"นายกฯ" ซาบซึ้ง "กษัตริย์แห่งซาอุฯ" พระราชทาน "อัลกุรอาน" แก่มุสลิมไทย
"โฆษกรัฐบาล" เผย "นายกฯ" ซาบซึ้ง กษัตริย์แห่งซาอุฯ พระราชทาน "อัลกุรอาน" 50,060 เล่ม แก่ชาวไทยมุสลิม ชี้ เป็นการส่งเสริมความร่วมมือ สัมพันธไมตรีอันดีระหว่างกัน
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รู้สึกยินดี และแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียในโอกาสที่ทรงพระราชทานอัลกุรอานจำนวน 50,060 เล่ม แก่ชาวไทยมุสลิม โดยอัลกุรอานที่ทรงพระราชทานให้จะมีขนาดต่างๆ และแปลเป็นภาษาต่างๆ โดยได้มีพิธีส่งมอบไปแล้วเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ที่กรุงเทพฯ โดยมีรองหัวหน้าคณะผู้แทนของราชอาณาจักร ณ สถานเอกอัครราชทูต ซาอุดีอาระเบีย ในกรุงเทพฯ ผู้แทนจากกระทรวงกิจการศาสนาอิสลามแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ตัวแทนจากภาคส่วนการเมืองและอิสลาม นักวิชาการและผู้สนับสนุนจากจังหวัดต่างๆ ของไทยเข้าร่วมพิธีด้วย
กระทรวงกิจการศาสนาอิสลามแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นตัวแทนของสำนักพิมพ์อัลกุรอาน คิง ฟาฮัด (King Fahd Complex for the Printing of the Holy Qur’an) จะจัดส่งสำเนาอัลกุรอานให้กับชาวมุสลิมทั่วโลก อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ในการส่งมอบของขวัญก่อนเดือนรอมฎอนจะมาถึง
การส่งมอบดังกล่าว ถือเป็นการต่อยอดจากที่ซาอุดีอาระเบียเคยส่งมายังประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเป็นโอกาสสำคัญในการสานต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคี
ทั้งนี้ อัลกุรอานได้ถูกแปลไปในกว่า 76 ภาษา และทางสำนักพิมพ์ฯ ได้เพิ่มอัตราการผลิตขึ้นมากกว่า 100% คือ จาก 7 ล้านเล่มต่อปี เป็น 20 ล้านเล่มต่อปี โดยมีคุณภาพผลงานในระดับสูงโดยจนถึงสิ้นปี 2564 มีการผลิตแล้วมากกว่า 345 ล้านเล่ม และมากกว่า 320 ล้านเล่มในจำนวนนี้ ถูกแจกจ่ายเป็นของขวัญไปสู่ชาวมุสลิมทั่วโลก
นายธนกร กล่าวว่า การส่งมอบดังกล่าวสะท้อนถึงการส่งเสริมความร่วมมือและสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ที่มีปฏิสัมพันธ์ถึงมิติด้านสังคม รวมถึงบทบาทของไทยที่ได้รับการยอมรับในชุมชนมุสลิมระหว่างประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรี มีนโยบายในการส่งเสริม และสนับสนุนสังคมพหุวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ เสรีภาพและปรองดอง รวมถึงการสร้างปฏิสัมพันธ์ในสังคม
นอกจากนั้น ล่าสุด วานนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2565) เที่ยวบินปฐมฤกษ์ของสายการบิน Saudi Arabian Airlines จากเมืองเจดดาห์ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ได้ถึงประเทศไทยเป็นเที่ยวบินแรก เมื่อเวลา 18.05 น. โดยมีคณะนักท่องเที่ยวชาวซาอุดีอาระเบีย เดินทางมาไทยจำนวน 71 คน โดยมีการควบคุมให้ไปตามมาตรการ การเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยเชื่อมั่นว่า เที่ยวบินปฐมฤกษ์นี้ถือเป็นหนึ่งปัจจัยความสำเร็จจากการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี มั่นใจว่าการเปิดตารางเที่ยวบินตรง กรุงริยาด – กรุงเทพฯ – กรุงริยาด นี้จะช่วยส่งเสริมการเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว และช่วยให้ไทยเป็นประเทศศูนย์กลางการเดินทาง สามารถเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางอื่นๆ ได้สะดวก ตลอดจนเป็นโอกาสต่อยอดขยายตลาดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ เช่น ยุโรป และตะวันออกกลาง เป็นต้น
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์