"พลังป้อม" เป๋ "พปชร." พ่ายยับเลือกซ่อมหลักสี่ ไฟต์บังคับ รีแบรนด์ ยกใหญ่
ภาพลักษณ์พรรคที่ติดลบในสายตาของคนทั่วไป ถือเป็นโจทย์ใหญ่ และเรื่องยาก แต่หากยังปล่อยให้พรรคเดินหน้าต่อไปเช่นนี้ ยิ่งจะเป็นการยากที่จะประสบความสำเร็จในการ "เลือกตั้งใหญ่" ครั้งต่อไป
เผชิญบททดสอบครั้งสำคัญ สำหรับพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อย่าง "พลังประชารัฐ" ภายใต้การนำของหัวหน้าพรรค "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกรัฐมนตรี
ที่ประสบความล้มเหลวในการนำทัพลุยเลือกตั้งซ่อม 3 สนามที่ผ่านมา ประเดิมด้วยความพ่ายแพ้ ที่ ชุมพร และสงขลา อย่างราบคาบ ก่อนจะพบความปราศรัยส่งท้ายที่สังเวียน หลักสี่-จตุจักร
ทั้งที่ "พล.อ.ประวิตร" เคยลั่นวาจาปลุกขวัญลูกพรรค ตั้งเป้าต้องชนะ เหมาหมดทั้ง3เขต ปรากฎว่าผลกลับพลิกผันล้มคว่ำไม่เป็นท่า ถึงแม้จะมีปัจจัย ทรัพยากร และอำนาจในมือล้นเหลือ
อะไรที่ส่งผลให้ความนิยมของพลังประชารัฐ ถดถอย ก็มีข้อสังเกตว่าประเด็นความขัดแย้งภายในพรรค ส่งผลสะเทือนต่อการขับเคลื่อนการเมืองในภาพใหญ่ ดังที่ปรากฎ
เมื่อพลังประชารัฐ บอบช้ำอย่างหนักจากการเลือกตั้งซ่อม 3 สนามนี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ถึงเวลาที่พรรคต้องกู้วิกฤติศรัทธาโดยด่วน ก่อนที่การเลือกตั้งใหญ่จะมาถึง
ต้องยอมรับว่า การขับเคลื่อนของพรรคพลังประชารัฐ ทุกอย่างขึ้นตรงกับ "พล.อ.ประวิตร" ที่สามารถกำหนดทิศทางได้ตามต้องการ ถึงแม้จะมีกรรมการบริหารพรรค หรือโครงสร้างพรรคตามรูปแบบของพรรคการเมืองทั่วไปก็ตาม แต่วิธีการทำงานนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิง
พลังประชารัฐ วันนี้ กำลังขาดเสน่ห์ ในการที่จะครองใจประชาชน โดยเฉพาะเกมการเมือง การวัดพลังกันภายในพรรคของแกนนำแต่ละกลุ่ม กระทบความเชื่อมั่นอย่างเห็นได้ชัด บุคลากรหลายคนที่ต้องพ่ายแพ้จากความขัดแย้ง ต้องเก็บข้าวของแยกย้ายกันไปคนละทิศคนละทางจำนวนมาก
องค์ประกอบภายในพรรคขณะนี้ จึงขาดทั้งความเชื่อมั่น และขาดขุมกำลังระดับมันสมอง ที่ช่วยปลุกปั้นนโยบายเพื่อมช้เป็นจุดขาย นอกจากนั้น พลังประชารัฐ ยังบุคคลที่เป็นแม่เหล็ก ที่ใช้ดึงความนิยมให้กับพรรค
สะท้อนชัดว่า ขนาดพื้นที่ฐานเสียงสำคัญของพลังประชารัฐ ในกทม. และภาคใต้ กระแสกลับไม่ได้ทะยานไปมากกว่าเมื่อครั้ง เลือกตั้ง ปี62 แต่อย่างใด อาจจะด้วยปัจจัยเรื่องสภาพสังคมเศรษฐกิจ และการบริหารงานของรัฐบาล ซึ่งมีส่วนฉุดรั้งตรงนี้
ดังนั้น การรีแบรนด์พลังประชารัฐ เลยเป็นไฟต์บังคับให้ผู้บริหารพรรคต้องคิดและตัดสินใจอย่างรวดเร็ว เพราะคงประจักษ์แล้วว่า ความคิดความอ่านของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
การปรับโครงสร้างการบริหารพรรค เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การทำให้ประชาชนรู้สึกมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ดึงคนเก่งเสริมทัพ
ภาพลักษณ์พรรคที่ติดลบในสายตาของคนทั่วไป ถือเป็นโจทย์ใหญ่ และเรื่องยาก แต่หากยังปล่อยให้พรรคเดินหน้าต่อไปเช่นนี้ ยิ่งจะเป็นการยากที่จะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไป