คุ้ยปมฉาวโควตาหวย 431 ล้าน คดีปักหลัง“เอกราช”โยงย้ายค่าย
เมื่อเกิดปัญหาขึ้น “บิ๊กเนมการเมือง” รายนี้ ขอให้ยกสลากกินแบ่งรัฐบาลที่เหลือมาให้ตัวเอง เพื่อนำไปจำหน่ายต่อ ก่อนจะทยอยคืนเงินให้จนครบ ภายหลังมีการกล่าวหาว่า “เอกราช” ไม่ยอมนำเงินดังกล่าวคืนแก่สหกรณ์ แต่กลับนำเข้ากระเป๋าตัวเอง นำไปลงทุนในธุรกิจส่วนตัว
ณ เวลานี้สปอตไลท์ทางการเมืองกำลังสาดแสงไปที่พรรคภูมิใจไทย
เพราะขึ้นปี 2565 มายังไม่ถึง 2 เดือน แต่กลับมี ส.ส.ระดับ “บิ๊กเนม” อย่างน้อย 3 คนจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งถูกมติพรรคขับพร้อมกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และ 21 ส.ส. ย้ายเข้ามาอยู่ในสังกัด “ค่ายสีน้ำเงิน”
2 ใน 3 คนดังกล่าวคือตระกูล “ช่างเหลา” นำโดย “เอกราช ช่างเหลา” ส.ส.บัญชีรายชื่อ “บ้านใหญ่ขอนแก่น” และ “วัฒนา ช่างเหลา” ส.ส.ขอนแก่น บุตรชาย โดยก่อนหน้านี้บุตรชายคนเล็ก “พิทักษ์ชน ช่างเหลา” ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ล่วงหน้าไปก่อน
ตระกูล “ช่างเหลา” เป็นที่รู้จักดีในพื้นที่ “ภาคอีสาน” เนื่องจากเป็นตระกูลการเมืองมาหลายสิบปี โดยเฉพาะ “เอกราช” จากครูสอนโรงเรียนประจำเทศบาลใน จ.ขอนแก่น ก่อนมาทำธุรกิจ “อสังหาริมทรัพย์” เจ้าของหมู่บ้านจัดสรร “เมืองเอก” รวมถึงเป็นผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น ก่อนเบนเข็มมาเส้นทางการเมือง ปลุกปั้นทายาท-คนใกล้ชิดเข้าสู่แวดวง “นักการเมืองท้องถิ่น-ระดับชาติ” มาคนแล้วคนเล่า จนได้รับฉายา “เจ้าพ่ออีสาน”
ประเด็นที่หลายคนตั้งคำถามคือ “เอกราช ช่างเหลา” กับ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ต่างเป็น “เพื่อนซี้” ทำธุรกิจร่วมกันมานานนับสิบปี กระทั่งมาร่วมงานที่ พปชร.แทบจะช่วงเวลาเดียวกัน กอดคอร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา แต่เมื่อตอน “ผู้กองธรรมนัส” กำลังเพลี่ยงพล้ำ ถูกขับออกไปตั้ง “พรรคเศรษฐกิจไทย” ไฉน “เอกราช” ถึงไม่ตามไปด้วย
“เอกราช” เล่าผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2565 ดำเนินรายการโดยดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ยืนยันว่า ไม่ได้ทิ้งเพื่อน แต่ก่อนหน้านี้เคยสังกัดพรรคภูมิใจไทย ทำสัญญาใจไว้ตอนออกจาก “ค่ายน้ำเงิน” มาร่วมก่อร่างสร้าง พปชร. หากมีเหตุให้ออกจาก พปชร. จะหวนคืนกลับบ้านเก่าอย่างภูมิใจไทย
ทว่าสิ่งที่หลายคนค้างคาใจคือ การกลับสู่พรรคภูมิใจไทยครั้งนี้ของ “เอกราช” มี “ดีลลับ” อะไรหรือไม่ โดยเฉพาะการ “ล้างหนี้” สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น ที่เจ้าตัวถูกฟ้องร้องเป็นคดีในศาลอาญา และศาลแพ่ง กรณีถูกกล่าวหาว่า “ยักยอกเงิน” ซึ่งเอกราชลงนามสัญญา “ยอมรับสภาพหนี้” ไปแล้ว วงเงินกว่า 431 ล้านบาท
