"ชัชชาติ" ผุดตั้ง สภากาแฟ 50เขต กทม. หวังเป็นช่องทางรับปัญหาคนกรุง
ชัชชาติ ลงพื้นที่ฟังปัญหาประชาชนเขตราชเทวี พร้อมผุดไอเดีย ทำนโยบายแก้ปัญหาสาธารณสุข แชร์พื้นที่ราชการให้ประชาชนใช้บริการ พร้อมเตรียมเปิดสภากาแฟ กทม. หวังเป็นช่องทางรับปัญหาคนกรุง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำทีมอาสาเมือง เพื่อนชัชชาติ ลงสำรวจความคิดเห็นและรับฟังปัญหารวมถึงข้อเรียกร้องของประชาชน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ ซอยพญานาค ซอยกิ่งเพชร ซอยเจริญผล ถนนเพชรบุรี และสำรวจลานกีฬาพัฒน์ 2 ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่สาธารณะใต้ทางด่วน เป็นพื้นที่ออกกำลังกายและลานกิจกรรมระดับชุมชน
ทั้งนี้นายชัชชาติ กล่าวว่า เขตราชเทวีเป็นย่านพานิชยกรรมและย่านที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน ที่มีผู้คนอาศัยอย่างหนาแน่น มีศักยภาพด้านการเดินทาง เนื่องจากมีรถไฟฟ้าและคลองแสนแสบ นอกจากนี้ ยังมีย่านแหล่งการแพทย์ที่หนาแน่นที่สุดในประเทศไทยบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และย่านวัฒนธรรมมุสลิมบริเวณซอยเพชรบุรี 7 ที่ก่อให้เกิดการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับเมืองได้
"จากการสำรวจปัญหาในพื้นที่ผ่านแอปพลิเคชันทราฟฟีฟองดู ร่วมกับการสำรวจของกลุ่มอาสาเมืองเขตราชเทวี จำนวน 77 คน พบว่า ยังพบปัญหาหลายข้อ ได้แก่ ปัญหาทางเท้าแคบ ชำรุด มีสิ่งกีดขวาง ไฟฟ้าส่องสว่างไม่ทั่วถึง การจราจรติดขัด ถนนชำรุด น้ำคลองแสนแสบเน่าเสีย ปัญหามลพิษทางอากาศ และขาดพื้นที่สาธารณะ" นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ ยังกล่าวถึงนโยบายเขตราชเทวี ครอบคลุมทั้งประเด็นสาธารณสุข ความปลอดภัย พื้นที่สาธารณะ และการเดินทางเชื่อมต่อ อาทิ เพิ่มศูนย์บริการสาธารณสุข และเพิ่มศักยภาพศูนย์ฯเดิม โดยดึงเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม, เปิดรั้วสถานที่ราชการให้ประชาชนเข้าไปใช้งานพื้นที่สีเขียว ทำระบบแชร์ พาร์กกิง (Shared Parking) แก้ปัญหาการจอดรถริมทาง เพื่อให้รถฉุกเฉิกใช้ถนนได้คล่องตัว, ตรวจเช็คหัวดับเพลิงสม่ำเสมอและกำหนดจุดรวมพลสำหรับเหตุเพลิงไหม้ และ พัฒนาที่หยุดรถพญาไท ตลอดจน จุดเชื่อมต่อการสัญจรให้สะดวกสบาย
"นโยบายระดับเขตสำคัญยิ่งต่อการพัฒนากรุงเทพมหานคร และนโยบายเขตราชเทวีที่ได้นำเสนอ ล้วนมาจากเสียงสะท้อนของผู้อาศัยในพื้นที่ ในฐานะผู้รู้และอยู่ใกล้ชิดปัญหาดีที่สุด" นายชัชชาติ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันอังคารที่ 25 มกราคม 2565 นายชัชชาติ เตรียมเปิด “สภากาแฟ เพื่อนชัชชาติ” ในตั้งเป้ากระจายในพื้นที่อย่างน้อย 50 เขตทั่ว กทม. เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มรับฟังความคิดเห็น และจัดทำนโยบายรายเขตจากกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้คนอย่างแท้จริง.