เกมซ่อนกล “ร่างพ.ร.ป.ส.ส." ปรับสูตรคำนวณ “เอื้อพวกเรา”
เนื้อหาของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่รัฐสภา รับหลักการ ทั้ง4 ฉบับ มีหัวใจอยู่ที่การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามสาระหลัก ทั้ง4ฉบับ เป็นไปทิศทางเดียวกัน แต่ขณะนี้ มีความต้องการอื่น ที่อยากให้ปรับ เพื่อประโยชน์ของฝั่งตัวเอง
เวทีถก “ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ” เพื่อกำหนดเป็นกลไก ที่ใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า ของที่ประชุมรัฐสภา ในวันแรก
มีความน่าสนใจ อย่างยิ่ง ต่อการชี้แจงรายละเอียด และแจกแจงความต้องการ ในสูตรที่จะใช้คำนวณคะแนนเลือกตั้ง เพื่อให้ได้มา ซึ่ง “ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ”
ที่เขียนไว้ใน “ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่....) พ.ศ....” ซึ่งทั้ง 4 ฉบับ คือ ฉบับที่เสนอโดย คณะรัฐมนตรี (ครม.), พรรคร่วมรัฐบาล, พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล
มีเนื้อหาหลักตรงกัน คือ 1.ให้นำคะแนนรวมของ “ทุกพรรค” หารด้วยจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน เพื่อคิดคะแนนเฉลี่ยต่อส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน 2. ให้นำคะแนนเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง หารด้วยคะแนนเฉลี่ย จะได้ตัวเลขที่นำไปอ้างอิง จำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคจะได้รับ “โดยใช้ตัวเลขเต็มจำนวน”
แน่นอนว่า เมื่อใช้ตัวเลขเต็ม ไม่นับ เศษคะแนน ที่เป็นทศนิยม จะทำให้ ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ครบ 100 คน จึงต้อง ใช้คะแนนเศษ ของพรรค มาเรียงลำดับสูงสุด ไปต่ำสุด เพื่อหาส.ส. ให้ครบจำนวน โดยชั้นนี้ ให้นำคะแนนพรรคเล็ก พรรคน้อยมาเรียงลำดับเพื่อหาส.ส. ด้วย
อย่างไรก็ดีในการคิดเศษคะแนน มีความแตกต่างกันเล็กน้อย โดย “ก้าวไกล -พรรคร่วมรัฐบาล -ครม.” เสนอให้ว่า หากเศษคะแนน ของพรรคใดที่เท่ากัน ให้ใช้การจับสลาก
สูตรคำนวณแบบนี้ มีชื่อว่า “ระบบคู่ขนาน” หรือ MMM ที่คิด “ส.ส.บัญชีรายชื่อ” เติมเต็ม ซึ่งเคยใช้กับรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ทำให้ “พรรคไทยรักไทย” ได้รับเลือกตั้ง เป็นเสียงข้างมากของสภา ด้วยจำนวน 377 เสียง จากส.ส.ทั้งหมด 500 คน ในการเลือกตั้ง เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2548
แน่นอนว่า สูตรคำนวณ ส.ส.แบบนี้ อาจสร้างโอกาสให้พรรคใหญ่ได้เกิด และ ดับฝันพรรคเล็ก
ก่อนหน้านั้น “พรรคพลังประชารัฐ” สมัยที่ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ยังเป็นเลขาธิการพรรค แสดงความต้องการ และสนับสนุนให้กลับใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และปรับสูตรคำนวณส.ส.จาก ระบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMA) ให้เป็น ระบบคู่ขนาน (MMM)
เพราะคิดว่าด้วยกลไกของ “ผู้มากอิทธิพลในพื้นที่” จะเอาชนะ ในเขต และได้ ส.ส.เติมเต็ม จาก “บัญชีรายชื่อ” เพราะมีความได้เปรียบ จากการชูนโยบายรัฐบาล และมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นจุดขาย
แต่สถานการณ์ขณะนี้ ดูเหมือนจะเปลี่ยนไป ครั้งล่าสุดในวันประชุม ครม. เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ ระหว่างพักเบรกการประชุม มีข่าวว่า “พล.อ.ประยุทธ์” หารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อร้องขอให้สนับสนุนต่อการ “ปรับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ”
เพื่อหวังลดทอน - ตัดกำลังของ “พรรคเพื่อไทย” ไม่ให้ชนะแบบแลนด์สไลด์ และ อีกทางต้องการให้ “กลไกเลือกตั้ง” เอื้อประโยชน์ให้พวกเราเหมือนเดิม
เพราะมีการประเมินว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึง ตามสูตร MMM ประมาณการบัตรดี 37 ล้านใบ เมื่อหารจำนวน 100 คน จะเท่ากับส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องได้คะแนนมากถึง 3.7 แสนคะแนน หากให้มี ส.ส.ปัดเศษ ต้องได้เศษคะแนนถึง 2แสนคะแนน ถึงมีโอกาสได้ส.ส.
