ส่อง "พรรคการเมือง" หน้าใหม่ใครเป็นใคร จัดทัพพร้อมรับเลือกตั้ง!
เช็คลิสต์ "พรรคการเมือง" หน้าใหม่เปิดตัวจัดทัพใหญ่ รองรับอุบัติเหตุยุบสภา เตรียมพร้อมการเลือกตั้งอีกไม่เกิน 2 ปี
สถานการณ์ทางการเมืองที่เข้มข้นตั้งแต่ต้นปี 2565 สำหรับกรณีพรรคพลังประชารัฐ มีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พร้อม ส.ส.ในกลุ่มออกจากการเป็นสมาชิกพรรครวม 21 คนท่ามกลางกระแสที่เกิดขึ้นว่า ส.ส.กลุ่มนี้เตรียมย้ายไปลงหลักปักฐานใหม่ในพรรคการเมืองที่ชื่อว่า "พรรคเศรษฐกิจไทย"
สำหรับโครงสร้างพรรคเศรษฐกิจไทย(ศท.) ตามกระแสที่ออกมาจะมีพล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หรือ "บิ๊กน้อย" อดีตประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ เป็นหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ขณะที่ร.อ.ธรรมนัส จะเป็นรองหัวหน้าพรรค และนายอภิชัย เตชะอุบล เป็นเลขาธิการพรรค
พรรคเศรษฐกิจไทยเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่ได้รับการอนุมัติจดทะเบียนจัดตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2563 ปัจจุบันนี้มีสมาชิก 8,736 คน มีสาขาพรรค 7 แห่ง มีที่ตั้งพรรคอยู่ในซอยมหาดเล็กหลวง 3 ถนนราชดำริ แขวงลุมพินีเขตปทุมวัน กทม.
การเคลื่อนไหวก่อตั้งพรรคการเมืองตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าเตรียมพร้อมการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นตามวาระในปี 2566 ทำให้ที่ผ่านมา "กลุ่มการเมือง" ได้เร่งเดินหน้าจดแจ้งชื่อพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเตรียมพร้อมเหตุยุบพรรค การเป็นพรรคสาขา หรือเป็นฐานที่มั่นใหม่รองรับอุบัติเหตุทางการเมืองในวันข้างหน้า
ตรวจสอบไปที่ฐานข้อมูล "กกต." (อัพเดท 31 ธ.ค.2564) พบว่าปัจจุบันมีพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ทั้งหมด 84 พรรคการเมือง โดยพรรคล่าสุดที่จดแจ้งกับ กกต.คือพรรค "ไทยสร้างสรรค์"
สำหรับพรรคการเมืองใหม่ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะมีความเคลื่อนไหวสำคัญ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมมาได้ดังนี้
พรรคเศรษฐกิจไทย :
พรรคเศรษฐกิจไทย ได้รับการอนุมัติจดทะเบียนจัดตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2563 มีคณะกรรมการบริหารพรรคชุดก่อตั้ง 18 ราย อาทิ นายประสงค์ วรารัตนกุล หัวหน้าพรรค มีรองหัวหน้าพรรค 3 ราย นายเชตะวัน อนันตสมบูรณ์นายกัมพล ติยะรัตน์ นางรัชนี ศิวเวชช มีนายเมธาวี เนตรไสว เลขาธิการพรรค น.ส.ปุณิกา เศณษฐกุลดี
แต่ขณะนี้ยังมีกระแสถึงพล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา คนใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย มีนายอภิชัย เตชะอุบล ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมจะลาออกไปนั่งเลขาธิการพรรค และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรองหัวหน้าพรรค
พรรคกล้า :
พรรคกล้า ได้รับการอนุมัติจดทะเบียนจัดตั้งจาก กกต.เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2563 มีคณะกรรมการบริหารพรรค 9 คน อาทิ กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรค วรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรค ภิมุข สิมะโรจน์ รองหัวหน้าพรรค พงศ์พรหม ยามะรัต รองหัวหน้าพรรค
