แกะรอย “260 เสียง”ค้ำรัฐบาล   คะแนนไว้วางใจ "ประยุทธ์-ภท.” 

แกะรอย “260 เสียง”ค้ำรัฐบาล    คะแนนไว้วางใจ "ประยุทธ์-ภท.” 

ตัวเลข260ส.ส. ที่อยู่ในโพยของ "อนุทิน" ที่แสดงต่อหน้า "ประยุทธ์" เขาบอกว่าคือ เสียงสนับสนุนรัฐบาล ให้อยู่ครบเทอม ความน่าสนใจคือ 260เสียงนั้น เป็นตัวเลขจริงหรือหลอก หวังผลต่อรองอะไรหรือไม่?

          เมื่อสถานการณ์ “ล่มสภาฯ” กลายเป็นปัจจัยสำคัญทางการเมือง และอาจเป็นชนวนที่จุดกระแส “ยุบสภา” ท่ามกลางภาวะขาลงของรัฐนาวา “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

 

          แน่นอนว่า เกมล่มสภาฯ ของ “ฝ่ายค้าน” ที่ใช้เป็นไม้เด็ด หรืออีกนัยหนึ่งคือตรวจสอบน้ำยาของ "ฝ่ายรัฐบาล​" ว่าจะเป็นเสียงข้างมากที่แข็งแกร่ง ค้ำยันเก้าอี้นายกรัฐมนตรีได้สักกี่น้ำ

 

          ตัวเลขของ ส.ส.ในสภาฯ ปัจจุบันมีผู้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งหมด 474 คน แบ่งเป็น ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน 208 เสียง พรรคร่วมรัฐบาล 263 เสียง ซึ่งรวมเสียงของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทยด้วย และ ส.ส.ที่รอสังกัดพรรคอีก 3 ราย ซึ่งตัวเลขของ ส.ส.ที่จะใช้เป็นองค์ประชุมคือ 238 เสียง ดังนั้นขั้วรัฐบาลจะมีเสียงที่เกินกึ่งหนึ่งอยู่ทั้งสิ้น 25 เสียง 

 

          จำนวนเสียงที่ไม่ห่างกันมากนัก ทำให้ฝ่ายค้านมักจะใช้เกมตรวจสอบองค์ประชุมเล่นงานรัฐบาลเป็นระยะ และยิ่งกว่าเกมนับองค์ประชุม สิ่งที่ “ผู้นำรัฐบาล”อาจต้องเสี่ยงหนักคือ “การลงมติไม่ไว้วางใจ” ที่สมัยประชุมหน้า ระหว่าง 22 พฤษภาคม - 18 กันยายน 2565 ฝ่ายค้านวางไทม์ไลน์ในปฏิทินการเมือง เตรียมยื่นญัตติเพื่อ "โค่นประยุทธ์” กลางสภาให้ได้

แกะรอย “260 เสียง”ค้ำรัฐบาล    คะแนนไว้วางใจ \"ประยุทธ์-ภท.” 

           แน่นอนว่า ผู้นำรัฐบาลที่ต้องอาศัยผู้นำพรรคการเมือง หรือกลุ่มก้อนการเมืองย่อมกังวลถึงเสถียรภาพรัฐบาล จึงเป็นสิ่งที่ “พล.อ.ประยุทธ์” สะท้อนกลางวงหารือนอกรอบกับแกนนำรัฐบาล หลังการประชุม ศบค. เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ ว่า “การแก้ปัญหาสภาล่มมีทางเลือกไม่มาก”

 

          โดย 1 ใน 5 รัฐมนตรีที่ร่วมวง พูดสวนต่อหน้านายกฯ ทันทีว่า “นายกฯ มีทางเลือกเดียว คืออยู่ครบเทอม และไม่ต้องห่วงจำนวน ส.ส. หากฝ่ายค้านซักฟอกจะรวมเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง แต่เสียงสนับสนุนนายกฯ​ มีไม่น้อยกว่า 260 เสียง"

          เจ้าของประโยคนี้ “อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย" ได้การันตีความไม่มั่นคงของรัฐบาล ในวงที่ไม่มีเงาของ “ประวิตร วงษ์สุวรรณ” พี่ใหญ่ 3 ป. หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ร่วมรับรู้ด้วย

 

           สปอตไลต์การเมืองจึงถูกฉายไปที่ตัวเลข 260 เสียง ที่ภูมิใจไทยไม่นับรวมกับ 16 ส.ส.ในก๊วนของ “ร.อ.ธรรมนัส” จึงถูกโฟกัสไปยัง ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่จะถูกดึงมาเติมเสียงสนับสนุนแทน

แกะรอย “260 เสียง”ค้ำรัฐบาล    คะแนนไว้วางใจ \"ประยุทธ์-ภท.” 

           สำหรับตัวเลขที่อ้างอิงถึงจำนวน ส.ส.260 เสียง กำลังถูกประเมินว่า เป็นเสียงที่ “อนุทิน” ได้คะแนนความไว้วางใจ เมื่อครั้งถูกเปิดศึกซักฟอกรัฐบาลปลายปีที่แล้ว 

 

           เมื่อแกะรอยคะแนนเสียงไว้วางใจแกนนำพรรคภูมิใจไทยทั้ง “อนุทิน” รองนายกฯ รมว.สาธารณสุข และ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรค ในการอภิปรายฯ เมื่อ 4 กันยายน 2564 ที่ได้คะแนนไว้วางใจ 269 เสียงเท่ากัน 

แกะรอย “260 เสียง”ค้ำรัฐบาล    คะแนนไว้วางใจ \"ประยุทธ์-ภท.” 

