“ภูมิใจไทย” เป้าหมายพรรค “เกิน 100” ส่อง ส.ส.ทางลึกทางลับ “77 เสียง”
รวมยอด ส.ส.พรรคภูมิใจไทยที่สังกัดพรรคอย่างเป็นทางการ และปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งหมด 62 คน หากนับรวม 15 ส.ส.งูเห่า ทำให้คาดการณ์ได้ว่าจำนวน ส.ส.ที่อยู่ในคอนโทรลของพรรคภูมิใจไทยจะมีทั้งหมด 77 เสียง
หุ้นการเมืองของพรรคภูมิใจไทยพุ่งไม่หยุด หลังจาก ส.ส.ทั้งขั้วฝ่ายค้านและรัฐบาลไหลเข้าต่อเนื่อง ทั้งทางเปิด-ทางลับ ทำให้อาณาจักรสีน้ำเงินขยับขยายใหญ่ขึ้นกว่าเดิม
ในการเลือกตั้งปี 2562 ภูมิใจไทยกวาด ส.ส. เข้าสภาฯ ได้ทั้งหมด 51 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 39 คน ส.ส. บัญชีรายชื่อ 12 คน อยู่ในลำดับ 5 ผ่านมา 3 ปี จำนวน ส.ส.ของหลายพรรคการเมืองปรับลดลงต่างกรรมต่างวาระ แต่ภูมิใจไทยได้อานิสงค์ มีจำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้นเป็น 65 เสียงจนขยับเป็นพรรคลำดับที่ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร
ยังไม่นับ ส.ส.งูเห่า ทั้งสีแดง-สีส้ม จาก “ขั้วฝ่ายค้าน” ที่ฝากเลี้ยงเอาไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นรายชื่อที่อยู่ในโพย 260 เสียงของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่การันตีต่อ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าต้องอยู่ครบเทอม
ย้อนกลับไป ดีลแรกของภูมิใจไทย ได้ "ศรีนวล บุญลือ" ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ย้ายสังกัดจากพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เข้ามาอยู่กับพรรคภูมิใจไทย หลังถูกขับออกเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2562 เนื่องจากพฤติการณ์ขัดมติพรรคหลายครั้ง
ต่อมาเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2563 มีกลุ่ม ส.ส. อนาคตใหม่อีก 9 คน แยกตัวออกจากทีมใหญ่ที่ย้ายเข้าสังกัดพรรคก้าวไกล โดยเปลี่ยนขั้วมาร่วมรัฐบาลเข้าสังกัดกับพรรคภูมิใจไทย ในวันที่ 25 ก.พ. 2563 ประกอบด้วย
- วิรัช พันธุมะผล ส.ส. บัญชีรายชื่อ
- สำลี รักสุทธี ส.ส. บัญชีรายชื่อ
- ร.ต.ต.มณฑล โพธิ์คาย ส.ส.กทม. (เขต 20)
- โชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี ส.ส.กทม.(เขต 23)
- อนาวิล รัตนสถาพร ส.ส.ปทุมธานี (เขต 3)
- กิตติชัย เรืองสวัสดิ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา (เขต 1)
- เอกการ ซื่อทรงธรรม ส.ส.แพร่ (เขต 1)
- กฤติเดช สันติวชิระกุล ส.ส.แพร่ (เขต 2)
- ฐิตินันท์ แสงนาค ส.ส.ขอนแก่น (เขต 1)
จากนั้น วันที่ 26 ต.ค. 2564 ตัวเลข ส.ส.พรรคภูมิใจไทย เพิ่มขึ้นอีก 1 เสียง เมื่อ พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี เขต 5 สมัครเป็นสมาชิกใหม่ หลังพรรคเพื่อไทยมีมติขับพ้นพรรคด้วยข้อหาฝักใฝ่พรรคการเมืองอื่น
อย่างไรก็ตามพรรคภูมิใจไทย ยังไม่หยุดชอป ส.ส. เพื่อเสริมความแข็งแกร่งภายในพรรค เนื่องจาก “นายใหญ่ปราสาทหิน” ต้องการเสริมทัพระยะยาว ไม่ได้มองแค่เกมสั้น ด้วยการใช้จำนวน ส.ส.ขอโควตาเก้าอี้ครม.เพิ่มเท่านั้น
พรรคภูมิใจไทย ในสายตาของนักเลือกตั้งและ ส.ส.เวลานี้ เป็นพรรคที่มีเครดิตทางการเมืองค่อนข้างสูง ด้วยระบบการดูแล ส.ส. รวมไปถึง ส.ส.สอบตก ว่าที่ผู้สมัคร ที่กล่าวขานกันถึงความใส่ใจ ไม่ทอดทิ้ง ซึ่งเป็นเหตุผลให้ ส.ส.อยากย้ายไปร่วมชายคา
ปีนี้ 14 ก.พ.2565 ที่เพิ่งผ่านมา พ่อลูก “ตระกูลช่างเหลา” ทั้ง "เอกราช" ส.ส.บัญชีรายชื่อ "วัฒนา" ส.ส. ขอนแก่น จากพลังประชารัฐ ตัดสินใจแยกทาง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กลับมายังถิ่นเก่าภูมิใจไทย
