“ประวิตร”ขวาง“ประยุทธ์-อนุพงษ์”ยึดพปชร. “3 ป.”ชิงอำนาจจุดพลิกการเมือง
“3 ป.”ชิงอำนาจจุดพลิกการเมือง “ประวิตร”ขวาง“ประยุทธ์-อนุพงษ์”ยึดพลังประชารัฐ “ประยุทธ์”ยังไม่เคาะเลือกชื่อ “พรรคสำรอง”
“3 ป.” ผู้ยิ่งใหญ่วงการทหาร-วงการการเมืองไทย ผูกพันกลมเกลียวกันมานาน มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นพี่ใหญ่ มี “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นน้องรอง และมี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม เป็นน้องเล็ก
ช่วง “รัฐบาลคสช.” พี่น้อง 3 ป. จัดสรรอำนาจกันอย่างลงตัว โดย “ประยุทธ์” ดูแลการบริหารประเทศในภาพรวม “ประวิตร” ดูแลด้านความมั่นคง (คุมทหาร-ตำรวจ) “อนุพงษ์” ดูแลด้านท้องถิ่น ทำให้การทำงานของ “3 ป.” ไม่มีความขัดแย้ง ต่างคนต่างมีอาณาจักรของตัวเอง
ทว่า การจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งปี 2562 และการจัดสรรอำนาจ “ประยุทธ์” ได้รับคำร้องขอที่ไม่อาจปฏิเสธได้ โดยให้วางสเปคคนคุม “ทหาร-ตำรวจ” ที่มีความสมาร์ท ในที่สุด“ประยุทธ์” ก็ต้องคุมกลาโหม-สำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยตัวเอง
ส่งผลให้ในแผงอำนาจของ “3 ป.” มีเพียง “ประวิตร” คนเดียวที่ถูกลดทอนอำนาจลง เหลือเพียงเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ได้ดูแลงานด้านใดด้านหนึ่งเป็นหลักอย่างชัดเจน
โดยผลของการลดทอนอำนาจ “ประวิตร” ไม่ได้โดนคนเดียว ยังมีบรรดาพี่น้องร่วมสายเลือด-พี่น้องนอกไส้ ต่างหมดอำนาจไปด้วยเช่นกัน จึงมีคนเบื้องหลังคอยวางเกมให้ “ประวิตร” กลับมามีแรงต่อรองทางการเมืองกับ “ประยุทธ์-อนุพงษ์”
การวางเกมให้ “ประวิตร” คัมแบ็ค เริ่มก้าวแรกด้วยการมานั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ต่อด้วยการขับ “ทีม 4 กุมาร” พ้นพรรคพลังประชารัฐ โดย “ประวิตร” เข้ามานั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค เพื่อควบคุมทุกอย่างเบ็ดเสร็จ
ทำให้เกิดการแบ่งอำนาจ “3 ป.” ในรูปแบบ “ประยุทธ์” ดูแลการบริหารประเทศ-ความมั่นคง “ประวิตร” ดูแลพรรคการเมือง-คุมเสียงในสภา “อนุพงษ์” ดูแลงานท้องถิ่น ซึ่งมองผิวเผินเหมือน “3 ป.” จะกลับมาแบ่งอำนาจกันลงตัวอีกครั้ง
ทว่า “ประวิตร-กุนซือ” วางเกมการเมืองอย่างลึกซึ้ง จน “ประยุทธ์-อนุพงษ์” ไม่ทันได้ไหวตัวว่าภัยกำลังมาถึง โดยวางคนที่ตัวเองไว้วางใจมากที่สุดรุกคืบเข้ามามีอำนาจภายในพรรคพลังประชารัฐ เพื่อใช้ต่อรองทางการเมือง
วางตัว“ธรรมนัส”ขุนศึกยึดพปชร.
ช่วงแรก “ประวิตร” ใช้บริการของ “เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้นั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เพื่อหวังซื้อใจ “กลุ่มสามมิตร” รวบรวม ส.ส.กลุ่มสามมิตร ให้มาผนึกกับ ส.ส. ในกลุ่ม-ก๊วนของ “ประวิตร” เอง
ทว่าภายหลังที่ “อนุชา” ได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี การทำงานในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐลดลง แถมมี “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า (รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น) พยายามแทรกตัวเข้ามามีบทบาทนำแทน
“ร.อ.ธรรมนัส” ประสานงานเข้ากันได้ดีกับ ดร.แหม่ม นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ (รมช.แรงงาน ในขณะนั้น) เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ ทำให้สามารถเลื่อยขาเก้าอี้เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐของ “อนุชา” ลงได้อย่างง่ายดาย ก่อนที่ “ร.อ.ธรรมนัส” จะดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคแทน ทำให้ขุมกำลังของ “ประวิตร” ที่พร้อมชักธงรบ ต่อรองกับ “ประยุทธ์-อนุพงษ์”
จุดแตกหักพี่น้อง 3 ป.