“เรื่องนี้ไม่จริง 100% จริง ๆ อยากให้เสนอมาแบบนี้ แต่ไม่มีใครเสนอมาเลย (หัวเราะ)” เจ้าตัวตอบไว้อย่างนี้
ส่วนความเป็นมาคดียักยอกเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น กว่า 431 ล้านบาท ที่กลายเป็น “ชนักติดหลัง” นั้น เอกราช อธิบายว่า เรื่องคดีตอนนี้อยู่ที่ศาล ข้อตกลงอะไรอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ถ้าคดีนี้จบเมื่อไหร่ จะแถลงข่าว เรียนที่มาที่ไปของประเด็นนี้ โดยที่มาที่ไปของเรื่อง ในช่วงนั้นมีแชร์ลอตเตอรี่เกิดขึ้น สหกรณ์ต่าง ๆ ล้มระเนระนาด แต่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นมีลอตเตอรี่จริง มีสัญญากับกองสลาก มีการโอนเงินซื้อไปมาถูกต้อง มีกำไร การขายถูกต้องหมด ข้อบังคับถูกต้องหมด
“ผมไม่กลัวดำเนินคดี แต่กลัวกระทบภาพลักษณ์องค์กร เมื่อมีเงินค้ำประกันสัญญาบอกให้เราคืนมาทันทีให้หมด แต่จะคืนยังไงเงิน 4-5 ร้อยล้าน เอาคืนทันทีไม่ได้ แต่ผ่อนคืนได้ นายทะเบียนไม่ยอม ต้องคืนทั้งก้อน ถ้าไม่อย่างนั้นต้องหาหลักทรัพย์วางค้ำประกัน จึงเป็นที่มาของคดีนี้”
คีย์เวิร์ดสำคัญในคดีข้างต้นคือกรณี “แชร์ลอตเตอรี่” ที่นำไปสู่คดีความฟ้องร้อง “เอกราช ช่างเหลา”
หากใครยังจำกันได้ กรณีนี้โด่งดังอย่างมากในช่วงกลางทศวรรษ 2550 เมื่อเกิดกรณี “ศรีสุข รุ่งวิสัย” อดีต ส.ว. (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) กับพวกรวม 14 คน ถูกกล่าวหาว่า นำบริษัทเอกชนของเจ้าตัว 2 แห่ง ร่วมกันหลอกลวงสหกรณ์ออมทรัพย์จังหวัดต่าง ๆ ให้เข้ามาเป็นคู่สัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 18 สัญญา เสียหายกว่า 25,561 ล้านบาท หรือที่เรียกกันว่า “โควตาลม” โดยอ้างว่าสามารถจัดหาสลากกินแบ่งรัฐบาลราคาถูกมาจำหน่ายให้กับสหกรณ์ต่าง ๆ เพื่อนำไปขายต่อทำกำไรได้ แต่ทว่าบริษัททั้ง 2 แห่งกลับไม่ได้เป็นคู่สัญญากับกองสลากฯแต่อย่างใด ปัจจุบันมีการฟ้องคดี และยึดทรัพย์คืนแผ่นดินไปแล้วหลายร้อยล้านบาท
กรณีนี้กลายเป็นบรรทัดฐานให้ “กรมส่งเสริมสหกรณ์” จำเป็นต้องลงดาบสหกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงออกคำสั่งห้ามมิให้สหกรณ์ดำเนินการจำหน่ายลอตเตอรี่อีก
ทว่า คำสั่งนี้กลายเป็นเหมือน “ดาบสองคม” เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว “เอกราช” ในฐานะผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น ได้ร่วมกับ “บิ๊กเนม” นักการเมืองคนหนึ่ง ใช้สายสัมพันธ์ใกล้ชิดซื้อโควตาลอตเตอรี่หลายหมื่นเล่มจาก 1 ใน 5 เสือ “กองสลากฯ” โดยอ้างว่าเพื่อนำไปหารายได้ให้กับสหกรณ์