ทว่า “เอกราช” มองเกมยาว อยู่กับพรรคภูมิใจไทยอย่างไรก็ได้เป็นรัฐบาล จึงขอเลือกแทงหวยอยู่ข้าง “นายใหญ่ปราสาทหิน” คอยคุมเกมวางตัว ผู้สมัคร ส.ส.ขอนแก่น ที่ยังเป็นจุดบอดของพรรคภูมิใจไทย
วันถัดมา 15 ก.พ. สมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา เป็นอีกคนที่ถูกขับจากพลังประชารัฐพร้อมกลุ่มผู้กองธรรมนัส ตัดสินใจเข้าภูมิใจไทยรายล่าสุด
อย่างไรก็ตาม มี ส.ส. 3 ราย ที่ศาลมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในสภาฯ โดยเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “สำลี รักสุทธี” ส.ส.บัญชีรายชื่อ หยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากขาดคุณสมบัติที่จะเป็น ส.ส. เนื่องจากถูกแจ้งความดำเนินคดีบุกรุกทำให้เสียทรัพย์ โดยพิพากษาลงโทษจำคุกนายสำลี 5 ปี แต่ให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี
ต่อมาวันที่ 12 พ.ย. 2564 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจฉัยให้ “ฉลอง เทิดวีระพงษ์” และ “ภูมิศิษฎ์ คงมี” 2 ส.ส. พัทลุง หยุดปฏิบัติหน้าที่กรณีถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯอย่างร้ายแรง กรณีเสียบบัตรแทนกันระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2563
ทำให้ยอดรวมของ ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ในขณะนี้มี 65 คน (หยุดปฏิบัติหน้าที่ 3 คน) เหลือที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ 62 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากหลังการเลือกตั้งปี 2562 จำนวน 11 คน
ขณะเดียวกันยังมี ส.ส.งูเห่า สีแดง-สีส้ม ที่แกนนำพรรคภูมิใจไทยนำมานับรวมยอดแล้ว แต่ยังไม่ย้ายสังกัดอย่างเป็นทางการ โดยชื่อ ส.ส. งูเห่า แสดงเด่นชัดในช่วงโหวตญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อเดือน ก.ย.2564
โดยพบว่ามีรายชื่อ ส.ส.ที่โหวตให้ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข และ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม 15 เสียง ประกอบด้วย
- พรรคก้าวไกล 5 เสียง
เกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย
- พรรคเพื่อไทย 3 เสียง
จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ ธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ ชัยยันต์ ผลสุวรรณ์ ส.ส.ปทุมธานี
- พรรคเพื่อชาติ 6 เสียง
ศรัณย์วุฒิ ศรัณเกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ วุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปิยรัฐชย์ ติยะไพรัช ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลินดา เชิดชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ อารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อ
- พรรคประชาชาติ 1 เสียง
คือ อนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี
เมื่อรวมยอด ส.ส.พรรคภูมิใจไทยที่สังกัดพรรคอย่างเป็นทางการ และปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งหมด 62 คน หากนับรวม 15 ส.ส.งูเห่า ทำให้คาดการณ์ได้ว่าจำนวน ส.ส.ที่อยู่ในคอนโทรลของพรรคภูมิใจไทยจะมีทั้งหมด 77 เสียง
แม้ ส.ส.งูเห่า จะสามารถแปรเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ทางการเมือง แต่น่าติดตามว่า พรรคภูมิใจไทยจะดูดพรรคไหนเข้ามาเติมตัวเลขแห่งอำนาจ เพื่อปูทางไปสู่ยุทธศาสตร์ "พรรคเกินร้อย" ที่นายใหญ่ภูมิใจไทยตั้งธงไว้