ฝ่ายค้าน ดัน ปชป. "คุมกม.ลูก"  กติกา-เกม "เลือกตั้ง” อาจพลิก

ฝ่ายค้าน ดัน ปชป. "คุมกม.ลูก"  กติกา-เกม "เลือกตั้ง” อาจพลิก

ยกแรกของวงประชุม แก้ 2พ.ร.ป.ที่ใช้เลือกตั้ง "ฝ่ายค้าน" สลับหน้า ดัน "สาธิต" คน"ปชป." นั่ง ประธานกมธ. ปาดหน้า "ไพบูลย์" เด็กบิ๊กป้อม เค้าลางของ เกมยื้ออำนาจ-อยู่ยาวของ "3ป." ส่อเค้าลำบาก

          การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจาณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่ใช้ในการเลือกตั้ง 2 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... และ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ... รัฐสภา นัดแรก เมื่อ 1 มีนาคม 2565

 

          มีวาระสำคัญ คือการเลือกประธานกมธ.ฯ เพื่อทำหน้าที่ควบคุม และกำกับแนวทางของกติกาที่จะถูกบังคับใช้

 

          ก่อนหน้านี้ ฝั่งรัฐบาลวางตัว “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ​ มือกฎหมายข้างกาย “นายป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ให้ทำหน้าที่ดูแลกระบวนการนี้  

 

          และได้แจ้งกับ กมธ.ซีกรัฐบาลให้สนับสนุน ทั้งก่อนหน้าวันประชุม และก่อนเวลาเริ่มประชุม

 

          เมื่อถึงเวลา “พรรคฝ่ายค้าน” ตามคำให้สัมภาษณ์ของ “ชลน่าน ศรีแก้ว" หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฐานะกมธ.ฯ ก่อนเข้าร่วมประชุม ออกมาในทำนอง “ไม่เอาด้วย” เพราะฝ่ายค้านฝังใจมาตั้งแต่ครั้งที่ “ไพบูลย์” ขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยื่นตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้าน ที่ให้ตั้ง “ส.ส.ร.” ยกร่างรัฐธรรมนูญ

ฝ่ายค้าน ดัน ปชป. \"คุมกม.ลูก\"  กติกา-เกม \"เลือกตั้ง” อาจพลิก

          และครั้งล่าสุดในวง กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และ มาตรา 91 ที่ครานั้น “ไพบูลย์” นั่งหัวโต๊ะ เสียงฝ่ายค้านข้างน้อยไม่ถูกรับ โดยเฉพาะการบัญญัติสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ทุกเสียงมีความหมาย

          การไม่ยอมรับ “ไพบูลย์” ยังมีการเสนอทางออกให้ “สาธิต ปิตุเตชะ” รมช.สาธารณสุข จากประชาธิปัตย์ ฝ่ายรัฐบาล นั่งทำหน้าที่ แลกกับ "ฝ่ายค้าน" จะไม่เสนอชื่อใครแข่ง เพื่อลบภาพความขัดแย้งในการทำงานร่วมกันตั้งแต่นัดแรก

 

          เมื่อเข้าสู่ที่ประชุม พบว่า “ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล” เป็นฝ่ายเปิดเกม คุยกับซีกรัฐบาล ให้ชู “สาธิต” เป็นประธาน กมธ. พร้อมให้เหตุผลว่าร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับ เป็นกฎหมายสำคัญ เมื่อ ครม.ส่งชื่อรัฐมนตรีเข้าร่วมควรให้ความสำคัญ

ฝ่ายค้าน ดัน ปชป. \"คุมกม.ลูก\"  กติกา-เกม \"เลือกตั้ง” อาจพลิก

          แต่ถูกทัดทานจาก “อัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์” ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ที่ทำหน้าที่แทน “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” ส.ส.นครศรีธรรมราช ประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ที่ขณะนั้นยังเดินทางมาไม่ถึงที่ประชุม และให้คำยืนยันว่า “พรรคประชาธิปัตย์ จะดำเนินการตามมติวิปรัฐบาล ที่สนับสนุนให้ นายไพบูลย์ เป็นประธาน กมธ. เพื่อรักษามารยาทในการทำงานร่วมกันและเป็นไปตามข้อตกลง”

 

          ทำให้การเสนอชื่อ คนชิงตำแหน่ง ประธานกมธ.ฯ มีการแข่งขัน จากคนที่มาในโควตา ครม. โดยเบอร์หนึ่ง คือ “ไพบูลย์” เสนอโดย “สมชาย แสวงการ ส.ว.” ส่วนเบอร์สอง คือ “สาธิต” และคนที่เสนอชื่อ คือ “ส.ส.นิด” เกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่มีสถานะเป็นงูเห่าถูกดอง เพราะปัจจุบันร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทย และการได้เป็น กมธ.ครั้งนี้ มาในโควต้าพรรคภูมิใจไทย

ฝ่ายค้าน ดัน ปชป. \"คุมกม.ลูก\"  กติกา-เกม \"เลือกตั้ง” อาจพลิก

          สำหรับการประชุมในวาระดังกล่าว มี กมธ.เข้าประชุม 43 คน จากจำนวน 49 คน โดยมีคนลา 5 คน คือ กิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลุ่มกิจการการเลือกตั้ง เกรียงไกร พานดอกไม้ รองเลขาธิกา กกต. ด้านพรรคการเมือง ซึ่งเป็นกมธ.ในโควตาคณะรัฐมนตรี ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ติดประชุมกรรมาธิการฯ สาธิต ปิตุเตชะ ติดประชุมครม. และ สุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ส.ว. และอีก 1 คน คือ ชินวรณ์ มาไม่ทันการประชุมตอนโหวต เนื่องจากสายการบินจากนครศรีธรรมราช ล่าช้ากว่ากำหนด