ตอนแรกสามารถจำหน่ายลอตเตอรี่ออกไปได้ส่วนหนึ่ง ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอเกิดกรณี “ทุจริตแชร์ลอตเตอรี่” ของ อดีต ส.ว.ศรีสุข ทำเอา “เอกราช” ถึงกับต้องกุมขมับ
“เอกราช” ยืนยันว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นหยุดไม่ได้ มีสัญญา มีของจริง ๆ มีเงินวางค้ำประกันด้วย เพราะฉะนั้นตรงนี้ทำหนังสือไปว่า หยุดไม่ได้ สัญญาถูกต้อง ทุกองค์กรตรวจสอบบอกว่า “ขอนแก่นโมเดล” ถูกต้อง จึงต้องขายต่อ ขอดำเนินการให้จบตามสัญญา แต่อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์สมัยนั้นไม่ยอม บอกทุกคนต้องเลิกหมด อุทธรณ์ถึงไหนก็ยืนยันให้เลิก ถ้าไม่เลิกจะปลด แจ้งความดำเนินคดี
เงื่อนปมของเรื่องอยู่ตรงนี้ เมื่อเกิดปัญหาขึ้น “บิ๊กเนมการเมือง” รายนี้ ขอให้ยกสลากกินแบ่งรัฐบาลที่เหลือมาให้ตัวเอง เพื่อนำไปจำหน่ายต่อ ก่อนจะทยอยคืนเงินให้จนครบทุกบาททุกสตางค์
ภายหลังมีการกล่าวหาว่า “เอกราช” ไม่ยอมนำเงินดังกล่าวคืนแก่สหกรณ์ แต่กลับนำเข้ากระเป๋าตัวเอง นำไปลงทุนในธุรกิจส่วนตัวเพื่อสร้างฐานเสียงให้แก่ตนเอง
จึงเป็นประเด็นที่ถูกนำไปฟ้องร้องเป็นคดีความกันอยู่ตอนนี้ โดย “เอกราช” ยืนยันชัดถ้อยชัดคำว่า “ไม่โง่พอเอาเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นโอนเงินเข้าบัญชีตัวเอง เป็นการยักยอกแน่นอน มันไม่มีความจำเป็น”
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดคดีดังกล่าว เว็บไซต์หนังสือพิมพ์บ้านเมือง อ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายอนุศาสตร์ สอนศิลพงศ์ ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2565 ระบุว่า ในส่วนคดีอาญา หมายเลขดำที่ 258/2564 ที่พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น เป็นโจทก์ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น เป็นโจทก์ร่วม ยื่นฟ้องนายเอกราช กับพวก คดีกล่าวหา ร่วมกันยักยอกทรัพย์ ปลอมแปลงเอกสาร (สมุดคู่ฝาก) นั้น
เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2564 มีการพิจารณาคดีดังกล่าว โดยทนายฝ่ายจำเลย แถลงว่า นายเอกราช จำเลยที่ 1 ยังคงปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ส่วนจำเลยที่เหลืออีก 3 ราย ประสงค์ให้การรับสารภาพในข้อหายักยอกทุกข้อกล่าวหา และพร้อมชดใช้เงินคืนกว่า 431 ล้านบาท ทั้งนี้หากมีการชำระเงินทั้งหมดแล้ว สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จะไม่ติดใจเอาความ ไม่ว่าจำเลยกับพวกจะให้การปฏิเสธหรือรับสารภาพ แต่ขอให้เป็นดุลพินิจของศาล
มีรายงานว่า จำเลยคดีดังกล่าวได้นำหลักทรัพย์มาค้ำประกันไว้แล้ว รวมมูลค่ากว่า 439 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมเงินที่หายไปจำนวน 431 ล้านบาท โดยศาลกำหนดนัดสอบคำให้การ และนัดคุ้มครองสิทธิอีกครั้งในวันที่ 25 มี.ค. 2565 ส่วนคดีทางแพ่งนั้น ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความไปก่อน จนกว่าคดีอาญาจะมีคำพิพากษา