โดยจุดแตกหักอยู่ที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 31 ส.ค. – 4 ก.ย. 2564 เมื่อ “ประวิตร-ธรรมนัส-ทีมกุนซือ” เคาะวันว. เวลาน. ปฏิบัติการโหวตล้ม “ประยุทธ์” ด้วยการปล่อยข่าวต่อรองขอเก้าอี้ “รมว.มหาดไทย” ของ “อนุพงษ์”
อย่างไรก็ตาม มี “ขุนพล” ของ “ประวิตร-ธรรมนัส-ทีมกุนซือ” กลับใจคอนเฟิร์มข้อมูลปฏิบัติการกบฏกับ “ประยุทธ์” จนนำมาสู่การต่อรองเพื่อรักษาเก้าอี้นายกรัฐมนตรี โดย “ประวิตร” ยอมถอยสั่งการให้ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ โหวตให้กับ “ประยุทธ์” แต่เกมไม่จบเพราะ “ธรรมนัส” สั่งการให้ ส.ส.พรรคเล็ก โหวตล้ม “ประยุทธ์”
จนทำให้ “ประยุทธ์” ปฏิบัติการฟ้าผ่าปลด “ธรรมนัส-นฤมล” พ้นตำแหน่งรัฐมนตรี สร้างความขุนเคืองให้ “ประวิตร” อีกรอบ ก่อนนำมาสู่เกมประลองกำลังแข่งกันลงพื้นที่ โดยมี ส.ส. เป็นแบ็คอัพให้
ระหว่างนั้น “ประยุทธ์-อนุพงษ์” พยายามเคลียร์ใจกับ “ประวิตร” หลายรอบ แม้ในทางเจรจาจะบรรลุผล แต่ในทางปฏิบัติกลับตรงกันข้าม “ธรรมนัส” ยังคงเคลื่อนเกมใต้ดินภายในพรรคพลังประชารัฐหลายต่อหลายครั้ง ทั้งการทำโพลผู้สมัครสกัดสายตรง “ประยุทธ์” และมีส่วนเดินเกมทำให้สภาฯล่มอยู่บ่อยครั้ง
ขับ“ธรรมนัส”สร้างแรงต่อรอง
กระทั่งผลเลือกตั้งซ่อม จ.ชุมพร-สงขลา ผลออกมาผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐแพ้เรียบวุธ โดยส่วนหนึ่งมาจากวาทะ “เลือกคนรวย” ของ “ธรรมนัส” จนทำให้ “ประยุทธ์” ยื่นคำขาดให้ “ประวิตร” ปลด “ธรรมนัส”
ทว่า “กลุ่มธรรมนัส” แก้เกมด้วยปฏิบัติการขับตัวเองพ้นพรรคพลังประชารัฐ หอบ 21 ส.ส. ออกไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย ทว่ามี ส.ส. เบี้ยวนัดรวมถึงถูกห้ามปฏิบัติหน้าที่ ทำให้พรรคเศรษฐกิจไทยเหลือเพียง 16 ส.ส. เท่านั้น
แม้ “ประวิตร” จะให้คำมั่นกับ “ประยุทธ์-อนุพงษ์” ว่า “ธรรมนัส-ส.ส.เศรษฐกิจไทย” จะอยู่ขั้วรัฐบาล แต่ในทางการเมืองแทบไม่มีใครเชื่อตามที่ “ประวิตร” ให้คำมั่นเอาไว้ เพราะอ่านกันออกว่า 16 ส.ส. เศรษฐกิจไทย จะเป็นตัวแปรให้ “ประวิตร” วางหมากทางการเมืองต่อรองกับ “ประยุทธ์-อนุพงษ์”
ต่อรองแรก ขอเก้าอี้รัฐมนตรีให้กับ ส.ส. เศรษฐกิจไทย แต่ดูท่าทีของ “ประยุทธ์” แล้ว ยากที่จะยอมอ่อนข้อให้ แม้ชื่อที่ “ประวิตร” จะส่งมาไม่มีชื่อของ “ธรรมนัส” คู่ขัดแย้งโดยตรงก็ตาม
ต่อรองสอง มอบเก้าอี้ “รมว.มหาดไทย” หรือ “รมว.กลาโหม” หรือให้ควบคุมดูแล “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ให้กับ “ประวิตร” เพื่อกลับมามีอำนาจอีกครั้ง โดยกล่าวอ้างเตรียมรองรับการเลือกตั้ง แต่ “ประยุทธ์” ยังนิ่ง
จับตา3เดือนปฏิบัติการ“ประยุทธ์”
เมื่อ “ประยุทธ์” ไม่ตอบสนองข้อเสนอของ “ประวิตร” อาจจะถึงเวลาจำเป็นที่ต้องปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งจะมีการเปิดสมัยประชุมสภาฯอีกครั้ง เนื่องจากมีการคาดหมายว่าเมื่อเปิดประชุมสภาฯ “ขั้วฝ่ายค้าน” โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติทันที
ดังนั้นให้จับตาภายใน 3 เดือนนี้ “ประยุทธ์” จะวางเกมเดิมพันอนาคตทางการเมืองไว้อย่างไร เพราะกว่า 6 เดือนจากจุดแตกหัก “ประวิตร” เป็นฝ่ายคุมเกม-วางหมากการเมืองให้ “ประยุทธ์” เป็นฝ่ายคอยแก้
ภายในพลังประชารัฐ อ่านใจของ “ประยุทธ์” ต้องการยึดพรรคมาไว้ใช้งาน เพราะไม่ต้องเสียเวลาทำแบรนด์ใหม่ แค่รีแบรนด์ให้กลับมามีเครดิตทางการเมือง แต่ “ประวิตร” ที่ยังนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยังคอยขวางลำอยู่
กลุ่ม 6 รัฐมนตรี ที่ประยุทธ์ส่งเข้าไปคอนโทรลพรรคก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เพราะต้องรอคำสั่งอย่างเป็นทางการของ “ประวิตร” ในฐานะหัวหน้าพรรค ขนาดแค่คิดจะวางระบบประชาสัมพันธ์พรรคใหม่ก็ยังไม่สามารถเบิกจ่ายงบได้ เนื่องจากมี “นฤมล” ในฐานะเหรัญญิกพรรคขวางทางอยู่เช่นกัน
ฉะนั้นการที่ประยุทธ์ที่ใช้บริการ 6 รัฐมนตรียึดพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนี่คือสมบัติทางการเมืองชิ้นสุดท้ายของ “ประวิตร” หากไร้แรงต่อรองจากพรรคพลังประชารัฐก็อาจต้อง ม้วนเสื่อกลับบ้านได้เลย
ไม่เคาะเลือก“พรรคใหม่”
การเข้าเทกโอเวอร์พรรคพลังประชารัฐค่อนข้างยาก “ประยุทธ์” จึงสั่งการทางลับให้ “เครือข่ายการเมือง” จัดตั้งพรรคสำรองเตรียมการเอาไว้ โดยมีชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติของ “แรมโบ้” เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เปิดตัวก่อนใครเพื่อน แต่โดนคำสั่งลับให้อยู่ที่ในตั้งก่อน
นอกจากนี้ ยังมีชื่อพรรคไทยสร้างสรรค์ที่ “เสี่ยตั้น” ณัฐฏพล ทีปสุวรรณ อดีตรมว.ศึกษาธิการ “รองจั้ม” สกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เซ็ตระบบหลังบ้าน จัดตั้งสาขาพรรคครบ 4 ภาคเรียบร้อยแล้ว และจะเปิดตัวในเดือน มี.ค. สำรองไว้อีกพรรค
อย่างไรก็ตาม โมเดลของ “ประยุทธ์” ยังต้องการวัดกระแสของ “พรรคสำรอง” ว่าพรรคใดจะสามารถตอบโจทย์ทางการเมืองได้ดีที่สุด ก่อนจะรวมทุกพรรคให้มาผนวกอยู่ด้วยกัน ซึ่งรวมถึง “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” ของ “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ” ที่อาจมารวมกับพรรคใดพรรคหนึ่งที่ “ประยุทธ์” เลือกด้วย
3เดือนตัดสินอนาคต “3 ป.”
หลังจากนี้ “ประยุทธ์” มีเวลาเพียง 3 เดือนในการตัดสินใจ เพราะเมื่อเปิดประชุมสภาฯ อนาคตทางการเมืองจะถูกท้าทายอีกครั้ง เพราะการเข้าสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เปรียบเสมือนการเข้าสู่ลานประหารทางการเมือง
เนื่องจากไม่มีใครรับประกันได้เลยว่า “ประวิตร” ที่คุมส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จะเท 95 เสียงโหวตให้ทั้งหมด และ “ประวิตร-ธรรมนัส” ที่คุมส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย จะเท 16 เสียงโหวตให้ทั้งหมดเช่นกัน ดังนั้น “ประยุทธ์” จึงต้องขบคิดทางหนีทีไล่เอาไว้อย่างถี่ถ้วน
ภาพ “3 ป.” ที่ไม่กลมเกลียวเหมือนเดิม “ป.ประวิตร” ต้องการต่อรองกลับมามีอำนาจ “ป.ประยุทธ์-ป.ป๊อก” ต้องการรักษาอำนาจ สถานการณ์การเมืองจึงรอวัน “พลิกขั้ว” ขั้วไหนอยู่-ขั้วไหนไป อีกไม่นานมีคำตอบ