“ปิยบุตร” ชำแหละ ม.44 ปิด “เหมืองอัคราฯ” จับตาดีลเอื้อ ปย.แลกไม่เสียค่าโง่
“ปิยบุตร” ชำแหละ ม.44 สั่งปิด “เหมืองทองอัครา” ชวนจับตาส่อเจรจาเอื้อผลประโยชน์ เพื่อไม่เสีย 3 หมื่นล้านหรือไม่ ซัด “บิ๊กตู่” เคยรับผิดชอบความเสียหายอะไรบ้าง กฎหมายปกติมีไม่ใช้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2565 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า จัดรายการ "เอาปากกามาวง" กล่าวถึงกรณีการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ ม.152 กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ใช้คำสั่งตาม ม.44 ปิดเหมืองทองของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จนมีการฟ้องร้องในอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ โดย บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ดของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทอัคราฯ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดใข้ค่าเสียหายกว่า 30,000 ล้านบาท และมีการเลื่อนการชี้ขาดคดีนี้มาเรื่อย ๆ โดยในการอภิปรายของ น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.ร้อยเอ็ด มีการตั้งคำถามว่า เป็นเพราะรัฐบาลไทยกำลังเจราจาตกลงผลประโยชน์แลกกับการยอมความในท้ายที่สุดหรือไม่นั้น
โดยนายปิยบุตร กล่าวว่า กรณีของคำสั่งปิดเหมืองทองอัคราฯ เป็นการใช้ ม.44 แบบไม่รับผิดชอบ ที่มาเรื่องนี้ ย้อนกลับไปหลังรัฐประหารโดย คสช. เมื่อ 22 พ.ย. 2565 ก็ตามด้วยมีการใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งมี ม.44 ที่เปรียบเสมือนไม้กายสิทธิ์มอบให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่สามารถออกคำสั่งแล้วมีผลใช้บังคับ ชอบด้วยกฎหมายไปตลอดกาล ไม่มีใครโต้แย้งได้ ต่อมา ในปี 2559 ออกคำสั่งตาม ม. 44 ที่ 72/2559 ระงับการประกอบกิจการเหมืองของบริษัท อัคราฯ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 ทำให้บริษัทเสียประโยชน์ทางธุรกิจ จนในที่สุดก็ใช้กลไกของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศมาชี้ขาด ด้วยเหตุผลว่า 1.การปิดเหมืองครั้งนี้ใช้อำนาจตาม ม.44 แม้ไม่เห็นด้วย แต่จะฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่ง ศาลก็ไม่รับฟ้อง เพราะรัฐธรรมนูญบอกว่า คำสั่งของหัวหน้า คสช.ถูกต้องตลอดกาล และเคยมีแนวคำพิพากษาหลายกรณีที่ผู้เสียหายฟ้องเพิกถอนแล้วศาลไม่รับ ดังนั้น ฟ้องศาลภายในไม่ได้ และ 2.เพราะบริษัท อัคราฯ ที่มีบริษัทแม่คือ บริษัท คิงส์เกตฯ อยู่ในประเทศออสเตรเลย นั้น ไทยกับออสเตรเลีย มีข้อตกลงระดับทวิภาคี 1 ฉบับเรียกว่า ข้อตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรีเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA) ซึ่งในบทท้ายๆ ระบุถึงวิธีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศ ทางหนึ่งก็คือการใช้ช่องทางของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
"การสู้คดีดำเนินเรื่อยมา จนกระทั่งในที่สุดอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ มีนัดอ่านคำตัดสินคือวันที่ 31 มกราคม 2564 แต่ทว่าในที่สุดก็เลื่อนมาเรื่อย ๆ เลื่อนการตัดสินมา 4 ครั้งแล้ว เป็นระยะเวลา 1 ปีเต็มๆ ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า การเลื่อนการอ่านมาเรื่อยแบบนี้ ระหว่างเลื่อนนั้น รัฐบาลไทยให้ก็ได้อนุญาตให้บริษัทนำผงทองไปขายได้ และจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า ระหว่างการเลื่อนต่อไปจะมีการเจรจากัน