สมบัติ 3.5 พันล.-เปิด 28 บริษัท “อภิชัย เตชะอุบล” แต่งตัวรอร่วม “พรรคธรรมนัส”
สมบัติ 3.5 พันล้าน หนี้ 1.5 พันล้าน เปิดขุมข่ายธุรกิจ 28 บริษัท “เสี่ยโต” อภิชัย เตชะอุบล 2 ธุรกิจแวร์เฮ้าส์-ภัตตาคาร รายได้รวมปี 63 กว่าพันล้าน ก่อนสะพัดยื่นลาออก ส.ส.ปชป. แต่งตัวรอนั่งเลขาฯ “พรรคเศรษฐกิจไทย” ซบ “ธรรมนัส”
ณ เวลานี้ชื่อของ “พรรคเศรษฐกิจไทย” กำลังได้รับการจับตามองอย่างยิ่ง
เพราะเป็นชื่อพรรคที่ถูกโยนออกมา ภายหลัง “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับบรรดา ส.ส.-อดีต ส.ส.ในมือรวม 21 ราย ถูกขับพ้นจาก พปชร. ด้วยข้อหา กระทำผิดวินัยหรือจรรยาบรรณร้ายแรง เนื่องจาก “ข้อเสนอ” ของ ร.อ.ธรรมนัส นั้น คณะกรรมการบริหารพรรค พปชร.ไม่อาจดำเนินการได้ เพราะจะเสียหายทั้งระบบ ฉะนั้นเพื่อรักษาหลักการในเรื่องความมีเสถียรภาพและความเป็นเอกภาพ จึงมีมติขับออกจากพรรค ตามข้อบังคับพรรคข้อที่ 54 (5) ดังกล่าว
อ่านข่าว: เปิดเบื้องหลัง! มติ63เสียงขับ "ธรรมนัส-20ส.ส." ชนวนบีบรื้อใหญ่พปชร.
สำหรับข้อมูลของ “พรรคเศรษฐกิจไทย” กรุงเทพธุรกิจ นำมาเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้
อ่านข่าว: ทำความรู้จัก “พรรคเศรษฐกิจไทย” บ้านหลังใหม่ “ธรรมนัส-20 ส.ส.” หลังพ้น พปชร.
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ “ชื่อชั้น” ของบุคคลที่จะมา “ล่มหัวจมท้าย” กับ ร.อ.ธรรมนัส ในพรรคเศรษฐกิจไทย นอกเหนือจาก พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา “มือขวา” ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. ที่ถูกโยนออกมาแล้ว
ยังมีชื่อของ “อภิชัย เตชะอุบล” นักการเมืองชื่อดัง และหนึ่งใน “นายทุน” แห่ง “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ปัจจุบันเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. ลำดับที่ 18 โดยมีกระแสข่าวว่า นายอภิชัย เตรียมจะทำหนังสือลาออกจาก “พรรคสีฟ้า” ในอีก 1-2 วันนี้
เพราะสถานะทางการเมืองของนายอภิชัย ในพรรค ปชป.ตอนนี้ เรียกได้ว่า “สุ่มเสี่ยง” ไม่แพ้สถานะของ “ร.อ.ธรรมนัส” ในพรรค พปชร.ก่อนหน้านี้?
นายอภิชัย เตชะอุบล หรือ “เสี่ยโต” เป็นนักเรียนจบนอก ก่อนมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และโรงงานผลิตแวร์เฮ้าส์ในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงเป็นเจ้าของกิจการบุฟเฟ่ต์ชื่อดัง เช่น Hot Pot ไดโดมอน เป็นต้น
หลังจากนั้นเจ้าตัวเบี่ยงเข็มจากทำธุรกิจ มาลงเล่นการเมือง โดยเริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี ในปี 2552-2554 ก่อนจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรก แบบปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 64 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง กระทั่งในปี 2562 ขยับขึ้นมาเป็นลำดับที่ 18 และได้รับการเลือกตั้งอย่างฉิวเฉียดเข้ามาเป็น ส.ส.สมัยแรกเต็มตัว รวมถึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเหรัญญิกพรรค ตามโครงสร้างกรรมการบริหารพรรคใหม่ยุค “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” เป็นหัวหน้าพรรค
อย่างไรก็ดีว่ากันว่า เจ้าตัวอยากเป็น “พ่อบ้าน” นั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคมากกว่า ทว่าตำแหน่งนี้ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน ผู้มากบารมีในพรรค “ตัวจริง” จองเอาไว้ก่อนแล้ว ทำให้ “อภิชัย” ต้องกระเด็นมาเป็น “เหรัญญิกพรรค” แทน
เรื่องนี้สร้างความขุ่นเคืองให้กับ “อภิชัย” ไม่น้อย แต่เลือกระงับอารมณ์ไว้ เพราะคิดว่ายังมีโอกาสหน้า ทว่าหลังจากนั้นบทบาทของเจ้าตัวในพรรคเริ่มลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ เนื่องจากถูกมองเป็นเพียง “นายทุน” ของพรรค มิใช่หนึ่งในบรรดา “ผู้นำ” ของพรรค ส่งผลให้เริ่มตีตัวออกห่างกลุ่ม “จุรินทร์-เสี่ยต่อ”
กระทั่งช่วงเดือน มี.ค. 2563 “อภิชัย” ทำหนังสือลาออกจากตำแหน่งเหรัญญิกพรรค ปชป. โดยอ้างว่าติดภารกิจเยอะ แต่ยังไม่ลาออกจากการเป็น ส.ส. ยังคงเข้าไปทำหน้าที่ในสภาฯอยู่ แต่หลายครั้งหลายครามัก “โหวตสวน” หรือ “งดออกเสียง” มติของพรรค ปชป. จนถูกค่อนขอดว่าอาจกลายเป็น “งูเห่า” หรือไม่
กระทั่ง “ฟางเส้นสุดท้าย” มาถึงในศึก “ซักฟอกฉาว” กับขบวนการ “ล้มนายกฯ” ของ ร.อ.ธรรมนัส “อภิชัย” เป็นหนึ่งใน 3 ส.ส.ที่ลงมติ “งดออกเสียง” ไว้วางใจ “จุรินทร์” ที่เป็นหัวหน้าพรรค ปชป. นั่นจึงทำให้เจ้าตัวแทบจะหมดอนาคตในพรรคไปทันที อย่างน้อยก็จนกว่ากลุ่ม “จุรินทร์-เสี่ยต่อ” จะหมดอำนาจ
