“4ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.”ค้านขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

“4ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.”ค้านขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

“4ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.”ค้านขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ชี้ราคาโดยสาร 65 เป็นภาระประชาชน แนะโอนโครงการสายสีเขียวให้รัฐบาลดูแล

วานนี้ (14 ก.พ.) สภาองค์กรของผู้บริโภคจัดเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “รถไฟฟ้าต้องถูกลง ทุกคนต้องขึ้นได้ ผู้ว่าฯกทม. ช่วยได้หรือไม่” โดยมีว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. 4 คน คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ผู้สมัครอิสระ, นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. จากพรรคประชาธิปัตย์, นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. จากพรรคก้าวไกล และ นางรสนา โตสิตระกูล ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ผู้สมัครอิสระ เข้าร่วม


นายชัชชาติกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสในปัจจุบัน ที่ผ่านมาเกิดปัญหาตั้งแต่มีการว่าจ้างให้เอกชนเดินรถส่วนต่อขยายไปจนถึงปี 2585 โดยใช้อำนาจพิเศษ และไม่มีใครเคยเห็นสัญญา อีกทั้งมีความพยายามที่จะมีการขยายสัมปทานไปอีก 30 ปี ถึงปี 2602 มีการกำหนดราคาสูงสุด 65 บาท โดยไม่ผ่านกระบวนการกฎหมาย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ทำให้มีปัญหาความโปร่งใสตั้งแต่ต้น

นายชัชชาติกล่าวว่า ขอเสนอ 5 ประเด็น ดังนี้ 1.ต้องไม่มีการขยายสัมปทานให้เอกชน ที่จะเป็นภาระให้แก่คนรุ่นไปอีก 1 เจนเนอเรชั่น และนำกลับมาสู่กระบวนการกฎหมายร่วมทุน 2.กทม.ต้องเร่งเจรจาแก้ปัญหาหนี้ค่าจ้างเดือนรถ และภาระหนี้จากการรับโอนโครงข่าย 100,000 ล้านบาท โดย กทม.ไม่ควรเข้าไปแบกรับภาระการก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีเขียว เพราะที่ผ่านมารถไฟฟ้าเส้นอื่นๆ รัฐบาลก็รับภาระค่าก่อสร้างงานโยธา
 

นายชัชชาติกล่าวว่า 3.ต้องเร่งดำเนินการให้ได้ข้อสรุปเรื่องค่าโดยสารส่วนต่อขยายทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ ซึ่งเปิดวิ่งมาแล้ว 3 ปี แต่ไม่มีความชัดเจนเรื่องการเก็บค่าโดยสาร 4.ต้องเอาสัญญาค่าจ้างเดินรถถึงปี 2585 มาเปิดเผยเพื่อให้รู้ต้นทุนที่แท้จริง นำไปสู่การคำนวณค่าโดยสารที่ถูกต้อง หลังหมดสัญญา สัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสในปี 2572 และ 5.ต้องนำเส้นทางทั้งหมดมาจัดหารายได้ เช่น ค่าโฆษณาในสถานีตามแนวเส้นทางสายสีเขียว ทั้งนี้ ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น สามารถดำเนินการได้ในอนาคต สามารถจัดเก็บได้ในราคา 25-30 บาท/คน

นางรสนา กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องไม่มีการขยายสัมปทานให้เอกชน เนื่องจากในสัญญาสัมปทานที่จะต่อนั้นมีเงินนำส่งรายได้ที่เอกชนต้องจ่ายให้ กทม. 200,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นค่าต๋ง เป็นที่มาที่ประชาชนต้องจ่ายค่าโดยสาร 65 บาท หากได้เป็นผู้ว่าราชการ กทม. ตนจะมีการโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวกลับไปให้รัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลนำเอารถไฟฟ้าทุกสายกลับไปทำระบบตั๋วร่วม หรือตั๋วราคาเดียว เพราะที่ผ่านมาการทำโครงข่ายรถไฟฟ้ากว่า 10 เส้นทาง นำภาษีของประชาชนไปลงทุนแล้วกว่า 1ล้านล้านบาท จึงไม่ควรนำภาระค่าโดยสารทั้งหมดผลักให้แก่ประชาชน


นางรสนา กล่าวอีกว่า เมื่อเกิดการเดินทางเชื่อมโยงรถไฟฟ้าทุกสายเสียค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว ใช้บริการทุกโครงข่ายไม่เกิน 40-45 บาท ก็จะทำให้มีผู้มีใช้บริการระบบรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากวันละ 1.2 ล้านคน เป็น 3-5 ล้านคน ในอนาคต นำไปสู่การแก้ไขปัญหาจราจรได้อย่างยั่งยืน
 

ด้านนายวิโรจน์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการขยายสัมปทานทำให้คนรุ่นลูกต้องมาแบกรับภาระค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง รวมแล้วอีก 38 ปี และที่สำคัญคือต้องไปดำเนินการให้ชัดเจน และทำการเจรจา 2 ส่วน คือไม่ไปแบกรับภาระหนี้การดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายจาก รฟม. และไปเจรจาภาระหนี้ค่าจ้างเดินรถที่มีกับเอกชน 37,000 ล้านบาท และเงินลงทุนจัดหารถอีก 20,000 ล้านบาท

โดยต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส และหากจะมีการกำหนดค่าโดยสารให้คน กทม.ได้ประโยชน์ สามารถใช้บริการได้ ก็สามารถไปหาข้อสรุปว่า กทม.จะมีการอุดหนุนค่ารถไฟฟ้าเท่าไหร่ แต่ต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส

ขณะที่นายสุชัชวีร์ระบุว่า ที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้นกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เนื่องจากกระทรวงคมนาคมในอดีต ไม่ได้คิดวางแผนการพัฒนา เส้นทาง การจัดการเดินรถและเก็บค่าโดยสาร โดยคิดให้รอบ ด้าน ให้จบในครั้งเดียว พร้อมเสนอแนวคิดว่าสามารถผลักดันนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า ราคา 20-25 บาท ให้เกิดขึ้นจริงได้ โดย กทม.สามารถออกพันธบัตร โครงสร้างพื้นฐานเพื่อระดมทุนมาแก้ภาระหนี้ 30,000 ล้านบาท เพื่อนำรายได้มาแก้ไขปัญหาหนี้ของ กทม. และค่าจ้างเดินรถในอนาคตด้วย

ส่วนความเห็นที่สภาองค์กรของผู้บริโภคระบุว่า รัฐบาลยังมีความพยายามที่จะนำเรื่องการขยายสัมปทานกับเอกชนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในสัปดาห์หน้านั้น ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ทุกคนระบุว่า รัฐบาลไม่ควรเร่งรัดดำเนินการ เนื่องจากกว่าจะหมดอายุสัมปทานยังมีเวลาอีก 8 ปี และควรรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้

โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า การจัดงานในวันนี้ได้มีการเชิญ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ร่วมเสวนาด้วย เนื่องจากมีรายงานข่าวระบุว่าจะเปิดตัวเข้าร่วมลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ด้วย แต่ พล.ต.อ.อัศวินระบุว่ายังไม่ได้มีการเปิดตัว จึงไม่สะดวกร่วมเสวนา