นี่เป็นที่มาที่ไปของคดียักยอกเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น “ชนักติดหลัง” เอกราช ช่างเหลา อยู่ในเวลานี้ โดยเจ้าตัวยังมีเวลาต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองอีกหลายยก
- เคลียร์ดีลย้ายบ้านใหญ่ “ช่างเหลา” “ภูมิใจไทย... ยังไงก็ได้เป็นรัฐบาล”
บทสรุปมติขับตัวเองพ้นพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ของ “กลุ่มผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เพื่อไปขับเคลื่อนพรรคเศรษฐกิจไทย มี 3 ส.ส.ไม่มาตามนัด ประกอบด้วย เอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ วัฒนา ช่างเหลา ส.ส. ขอนแก่น และสมศักดิ์ พันธุ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา โดยทั้งหมดย้ายไปซบพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ทำให้พรรคเศรษฐกิจไทยเหลือ ส.ส. เพียง 16 คน
โดยคนที่อยู่ในโฟกัสมากที่สุดหนีไม่พ้น “เอกราช” ที่เคยรับปากกันเป็นมั่นเหมาะ จะไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย แต่กลับมาหักมุมในช่วงโค้งสุดท้าย ท่ามกลางกระแสข่าว “นายใหญ่ปราสาทหิน” ทุ่มทุนปลดหนี้สหกรณ์ครูขอนแก่น ซึ่งเป็นชนักติดหลัง “เอกราช” มานาน
ทำให้ “เอกราช” ยอมทิ้งเพื่อนรักที่ชื่อ “ร.อ.ธรรมนัส” เปลี่ยนพรรคปลายทาง ไม่เข้าพรรคเศรษฐกิจไทยตามที่นัดหมายกันเอาไว้
“เอกราช” ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ เคลียร์ทุกประเด็นโดยเฉพาะกรณีแยกตัวจากกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ยืนยันว่า ไม่ใช่การทิ้งเพื่อน และเล่าถึงความสัมพันธ์ทั้งการเมืองและธุรกิจว่า ตนเข้ามาอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ โดยการติดต่อของผู้ประสาน โดยบังเอิญ ร.อ.ธรรมนัส ถูกเชิญมาวันเดียวกับตน ตนและร.อ.ธรรมนัสคบกันมานาน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาพอสมควร ด้านธุรกิจเรารู้จักกันมาเป็น 10 ปี แต่ในด้านการเมืองเพิ่งมารู้จักกันที่พรรคพลังประชารัฐ
“ก่อนที่ผมจะมาอยู่พรรคพลังประชารัฐ ผมอยู่พรรคภูมิใจไทยมาก่อน ปี 2562 ผมตั้งใจจะลงสมัครพรรคภูมิใจไทย แต่บังเอิญว่ามีผู้ใหญ่ประสานมาให้มากราบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งท่านก็เมตตา ผมกับลูกชาย (นายวัฒนา ช่างเหลา) ประสบความสำเร็จได้เป็น ส.ส. ด้วยบารมีของ พล.อ.ประวิตร ยังไงให้ตายก็ไม่ลืม”