ขณะที่ในการเลือกตั้ง ปี 2562 ใช้สูตรจัดสรรปันส่วน พบว่ามีบัตรดี 35.53 ล้านใบ ใช้ตัวหาร 500 คน จะได้คะแนน 7.1หมื่นคะแนนต่อ ส.ส. 1 คน
ทำให้สูตรปี60 มีโอกาสมากกว่าสูตรปี64
สิ่งที่เป็นผลจากการพูดคุยวันนั้น แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ตอบรับ ยกเว้น “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ” ที่ลาประชุม เพราะท้องเสีย
แต่ดูท่าการลาประชุมครั้งนั้นจะป่วยการเมือง เพราะช่วงบ่าย “บิ๊กป้อม” เดินทางไปประชุมพรรคพลังประชารัฐ ได้และอยู่จนจบการประชุม พร้อมกำชับให้ “ส.ส.พลังประชารัฐ” เข้าประชุมรัฐสภา
อย่างไรก็ดี หากมองในแง่ความเป็นไปได้ของเรื่องนี้ โอกาสที่ “กรรมาธิการวิสามัญ” จะแก้ไขเนื้อหา ให้ตรงความต้องการของ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังพอมี เพราะ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่ใช้เป็นร่างหลัก คือ ที่เสนอโดย “ครม.” กำหนดหลักการของสูตรคำนวณไว้แบบกว้าง
ดังนั้น “กมธ.ฯ” สามารถเขียนรายละเอียด ออกแบบเพื่อเอื้อให้ได้ผลลัพท์ตามต้องการได้
ทว่า ก่อนหน้านี้ “พรรคก้าวไกล” เคยเสนอสูตร MMP หรือ สัดส่วนผสม ที่ให้ใช้ ตัวเลข ส.ส. 500 คนเป็นตัวหาร เพื่อหาคะแนนเฉลี่ย ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน จากนั้นให้นำคะแนนเฉลี่ย หาจำนวน ส.ส.พึงมีที่แต่ละพรรคได้รับ และนำจำนวน ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรค ลบกับ ส.ส.เขต เพื่อให้ได้จำนวน ของส.ส.บัญชีรายชื่อ
แต่ประเด็นนั้น ถูกโต้แย้ง ด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1 ) พ.ศ.2564 นั้น มาตรา 91 ว่าด้วยการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้อง 1.นำคะแนนรวมทุกพรรคการเมือง คำนวณแบ่ง เป็นผู้ได้รับเลือตกั้งส.ส.ของแต่ละพรรค 2.สัดส่วน ส.ส. ต้องสัมพันธ์กับคะแนนรวม 3. ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องเป็นไปตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้ และเรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง
แม้วรรคสองของ มาตรา 91 จะกำหนดให้ เขียนรายละเอียด เช่น หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการออกเสียง นับคะแนน รวมคะแนน ประกาศผล ไปกำหนดไว้ในกฎหมายลูก
แต่ด้วยเนื้อหาที่ล็อคไว้ โดยเฉพาะคำว่า “สัดส่วนที่สัมพันธ์กับคะแนนรวม” จึงยากที่จะแปลความเป็นอื่น
ทั้งนี้ใช่ว่าจะไม่มีทาง!!
เพราะด้วยความของบทบัญญัติมาตรา 91 ว่าด้วย การแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมือง ไม่ได้ล็อคเลขที่ชัดเจน ดังนั้น หากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ออกแบบรับรองทุกคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ ยังถือว่า “ใช้ได้"
การเขียนกฎหมายลูกว่าด้วยรายละเอียดของการคำนวณหาส.ส.บัญชีรายชื่อ ย่อมแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากของ กรรมาธิการฯ และ เสียงข้างมากของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่จะลงมติตัดสินชี้ขาดในวาระสองและวาระสามด้วย.