 

          สำหรับผลการลงคะแนนโดยวิธีลับ การขานคะแนนสลับกันไปมาจนถึงบัตรสุดท้าย จึงปรากฎว่า “สาธิต” ได้ตำแหน่งประธาน กมธ.ไป อย่างเฉียดฉิว คือ 22 เสียง ต่อ 21 เสียง

 

        จากนั้น ได้พักประชุม 10 นาที เพื่อให้ตกลงกันว่าใครจะนั่งในตำแหน่งใด โดย “ส.ว.สมชาย" เสนอชื่อ “ส.ส.ไพบูลย์” เป็นรองประธาน กมธ. คนที่หนึ่ง ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วย เพราะได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ และ แพ้ “สาธิต” แค่แต้มเดียว แต่ “เจ้าตัว” ได้ขอถอนชื่อ และไม่รับตำแหน่งใดๆ ในกมธ.

ฝ่ายค้าน ดัน ปชป. \"คุมกม.ลูก\"  กติกา-เกม \"เลือกตั้ง” อาจพลิก

          สำหรับ 22 คะแนนที่โหวตให้ “สาธิต” คาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจาก กมธ.ซีกฝ่ายค้าน ที่ร่วมประชุม 12 คน และกมธ.โควตาพรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว. บางส่วน

 

          โดยกมธ.คณะนี้ มี 49 คน แต่งตั้งตามโควตาต่างๆ แบ่งเป็น “ฝ่ายรัฐบาล" 22 คน ประกอบด้วย ครม. 8 คน พลังประชารัฐ 6 คน ประชาธิปัตย์ 3 คน ภูมิใจไทย 3 คน เศรษฐกิจไทย 1 คน และชาติไทยพัฒนา 1 คน

 

          ทั้งนี้โควตาของพรรคภูมิใจไทยทั้ง 3 คน พบว่าไม่มีส.ส.ในสังกัดแม้แต่คนเดียว แต่เป็น ส.ส.จากก้าวไกล เกษมสันต์ มีทิพย์ คารม พลพรกลาง และโควตาคนนอกคือ ธนิต ศรีประเทศ อดีตรองเลขาธิการ กกต.

 

          ขณะฝ่ายค้าน มี 13 คน ประกอบด้วย เพื่อไทย 8 คน ก้าวไกล 3 คน เสรีรวมไทย 1 คน และประชาชาติ 1 คน ส่วน ส.ว.มี 14 คน

 

          หลังการประชุมนัดแรกเสร็จสิ้น “ชินวรณ์” ให้สัมภาษณ์ต่อประเด็นที่ “คนของรัฐบาล” แย่งเก้าอี้กันเอง โดยมองถึงภาพการทำงานร่วมกันว่า ไม่เป็นปัญหา หรือข้อขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมและการทำงานร่วมกัน เพราะต้องยึดตามมติของที่ประชุมและกติกา

 

          ส่วนกรอบการทำงานนั้น ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน เพราะต้องรอ ประธานกมธ.ฯ ร่วมประชุมในสัปดาห์หน้า แต่มีข้อตกลง เบื้องต้น คือ ประชุมทุกวันพุธ-พฤหัส โดยวันพุธจะพิจารณา ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ส่วนพฤหัสบดี พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

ฝ่ายค้าน ดัน ปชป. \"คุมกม.ลูก\"  กติกา-เกม \"เลือกตั้ง” อาจพลิก

          ขณะที่ระยะเวลาทำงาน ต้องยึดกรอบรัฐธรรมนูญที่วางไว้ให้ 180 วัน นับจากวันที่รัฐสภาลงมติรับหลักการ คือ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ เมื่อนับปฏิทินแล้ว รัฐสภาต้องผ่านวาระสามให้ได้ก่อน วันที่ 23 สิงหาคม นี้

 

          ทว่าสถานการณ์การเมืองในตอนนี้ เหมือนถูกเร่งให้นำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ และต้องการใช้เวลาช่วงปิดสมัยประชุม 1 มีนาคม - 21 พฤษภาคม ทำงานนี้ให้เสร็จ แม้จะไม่ง่าย เพราะในสถานการณ์ที่ “3 ป.” ต้องการกลับสู่อำนาจหลังการเลือกตั้ง ขณะที่พรรคต่างๆต้องการชิง “อำนาจ” นั้นเช่นกัน

 

          ดังนั้นการให้บทบาท “พรรคประชาธิปัตย์” ฐานะนักการเมืองผู้เจนจัดด้านการใช้กฎหมายเป็นผู้นำการเขียนกติกา เชื่อแน่ว่า จะไม่ยอมให้ใครจูงมือเขียนกลไกเอื้อให้ใครเพียงฝ่ายเดียวในการเลือกตั้งครั้งหน้า

 

          สุดท้ายจะได้กติกาที่ผ่านความเห็นร่วมจากเสียงในรัฐสภา เกินกึ่งหนึ่ง ของ สมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสองสภา หรือไม่ ไม่เกินเดือนสิงหาคมนี้ จะได้รู้กัน.