“ส่วนเรื่องที่ผมบอกว่า ผมอยู่พรรคภูมิใจไทยมาก่อน โดยก่อนที่ผมจะออกมา ก็บอกผู้ใหญ่ก่อนว่าจะมาอยู่กับ พล.อ.ประวิตร มาสร้างพรรคพลังประชารัฐ โดยพล.อ.ประวิตรให้ผมเป็นประธานภาค 4 ดูแลภาคอีสานตอนบน ซึ่งผมประสานงานด้วยความเข้มแข็งมาตลอด แต่ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถนำ ส.ส. เข้ามาได้เยอะ มันเป็นนาทีสุดท้ายเท่านั้นเอง ไม่เช่นนั้นเข้ามาไม่ต่ำกว่า 10 คน เพราะแพ้ 700-800 คะแนน ซึ่งคะแนนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคพลังประชารัฐ ก็ได้มาจากภาคอีสานตอนบน”
“เอกราช” ยืนยันว่า ได้เปิดออกคุยกับร.อ.ธรรมนัสแล้ว บอกเลยว่า "ถ้าผมออกจากพรรคพลังประชารัฐ ยังไงก็ต้องกลับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งร.อ.ธรรมนัสบอกว่า โอเคพี่ผมเข้าใจ ซึ่งเราเคารพการตัดสินใจกัน เรามองตาก็เข้าใจกัน และยังเป็นเพื่อนกันอยู่ แต่อันนี้มันมีความจำเป็น ซึ่งร.อ.ธรรมนัสก็โอเค และผมก็แจ้ง ร.อ.ธรรมนัสล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ ไม่ใช่ออกมาแบบไม่คุยกัน"
“ด้วยความเป็นเพื่อนกับร.อ.ธรรมนัส เมื่อเพื่อนจะออกจากพรรคพลังประชารัฐ ผมก็ออกไปด้วย ตอนแรกก็รับปากจะไปอยู่กับ ร.อ.ธรรมนัส แต่จุดเปลี่ยนคือความแปรผันทางการเมือง ซึ่งเกิดเหตุสภาฯล่มบ่อย ซึ่งผมขาดความมั่นใจ ว่าสภาฯจะอยู่ไปได้อีกกี่เดือนกี่ปี หลายคนก็บอกว่า ไม่แน่จะผ่านเดือนพฤษภาคมหรือเปล่าไม่รู้ ผมต้องตัดสินใจ ถ้าผมไปกับ ร.อ.ธรรมนัส เกิดยุบสภาฯ มา ผมออกมา ก็มาอยู่พรรคภูมิใจไทย ผมมันก็จะเหมือนสัมภเวสีทางการเมือง ผมก็ต้องตัดสินใจเมื่อสถานการณ์มันง่อนแง่น ผมขอกลับพรรคภูมิใจไทยทันที”
สำหรับกระแสข่าวว่าพรรคภูมิใจไทยยื่นข้อเสนอให้ โดยที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ “เอกราช” ยืนยันว่า “ผมไม่มีข้อเสนออะไร ผมมองว่าพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคที่มีมาตรฐาน ยังไงก็ได้เป็นรัฐบาล ยังไงเราก็อยู่ฝ่ายรัฐบาล ถ้าอยู่ฝ่ายค้านใครจะจัดงบประมาณไปลงตามที่เราเสนอแผนงานและโครงการ ผมมองว่าอยู่ตรงนี้มีอนาคตในการพัฒนาพื้นที่ เพราะยังไงก็เป็นรัฐบาล ผมมองตรงนี้มากกว่า”
ผู้ดำเนินรายการถามว่า มีความจำเป็นที่ต้องเคลียร์หนี้สหกรณ์ครูออมทรัพย์ จ.ขอนแก่น จึงกลับไปอยู่พรรคภูมิใจไทย เนื่องจากมีข้อเสนอมาช่วยหรือไม่ “เอกราช” ยืนยันอีกครั้งว่า “ไม่จริงครับ ไม่จริง 100 เปอร์เซ็นต์ จริงๆ ผมอยากให้เสนอแบบนี้ แต่ไม่มีใครเสนอมาเลย”
ทั้งหมดคือคำบอกเล่า ดีลกลับพรรคภูมิใจไทย จากปากของ “เอกราช” ซึ่งต้องติดตามว่าบทบาทของเจ้าตัวจะเป็นอย่างไร เนื่องจากพื้นที่อีสานตอนบน โดยเฉพาะ จ.ขอนแก่น ยังเป็นจุดบอดของ “นายใหญ่ปราสาทหิน-พรรคภูมิใจไทย”
ทว่า เส้นทางการเมืองของ “เอกราช” หลังจากนี้ต้องยืนอยู่คนละฝั่งกับ “พล.อ.ประวิตร” และ “ร.อ.ธรรมนัส” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้