           พบว่ามี “ส.ส.งูเห่า” จากฝ่ายค้านร่วมออกเสียงไว้วางใจ 6 เสียง แยกเป็นพรรคก้าวไกล 5 เสียง เกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย และ 1 เสียง จากพรรคประชาชาติ อนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี

 

             ในส่วนของพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทยที่รวมเสียงไม่ไว้วางใจได้ 196 เสียง แต่พบว่า มี ส.ส.ฝ่ายค้าน บางคนเลือก “งดออกเสียง” หรือ “ไม่ปรากฎการลงมติ” จึงถูกตั้งข้อสันนิษฐานว่าแปรพักตร์ 

 

             โดย ส.ส.ฝ่ายค้านที่งดออกเสียง ได้แก่ ศรัณย์วุฒิ ศรัณเกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ และหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ ที่เคยสังกัดพรรคเพื่อไทย ที่ออกเสียงขัดมติพรรค จนถูกที่ประชุมส.ส.เพื่อไทย ขับออกจากสมาชิกพรรค 

 

             ส่วนอีก 5 คนไม่ปรากฎ การลงมติ ได้แก่ จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ ชัยยันต์ ผลสุวรรณ์ ส.ส.ปทุมธานี ธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี ซึ่งปัจจุบันย้ายเข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทย วุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก

 

             ขณะที่พรรคก้าวไกล พบส.ส.ไม่ลงมติ ได้แก่ จรัส คุ้มไข่น้ำ ส.ส.ชลบุรี โดยช่วงดังกล่าวเจ้าตัวลาประชุมเพราะป่วยโควิด

แกะรอย “260 เสียง”ค้ำรัฐบาล    คะแนนไว้วางใจ \"ประยุทธ์-ภท.” 

             ส่วนพรรคเพื่อชาติ งดออกเสียง 4 เสียง จาก ส.ส.ทั้งหมด 5 คนได้แก่ ปิยรัฐชย์ ติยะไพรัช เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล ลินดา เชิดชัย และ อารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อ

 

             ด้านพรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่มี ส.ส.6 คน และเสียงแตกเป็น 2 ฝ่าย พบว่ามีผู้ที่ลงมติไม่ไว้วางใจ คือ นิยม วิวรรธนดิฐกุล และ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส่วนอีก 4 เสียงลงมติไว้วางใจ ได้แก่ ภาสกร เงินเจริญกุล มนูญ สิวาพิรมย์รัตน์ มารศรี ขจรเรืองโรจน์ และ สุภดิช อากาศฤกษ์

 

             ส่วนกลุ่มพรรคเล็ก 1 เสียง พบว่ามี นิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ที่อยู่ในฝั่งฝ่ายค้าน และมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ลงมติไม่ไว้วางใจ ส่วนอีก 8 พรรคลงมติไว้วางใจ

 

             ผลคะแนนของเป็นรายบุคคลครั้งนั้น แม้จะรอดด่านสภามาได้ แต่เมื่อคลี่รายละเอียดคะแนนของ พล.อ.ประยุทธ์ กับ อนุทิน และศักดิ์สยาม มีความต่างอย่างมีนัยสำคัญ และถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยกว่า คะแนนไว้วางใจนายกฯ น้อยที่สุดในบรรดารัฐมนตรีที่ถูกซักฟอก

 

             โดยส่วนของพรรคฝ่ายค้านที่ลงมติไว้วางใจนายกฯมี 2 จาก 6 คน คือ คารม และ อนุมัติ เท่านั้น ส่วนอีก 3 คนที่ลงมติไว้วางใจให้แกนนำพรรคภูมิใจไทย คือ ขวัญเลิศ  พีรเดช เอกภพ ขณะที่เกษมสันต์ ลงมติไม่ไว้วางใจ

 

             ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านที่งดออกเสียงในการลงมติไว้วางใจ อนุทิน และศักดิ์สยาม เช่น พรรคเพื่อชาติ พบว่าได้ลงมติไม่ไว้วางใจยกพรรค รวมถึงดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม สุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปไตยใหม่  และ มงคลกิตติ์  ที่ลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ

แกะรอย “260 เสียง”ค้ำรัฐบาล    คะแนนไว้วางใจ \"ประยุทธ์-ภท.” 

             หาก “อนุทิน” จะยกตัวเลขการเมือง เพื่อสร้างความมั่นใจและค้ำเก้าอี้ นายกฯ ประยุทธ์ ลากรัฐบาลให้อยู่ยาวที่สุด หรือปักหมุดที่ครบเทอม แต่เอาเข้าจริงระหว่างทาง สถานการณ์ในรัฐบาลจะราบรื่นไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่ 

 

             น่าสนใจว่า นายกฯประยุทธ์ จะกล้าไว้วางใจบิ๊กภูมิใจไทย ที่ฉวยสถานการณ์ต่อรองในสิ่งที่ต้องการแลกกับเสถียรภาพรัฐบาลได้นานแค่ไหน.