“วิโรจน์” ยื่น “อัศวิน” ขอข้อมูล รฟฟ.สีเขียวทุกอย่าง ลั่นต่อสัมปทานไม่ได้
โจทย์ใหญ่ทุกฝ่าย! “วิโรจน์” บุก กทม.ยื่นหนังสือถึง “พล.ต.อ.อัศวิน” ขอเปิดข้อมูลรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมด ห่วงเรื่องเข้า ครม.ก่อนเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” ย้ำรัฐให้ต่อสัญญาสัมปทานไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2565 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พรรคก้าวไกล เดินทางไปศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เพื่อขอใช้สิทธิเข้าถึงและคัดข้อมูลข่าวสารของทางราชการ เกี่ยวกับกิจการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เนื่องจากมีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า ซึ่งแม้จะมีหลายคนเสนอทางเลือกในการแก้ปัญหา แต่ทั้งหมดไม่ได้อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง ดังนั้นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาคือการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด
นายวิโรจน์ กล่าวว่า ข้อมูลที่ขอมี 3 ส่วนคือ บันทึกการประชุมของคณะกรรมการเจรจาที่มาจากคำสั่งของ คสช. เกี่ยวกับการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมด เช่น การประเมินจำนวนผู้โดยสาร การประมาณการณ์รายได้จากค่าโดยสารและรายได้อื่น หนี้คงค้างกับบีทีเอส หนี้คงค้างกับ รฟม. มีรายการอะไร จำนวนเท่าไหร่ รายละเอียดค่าปรับ ดอกเบี้ยต่าง ๆ และที่สำคัญคือร่างสัญญาในการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะจะทำให้แก้ปัญหาราคาค่าโดยสารแพง และยังสามารถถอดบทเรียนให้รอบคอบ รัดกุมในการทำสัญญากับรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ได้อีกด้วย ซึ่งการขอข้อมูลทั้งหมดถือเป็นก้าวแรกที่เป็นรูปธรรมที่สุด ตนกลัวว่าเรื่องนี้จะผ่านไปก่อนมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยหลังได้ข้อมูลมาจะเปิดเผยต่อสาธารณชนทันที
ส่วนการเปิดเผยสัญญารถไฟฟ้าจะเหมือนกับตอนที่รัฐเปิดเผยสัญญาวัคซีนโควิด-19 ที่มีการปิดข้อความบางส่วนหรือไม่นั้น นายวิโรจน์ กล่าวว่า ต้องลองดูแต่ตนคิดว่าประชาชนเข้าใจรายละเอียดทางเทคนิคได้ และควรรู้ในส่วนของการคิดค่าโดยสาร
“เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของผู้ว่าฯ กทม. รัฐบาล และประชาชน โดยเฉพาะคนกรุงเทพ เพราะเงินที่ใช้ในการก่อสร้างมาจากภาษีประชาชน แต่คนกรุงเทพอาจได้รับผลกระทบมากกว่าเพราะเป็นผู้ใช้งาน พร้อมยืนยันจุดยืนชัดเจนว่าหากไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด ไม่ควรต่อสัญญา ผู้ว่าฯ ห้ามเซ็น และที่สำคัญคือต้องการเห็นตั๋วร่วมและค่าโดยสารร่วม ยกเว้นการเก็บค่าโดยสารซ้ำซ้อน หากรัฐบาลพยายามดันเรื่องนี้เข้า ครม. ให้มีการต่อสัญญาสัมปทานนั้น มองว่ารัฐบาลจะดันได้อย่างไรในเมื่อประชาชนยังไม่รู้รายละเอียด เป็นไปไม่ได้ที่จะตีเช็คเปล่า ประชาชนทุกคนต้องร่วมกันเรียกร้อง” นายวิโรจน์ กล่าว
ส่วนกรณีมีรายงานงานสัปดาห์หน้า ครม. จะมีการรับทราบการกำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่า กทม.นั้น นายวิโรจน์ กล่าวว่า คาดว่าสิ้นเดือน มี.ค.นี้ จะสรุปรวบรวมนโยบายได้ทั้งหมดแล้วจัดทำออกมาเป็นเล่ม แต่สิ่งที่ยังกังวลคือเรื่องสัมปทานรถไฟฟ้าจะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ดังนั้นจึงไม่ต้องรอให้ใครมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ขอดำเนินการในฐานะประชาชน พร้อมตั้งคำถามกลับว่าประชาชนมีสิทธิ์รู้รายละเอียดสัญญาหรือไม่