สำหรับ "พรรคกล้า" เป็นพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่ถูกจับตามอง ภายหลังนายกรณ์และนายอรรถวิชช์ ลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เมื่อเดือน ม.ค.2563 มาตั้งพรรคการเมือง โดยพรรคกล้าประกาศนโยบายที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และที่ผ่านมาได้ส่งผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมมาแล้ว 4 สนามที่นครศรีธรรมราช สงขลา ชุมพร และ กทม.(หลักสี่)
พรรคไทยสร้างไทย :
พรรคไทยสร้างไทย ได้รับการอนุมัติจดทะเบียนจัดตั้งจาก กกต.เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2564 มีคณะกรรมการบริหารพรรค 12 คน อาทินายสอิสร์ โบราณ หัวหน้าพรรค นายวัลลภ ไชยไธสง เลขาธิการพรรค นายจิตพล นาควรินทร์ รองหัวหน้าพรรค นายวัฒนะวิชช์บุญรอด รองหัวหน้าพรรค นางชญามนต์ จงเทพ รองเลขาธิการพรรค
สำหรับ "พรรคไทยสร้างไทย" เป็นพรรคการเมืองที่ขับเคลื่อนโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งที่ผ่านมาได้รวบรวมนักการเมืองที่ใกล้ชิดมานั่งในตำแหน่งคณะกรรมการของพรรค 5 ด้าน ดังนี้
- คณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ นายโภคิน พลกุล เป็นประธาน
- คณะกรรมการกฎหมายและการเมือง นายวัฒนา เมืองสุข เป็นประธาน
- คณะกรรมการบริหารพื้นที่นายพงศกร อรรณนพพร เป็นประธาน
- คณะกรรมการอำนวยการและพัฒนาพรรค น.ต.ศิธา ทิวารี เป็นประธาน
- 5.คณะกรรมการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น เป็นประธานคณะกรรมการต่างประเทศ
พรรคไทยภักดี :
พรรคไทยภักดี ได้รับการอนุมัติจดทะเบียนจัดตั้งจาก กกต.เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2564 มีคณะกรรมการบริหารพรรค 6 คน ประกอบด้วย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรค นายวิชัย ล้ำสุทธิ เลขาธิการพรรค นายพันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ เหรัญญิกพรรค นายปฏิยุทธ ทองประจง นายทะเบียนสมาชิกพรรค นายพุฒิพงศ์ สงวนวงศ์ชัย กรรมการบริหารพรรค นายวสันต์ มีวงษ์ กรรมการบริหารพรรค
สำหรับ "พรรคไทยภักดี" เป็นอีกพรรคการเมืองที่มีความเคลื่อนไหวมาจากนพ.วรงค์ ภายหลังลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์เมื่อเดือน พ.ย.2562 แล้วไปเข้าร่วมกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นแกนนำก่อตั้งพรรค ต่อมาได้ลาออกจากสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทยเมื่อเดือน มิ.ย.2563 เพื่อมาตั้งพรรคไทยภักดี
พรรคสร้างอนาคตไทย :
เป็นพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่ถูกจับตามองตั้งแต่ต้นปี 2565 โดยเมื่อวันที่ 19 ม.ค.2565 เวิล์ด นายอุตตม สาวนายน อดีตรมว.คลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรมว.พลังงาน นำเปิดตัวพรรคสร้างอนาคตไทย และเปิดตัวสมาชิกพรรคอาทิ นายสุพล ฟองงาม อดีต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ นายสันติ กีรนันท์ อดีต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
การเปิดตัว "พรรคสร้างอนาคตใหม่" ครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังนายอุตตม นายสนธิรัตน์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2563 เพื่อมาตั้งพรรคการเมืองขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ
