"สภาฯ" จี้ "ผู้รับจ้าง" ตอบปมท่อน้ำแตก สงสัยใช้ท่อผิดสเปค

"สภาฯ" จี้ "ผู้รับจ้าง" ตอบปมท่อน้ำแตก สงสัยใช้ท่อผิดสเปค

โฆษกสำนักงานเลขาธิการสภาฯ แจง ตรวจสอบปมท่อน้ำแตกกลางสภาฯ สงสัยใช้ท่อผิดสเปค ชี้ต้องทนแรงดันน้ำ 10Bar จี้ผู้รับจ้างตอบ

        ว่าที่เรือตรี ยุทธนา สำเภาเงิน ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ฐานะโฆษกประจำสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ออกเอกสารข่าว ชี้แจงถึงกรณีที่มีภาพปรากฎในสื่อมวลชนว่า เกิดเหตุท่อน้ำประปารั่วภายในอาคารรัฐ เมื่อเวลา 06.00 น. ของวันที่ 1 มีนาคม  ทำให้มีน้ำไหลท่วมขังบริเวณห้องทำงาน บางส่วน ตลอดจนไหลท่วมขังที่ลานจอดรถชั้นใต้ดิน   B1 ว่า สำนักงานฯ ได้สั่งการให้ผู้รับจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วและได้รับรายงานว่า เหตุดังกล่าวเกิดจากข้องอ 90 องศา ชนิดแบบสวมอัด ของท่อระบบรดน้ำต้นไม้แตก ทำให้เกิดน้ำรั่วบริเวณเหนือฝ้าเพดานชั้น 8 และไหลท่วมลงมาบริเวณพื้นและห้องทำงานบางส่วนที่อยู่บริเวณ ชั้น 8 ตลอดจนไหลต่อเนื่องไปยังลานจอดรถชั้นใต้ดิน B1 ภายในอาคารรัฐสภา

          "ตามปกติแล้ว การทำงานของระบบรดน้ำต้นไม้จะมีการกำหนดโปรแกรมให้ปั๊มระบบรดน้ำต้นไม้ทำงานในระหว่างเวลา 06.00 -12.00 นาฬิกาของทุกวัน เมื่อระบบทำงานจะเกิดแรงดันน้ำภายในท่อในระดับ 4 Bar โดยชนิดของท่อและข้อต่อที่เลือกใช้ในโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบนั้น ได้เลือกใช้ท่อและข้อต่อเป็นชนิด HDPE Class PN10 ซึ่งได้มีการทดสอบการทนแรงดันน้ำได้ถึงระดับ 10 Bar จึงไม่ควรเกิดปัญหาข้องอ 90 องศา ชนิดแบบสวมอัดของท่อระบบรถน้ำต้นไม้แตกตามที่ปรากฏ สำหรับสาเหตุที่ทำให้ระบบท่อน้ำแตกนั้น อยู่ในระหว่างการตรวจสอบของผู้รับจ้างฯ และจะรายงานผล รวมทั้งวิธีการป้องกันปัญหาให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทราบต่อไป" โฆษกสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ระบุ

         ว่าที่เรือตรี ยุทธนา ระบุด้วยว่าการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบนั้น อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ควบคุมงานและมีที่ปรึกษาบริหารโครงการฯ ร่วมดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการก่อสร้าง ทั้งผู้รับจ้างยังไม่ได้ส่งมอบงานงวดสุดท้าย และคณะกรรมการตรวจการจ้างฯ ยังไม่มีการตรวจรับ ดังนั้น หากมีความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากความชำรุดบกพร่องของการก่อสร้างอาคารในระหว่างที่ยังไม่ได้มีการตรวจรับ ผู้รับจ้างฯ ยังคงต้องรับผิดชอบในความเสียหายทั้งหมด.