และรัฐบาลตกลงให้ผลประโยชน์กับบริษัทคิงส์เกตฯ เพื่อให้ในสุดท้ายแล้ว คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการออกมาในลักษณะให้เลิกแล้วต่อกัน เพราะเจรการกันจบแล้วหรือไม่ นี่จะเป็นเรื่องความไม่ชอบมาพากลที่มีการเจรจาผลประโยชน์หรือไม่ เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายในการแพ้คดีกว่า 30,000 ล้าน เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าคิดตามที่มีผู้อภิปรายไว้" นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวว่า อยากชวนวิเคราะห์ ประเด็น ม.44 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประหลาด เพราะสามารถอนุญาตให้ยกเว้นรัฐธรรมนูญได้ทั้งฉบับ ได้ให้อำนาจหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งแล้วมีผลในทางนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการได้หมด อีกทั้ง ใช้แล้วไม่มีความรับผิดอะไรเลย โต้แย้งที่ศาลศาลก็ไม่รับ ดังนั้น เมื่อใช้มาตรานี้ก็แสดงว่ามีเกราะคุ้มกัน แต่ทว่าพอใช้มากขึ้้น เวลาผ่านไป อิทธิฤทธิ์ ม.44 ก็ค่อยๆ เผยผลเลวร้าย ซึ่งกรณีปิดเหมืองทองอัคราฯ ป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่แน่นอนว่า ประเด็นการทำเหมืองแล้วมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้ประชาชนในพื้นที่ขัดแย้งกัน จนทำให้รัฐบาลต้องปิดเหมืองนั้น เรื่องนี้ไม่ผิด รัฐบาลหรือกระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจตามกฎหมายปกติ สามารถปิดเหมืองได้ แต่ที่เรื่องนี้วุ่นวายเพราะไปใช้ ม.44 ซึ่งตอนใช้คงลืมและคิดว่าตัวเองใหญ่ที่สุด ทำอะไรก็ได้ ใช้แล้วจบในตัวเองหมด แต่ ม.44 คุ้มกะลาหัวได้เฉพาะในแผ่นดินนี้เท่านั้น เแผลงฤทธิ์ได้แต่ในอาณาเขตประเทศไทยเท่านั้น แต่เรื่องเมืองทองอัคราฯ มีข้อตกลงการค้าไทย-ออสเตรเลีย ให้อนุญาโตตุลาการเข้ามาขี้ขาด ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้ ม.44 ไปไม่ถึง ใช้อ้างไม่ได้ ซึ่งเรื่องทั้งหมดจะไม่เป็นปัญหาถ้าหัวหน้า คสช.ไม่ลุแก่อำนาจ ไม่ย่ามใจเกินไป และรอบคอบมากกว่านี้
"การใช้กฎหมายปกติปิดเหมือง และถ้าบริษัท อัคราฯ ไม่ยอมก็สู้ในศาลปกครองขอเพิกถอนคำสั่ง หรือถ้าที่สุดยังไม่พอใจ เรื่องถึงอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ การไปสู้ตรงนั้นประเทศไทยก็สามารถที่จะสู้ได้อย่างมีน้ำหนัก บอกว่านี่ทำตามกระบวนการปกติทั้งหมด ฟ้องกันในศาลภายในตัดสินตามกฎหมายจบแล้ว แต่เรื่องทั้งหมดอิรุงตุงนังเพราะ ม. 44 และก็น่ากังวลใจว่า กรณีนี้จะไปจบเหมือนค่าโง่ทางด่วนหรือไม่ เพราะถ้าอนุญาโตตุลาการบอกว่า รัฐบาลต้องรับผิดชอบ 30,000 ล้านบาท คำถามคือเงินใคร ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่เอาเงินตัวเองมาจ่ายแน่ ๆ ก็คงจะกลับมาใช้งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งก็คือภาษีทุกคนที่เอาไปจ่าย แล้วคนใช้อำนาจแบบไม่ระมัดระวัง ไม่รอบคอบนี้ รับผิดชอบตรงไหน คือเวลาเราได้ยินนายกรัฐมนตรีคนนี้พูด มักจะบอกว่า รับผิดชอบเอง แต่จนถึงวันนี้ ผมไม่เห็นเลยว่าจะรับผิดชอบตรงไหนกรณีการใช้ ม.44 ปิดเหมืองทองอัครา ต้องติดตามต่อไปว่ารัฐบาลจะแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับบริษัทคิงส์เกตฯ จนทำให้ไม่เสียค่าเสียหายหรือไม่อย่างไร หรือสุดท้ายที่้ถ้าอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศชี้ให้ไทยต้องจ่ายค่าเสียหาย พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะคนออกคำสั่งตาม ม. 44 จะรับผิดชอบอย่างไร" นายปิยบุตร กล่าว