ไม่ใช่แค่นั้น "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมรายชื่อพรรคการเมือง ที่จดจัดตั้งกับ กกต.อย่างเป็นทางการ ภายหลังการเลือกตั้งใหญ่วันที่ 24 มี.ค.2562 ถึง25 ต.ค.2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 24 พรรค สามารถแบ่งรายปีได้ดังนี้
ปี 2562
- พรรคสร้างชาติ (สช.) จัดตั้ง 8 ก.ค.2562
- พรรคเพื่ออนาคตไทย (พอท.) จัดตั้ง 7 พ.ย.2562
ปี 2563
- พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) จัดตั้ง 7 เม.ย.2563
- พรรคเส้นทางใหม่ (สทม.) จัดตั้ง 7 เม.ย.2563
- พรรคก้าวใหม่ (พ.ก.ม.) จัดตั้ง 14 เม.ย.2563
- พรรคไทยรวมไทย (ทรวท.) จัดตั้ง 22 มิ.ย.2563
- พรรคกล้า (ก.) จัดตั้ง 29 มิ.ย.2563
- พรรครวมพลังคนรุ่นใหม่ (รพม.) จัดตั้ง 10 ส.ค.2563
- พรรคยุทธศาสตร์ชาติ (ย.ศ.ช.) จัดตั้ง 10 ส.ค.2563
ปี 2564
- พรรคสหประชารัฐ (สปร.) จัดตั้ง 10 มี.ค.2564
- พรรคพลังสังคมใหม่ (พ.ส.ม.) จัดตั้ง 17 มี.ค.2564
- พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) จัดตั้ง 23 มี.ค.2564
- พรรคมิติใหม่ (มต.) จัดตั้ง 31 มี.ค.2564
- พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จัดตั้ง 31 มี.ค.2564
- พรรคมวลชนสยาม (มชส.) จัดตั้ง 21 เม.ย.2564
- พรรคเพื่อประชาชน (พป.) จัดตั้ง 12 พ.ค.2564
- พรรคพลังสยาม (พส.) จัดตั้ง 12 พ.ค.2564
- พรรคไทยรักกัน (ทรก.) จัดตั้ง 12 พ.ค.2564
- พรรคไทยภักดี (ทภด.) จัดตั้ง 24 ส.ค.2564
- พรรคแนวทางใหม่ (นทม.) จัดตั้ง 24 ส.ค.2564
- พรรคเสมอภาค (สมภ.) จัดตั้ง วันที่ 24 ส.ค.2564
- พรรคไทยชนะ (ทช.) จัดตั้ง 31 ส.ค.2564
- พรรคเพื่อไทรวมพลัง (พทล.) จัดตั้ง 25 ต.ค.2564
- พรรคไทยสร้างสรรค์ (ท.ส.ส.) จัดตั้ง 25 ต.ค.2564
ปี 2565
- ยังไม่มีการประกาศจาก กกต.
มาที่ข้อมูล "พรรคการเมือง" ในสภาฯ อัพเดท 20 ม.ค.2565 มีทั้งหมด 24 พรรคการเมือง ส.ส.ทำหน้าที่ 475 คน หยุดปฏิบัติหน้าที่ 9 คน พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.12 คน ลาออก 1 คน รอเลือกตั้ง 3 คน และรอสังกัดพรรคใหม่ 21 คน โดยแบ่งเป็นดังนี้
ฝ่ายรัฐบาล 17 พรรคมี ส.ส.235 คน ประกอบด้วย
- พรรคพลังประชารัฐ 96 คน
- พรรคภูมิใจไทย 59 คน
- พรรคประชาธิปัตย์ 49 คน
- พรรคชาติไทยพัฒนา 12 คน
- พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 คน
- พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 คน
- พรรคพลังท้องถิ่นไท 5 คน
- พรรคชาติพัฒนา 4 คน
ฝ่ายค้าน 7 พรรคมี ส.ส.207 คน ประกอบด้วย
- พรรคเพื่อไทย 131 คน
- พรรคก้าวไกล 52 คน
- พรรคเสรีรวมไทย 10 คน
- พรรคประชาชาติ 7 คน
- พรรคเพื่อชาติ 6 คน
- พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน
- พรรคไทยศรีวิไลย์ 1 คน
อยู่ระหว่างตัดสินใจ 31 คน ประกอบด้วย
- กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส 21 คน
- พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 คน
- พรรคพลังชาติไทย 1 คน
- พรรคประชาภิวัฒน์ 1 คน
- พรรคเพื่อชาติไทย 1 คน
- พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 คน
- พรรคพลเมืองไทย 1 คน
- พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 คน
- พรรคพลังธรรมใหม่ 1 คน
- พรรคไทรักธรรม 1 คน
ทั้งหมดเป็น "ฐานข้อมูล" พรรคการเมืองไทยที่ก่อตั้งใหม่ตั้งแต่ 2562-2564 และพรรคที่ดำเนินกิจการทางการเมือง รวมถึงตัวเลขพรรคการเมืองที่มีที่นั่ง ส.ส.ในสภาขณะนี้