จึงทำให้ในรอบนี้ชื่อของ “อภิชัย” ถูกโยนออกมากลางสปอร์ตไลท์ทางการเมืองว่า อาจขยับได้นั่งเก้าอี้ “เลขาธิการพรรค” สมใจเจ้าตัวใน “พรรคเศรษฐกิจไทย” ที่มี พล.อ.วิชญ์ เป็นหัวหน้า ร.อ.ธรรมนัส เป็นรองหัวหน้า รวมถึงบรรดา 21 ส.ส.-อดีต ส.ส.กลุ่ม “ผู้กอง” มาเป็นโครงสร้างกรรมการบริหารพรรค
แต่จนถึง ณ วันที่ 20 ม.ค. 2565 ยังไม่มีการยอมรับหรือปฏิเสธจากนายอภิชัยถึงกระแสข่าวดังกล่าวว่าจริงหรือไม่
ในมุมสมบัติส่วนตัว นายอภิชัย แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อปี 2562 ว่า มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 3,593,168,031 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 1,544,368,296 บาท
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2565 พบว่า นายอภิชัย เตชะอุบล เป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 28 แห่ง ยังดำเนินกิจการอยู่ 21 แห่ง ทั้งกิจการอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม กิจกรรมทางการเงินและประกันภัย การขายส่งและขายปลีก ร้านอาหาร รวมทุนจดทะเบียนหลายพันล้านบาท
โดย 2 บริษัทหลักของ “เสี่ยโต” คือ
1.บริษัท เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JCK ประกอบธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปหรือแวร์เฮาส์ ในนิคมอุตสาหกรรม และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2534 ทุนปัจจุบัน 4,438,806,550 บาท (ชำระแล้ว 2,375,930,136 บาท) มีคนสกุล “เตชะอุบล” เป็นผู้บริหารหลัก โดยมี “เสี่ยโต” อภิชัย เตชะอุบล เป็นประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร รวมถึงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุด จำนวน 17.31% หรือ 375,896,456 หุ้น
นำส่งงบการเงินล่าสุด ไตรมาส 3/2564 (วันที่ 30 ก.ย. 2564) มีรายได้รวม 416.81 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 93.22 ล้านบาท ส่วนปี 2563 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 415.33 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 309.45 ล้านบาท
2.บริษัท เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ JCKH ประกอบธุรกิจอาหารเป็นหลักแบรนด์ฮอทพอท ไดโดมอน ร้านอาหารจีน Zheng Dou ร้านอาหารอิตาเลียน Signor Sassi เป็นต้น จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2555 ทุนปัจจุบัน 537,448,425 บาท (ชำระแล้ว 370,355,833 บาท) มีคนสกุล “เตชะอุบล” เป็นผู้บริหารหลัก โดยมี “เสี่ยโต” เป็นประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร และผู้ถือหุ้นใหญ่สุดเช่นเดียวกันที่ 23.14% หรือ 276,472,784 หุ้น
นำส่งงบการเงินล่าสุด ไตรมาส 3/2564 (วันที่ 30 ก.ย. 2564) มีรายได้รวม 297.72 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 164.69 ล้านบาท ส่วนปี 2563 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 701.37 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 142.01 ล้านบาท
ส่วนบริษัทที่มีรายได้ช่วงปี 2563 หลักหลายสิบล้านบาท-หลักพันล้านบาทมีอย่างน้อย 7 แห่ง ได้แก่
1.บริษัท บีจีวาย แอนด์ ทีเอฟดี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย รายได้รวม 1,476,500,726 บาท กำไรสุทธิ 67,023,785 บาท
2.บริษัท เจซี เควิน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ธุรกิจโรงแรม,ร้านอาหารและภัตตาคาร รายได้รวม 178,371,897 บาท ขาดทุนสุทธิ 223,258,811 บาท
3.บริษัท เจซีเค ยูทิลิตี้ส์ จำกัด ทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ให้เช่าโรงงานอุตสาหกรรม) รายได้รวม 155,346,596 บาท ขาดทุนสุทธิ 7,741,901 บาท
4.บริษัท ริมน้ำบางปะกง จำกัด ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รายได้รวม 16,193,063 บาท กำไรสุทธิ 213,314 บาท
5.บริษัท ล็อบสเตอร์ เพาเวอร์ จำกัด ทำธุรกิจการบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร รายได้รวม 53,584,068 บาท ขาดทุนสุทธิ 5,001,236 บาท
6.บริษัท โนเนม ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ จำกัด ทำธุรกิจการบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร รายได้รวม 72,690,398 บาท กำไรสุทธิ 7,173,086 บาท
7.บริษัท ไฮแอคทีฟคอนซัลแตนท์ จำกัด ทำธุรกิจภัตตาคาร ร้านขายอาหาร และเครื่องดื่ม รายได้รวม 12,575,621 บาท ขาดทุนสุทธิ 12,691,528 บาท