบ 370 ล้านบาท เฟส 4 ใช้งบ 250 ล้านบาท และเฟส 5 ใช้งบ 200 ล้านบาท
- ไม่ใช่โครงการรีบเร่งไฉนต้องใช้ “งบกลาง”
คำถามที่ถูกตั้งดัง ๆ ไปยังคณะผู้บริหารของ กทม.คือ เหตุใดจึงเร่งรีบใช้ “งบกลาง” เพื่อมาดำเนินโครงการ 2 เฟสแรก รวมวงเงินอย่างน้อย 158 ล้านบาท เนื่องจากโครงการนี้ไม่ได้มีความ “รีบร้อน” หรือ “เร่งด่วน” ในการพัฒนา โดยถูกคณะอนุ กมธ.ตั้งข้อสังเกตว่า เพราะ “บิ๊กวิน” ต้องการอาศัยโครงการนี้ เพื่อใช้ในการ “หาเสียง” ท่ามกลางกระแส “เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” กำลังส่งกลิ่นแรงหรือไม่
- เอกชนผู้ชนะ คู่ค้า กทม. 1.6 พันล้าน
ขณะเดียวกันบริษัทเอกชนที่ชนะการประกวดราคาโครงการเฟส 2 คือ บริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด จากการตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างพบว่า เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ระหว่างปี 2544-2564 กว่า 93 สัญญา รวมวงเงินอย่างน้อย 1.7 พันล้านบาท หากนับเฉพาะที่เป็นคู่สัญญากับ “กทม.” พบว่า ระหว่างปี 2544-2564 อย่างน้อย 74 สัญญา รวมวงเงินไม่ต่ำกว่า 1.6 พันล้านบาท
บริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด มีเครือข่ายอยู่อีกอย่างน้อย 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท เค.จิรกิตต์ จำกัด เป็นคู่สัญญากับ กทม. วงเงินกว่า 351 ล้านบาท ส่วนบริษัท วรัตถ์ เจริญพานิช จำกัด เป็นคู่สัญญากับ กทม. กว่า 502 ล้านบาท
รวมทั้ง 3 แห่ง เป็นคู่สัญญางานรับเหมาก่อสร้าง และปรับปรุงต่าง ๆ ของ “กทม.” ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2.4 พันล้านบาท
- ยกเลิกประกวดราคาเฟสแรกทำล่าช้า
อีกเงื่อนปมคือ โครงการในเฟสแรกที่ใช้งบประมาณจาก “งบกลาง” และออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนเสนอราคาไปแล้ว แต่ท้ายที่สุดไม่มีเอกชนรายใดเสนอราคา ทำให้ต้องเลื่อนการทำโครงการเฟสแรกออกไปอีก ส่งผลให้เกิดความล่าช้ากับโครงการในภาพรวม
ที่สำคัญการดำเนินโครงการทั้งหมดนั้น ธนกร ไชยศรี รอง ผอ.สำนักงบประมาณ กทม.เคยตั้งโต๊ะแถลงชี้แจงว่า การจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ ไม่มีการเขียนขอบเขตของงาน (TOR) เพื่อเอื้อเอกชนรายใด และต้องดูคุณสมบัติ และเงื่อนไขในการประมูลอย่างรอบคอบ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ e-Bidding
“ยืนยันว่าการประมูลระมัดระวังอย่างมาก กระบวนการคำนวณราคากลางปฏิบัติตามระเบียบราคากลางของกรมบัญชีกลางเคร่งครัด ทุกอย่างเปิดเผยได้หมด” รอง ผอ.สำนักการโยธา กทม. ระบุ
ประเด็นคือ ในเมื่อโครงการนี้ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ วงเงินเฉียด 1 พันล้านบาท ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงในการเปิดประกวดราคา ไฉนจึงต้องใช้ “งบกลาง” ที่ถือเป็น “ความจำเป็นเร่งด่วน” มาดำเนินการด้วย และท้ายที่สุดโครงการเฟสแรกไม่มีเอกชนมาประกวดราคา ทำให้โครงการล่าช้าออกไป ดังนั้นการจัดทำโครงการด้วยงบประมาณ “ปกติ” สามารถทำได้เช่นกัน แต่ไฉนถึงดำเนินการด้วย “งบกลาง”
- บริษัทของที่ปรึกษา คว้างานรัฐ 59.5 ล้าน
อีกประเด็นที่หลายคนไม่ค่อยเอ่ยถึงคือ กรณี “ผู้ออกแบบ” โครงการดังกล่าว มาดำเนินการให้ “ฟรี” ไม่มีค่าใช้จ่าย โดย กชกร วรอาคม หนึ่งในที่ปรึกษาโครงการ ให้เหตุผลว่า “ไม่ได้คิดว่าค่าตอบแทนคือสิ่งแรกที่จะมาทำงานตรงนี้”
พร้อมระบุว่า ก่อนหน้านี้เคยช่วยเหลือ กทม.ออกแบบโครงการต่าง ๆ มาค่อนข้างเยอะ ทำงานกับ กทม.มาหลักสิบปี เคยทำงานร่วมกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร (อดีตผู้ว่าฯ กทม.) ไม่ได้รู้สึกว่า กทม.ต้องมาจ่ายเงินอะไรให้เรา ไม่ว่ารูปแบบไหนก็ตาม
แต่ที่น่าสนใจบริษัท แลนด์ โปรเซส จำกัด ที่มี กชกร เป็นกรรมการ เคยชนะการประกวดราคาโครงการจ้างออกแบบปรับปรุงสวนลุมพินีในวาระครบรอบ 100 ปี โดยวิธีคัดเลือก วงเงิน 49 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 มาแล้ว และบริษัทแห่งนี้ยังเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐอีก รวม 3 รายการ รวมวงเงิน 59.5 ล้านบาท
ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามว่า สาเหตุที่เข้ามาทำโครงการดังกล่าวในลักษณะ “ฟรี” เพื่อหวังผลอะไรในอนาคตหรือไม่?
- อนุ กมธ.เตรียมชง สตง.สอบต่อ
ตัดภาพกลับมาในชั้นการตรวจสอบของคณะอนุ กมธ.หลังจากทำหนังสือให้ พล.ต.อ.อัศวิน มาชี้แจงอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่เจ้าตัวไม่มา กลับส่งตัวแทนมาชี้แจงแทน คณะอนุ กมธ.เห็นว่า “ยังไม่เคลียร์” จึงให้ กทม.ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรมาอีกครั้งนั้น
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา กทม.ทำหนังสือชี้แจงดังกล่าวมายังคณะอนุ กมธ.แล้ว โดยแหล่งข่าวในคณะอนุ กมธ. ระบุว่า คำชี้แจงของ กทม.ยังไม่เคลียร์เหมือนเดิมเช่นกัน เป็นไปในลักษณะ “ถามช้าง ตอบม้า” เป็นต้น หลังจากนี้ จะดำเนินการรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานทั้งหมด โดยอาจจะส่งข้อมูลไปสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณของ กทม.ในส่วนนี้ต่อไป
ทั้งหมดคือ “เงื่อนปม” ของโครงการ “คลองช่องนนทรี” แม้ว่าจะเปิดตัวเฟส 2 ให้ประชาชนเข้าไปร่วมถ่ายภาพในเทศกาล “คริสต์มาส-ปีใหม่” ไปแล้วก็ตาม ทว่ายังมีหลายประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม และค้างคาใจสาธารณชนบางส่วนอยู่ สุดท้ายต้องรอให้ สตง.เข้ามาสางเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับ “เงินหลวง” ก้อนนี้เสียที