กมธ.ดีอีเอส แนะ กสทช. ทำแผนสำรอง หวั่นประมูลไทยคม4 ไม่ทันเวลา
กมธ.ดีอีเอส เชิญ กสทช.-ก.ดีอี-NT-ไทยคม ถกปัญหาวงโครจรดาวเทียม เผยเตรียมเปิดประมูลเดือนมิ.ย. แนะต้องมีแผนสำรองฉุกเฉินเผื่อประมูลไม่ทันเวลา อย่าทำให้มูลค่าสูงเกินจนกระทบประชาชน
น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา กมธ.ดีอีเอส ได้ประชุมเพื่อพิจารณาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมสำหรับตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม 119.5 องศาตะวันออก หรือ ดาวเทียมไทยคม 4 ที่จะหมดสัญญาในปี 2566 จึงจะต้องเปิดประมูลเพื่อต่อสัญญาวงโคจร โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.),บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (เอ็นที) เพื่อขอทราบความชัดเจนว่า เมื่อถึงเวลาสิ้นสุดระยะการประมูลแล้ว แต่ยังสามารถต่อสัญญาดำเนินการได้ เพราะมีเพียงไม่กี่บริษัท ที่มีคุณสมบัติประกอบการได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการอย่างไร และหากเกิดความเสียหาย ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ และมีวิธีการอย่างไร
น.ส.กัลยา กล่าวด้วยว่า กสทช. ชี้แจงประเด็นความต่อเนื่องการให้บริการ โดยเตรียมแผนการให้บริการไว้ 2 ส่วน คือ 1.กรณีที่เกิดเหตุขัดข้อง กสทช. ได้มีแผนรองรับอาจต้องย้ายลูกค้าให้ไปใช้บริการจากดาวเทียมดวงอื่นชั่วคราว และ 2.กรณีที่ดาวเทียมจะหมดอายุ กสทช. ยืนยันว่า ได้พยายามเร่งกระบวนการเปิดประมูล แต่ก็ประสบปัญหาภายในของ กสทช. ที่กรรมการฯ ใกล้ครบวาระ และรอคณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่
"สำนักงาน กสทช. พยายามแก้ไขปัญหา เพื่อให้การโทรคมนาคมของประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เช่น การหาดาวเทียมดวงอื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันมาทดแทน หรือยอมให้มีช่องว่างเวลาระหว่างที่ดาวเทียมดวงแรกหมดอายุ ก่อนที่ดาวเทียมดวงใหม่จะมาให้บริการ ซึ่งในระหว่างนั้น ก็ยังคงอาจต้องใช้ดาวเทียมดวงอื่น ๆ ให้บริการชั่วคราว" น.ส.กัลยา กล่าว
ด้าน พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ฐานะรองประธานกมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า กสทช.เตรียมเปิดประมูลคัดเลือกผู้รับในอนุญาตประกอบการรายใหม่ ในเดือนมิถุนายนนี้ โดยให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบการรายใหม่ที่รับช่วงต่อ เป็นผู้รับผิดชอบในกรณีที่สามารถต่อสัญญาได้ทันตามกำหนด เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการให้บริการ หรือหากยังไม่มีผู้รับได้ทันกรอบเวลาบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด จะเป็นผู้รับผิดชอบ
"กมธ. ได้แนะนำให้สำนักงาน กทสช. ได้เตรียมแผนฉุกเฉินกรณีที่ กสทช. ไม่สามารถเปิดประมูลสัญญาดาวเทียมได้ทันตามกำหนด เนื่องจาก กสทช. ชุดปัจจุบันใกล้จะครบวาระการทำงาน และหวังให้ กสทช. ได้รวบรวมความเห็นเชิงวิชาการว่า การเปิดประมูลนั้น ยังมีความจำเป็นหรือไม่ เพราะการประมูลคลื่นความถี่ เป็นความเฉพาะทาง และมีผู้ประกอบการบางรายเท่านั้นที่สามารถทำได้ และอาจมีผู้ประมูลเพียงรายเดียว หรือเกิดนอร์มินีมาร่วมประมูล จนอาจทำให้การประมูลต้องล้มไป หรือทำให้มูลค่าการประมูลสูงจนเป็นผลกระทบ เกิดภาระต่อประชาชน"พ.อ.เศรษฐพงศ์ กล่าว.