ปิดฉากคดีบ้านเอื้อฯ องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ยืนคุก "วัฒนา" 99 ปี ชดใช้ 89 ล้าน

ปิดฉากคดีบ้านเอื้อฯ องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ยืนคุก "วัฒนา" 99 ปี ชดใช้ 89 ล้าน

ปิดฉากคดีบ้านเอื้ออาทร! องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ พิพากษาแก้โทษริบทรัพย์ แต่ยืนตามศาลฎีกาฯจำคุก "วัฒนา เมืองสุข" 99 ปี คงจำคุกจริง 50 ปี ร่วมกันชดใช้ 89 ล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 เวลา 14.00 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดอ่านคำพิพากษาขององค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ ในคดีทุจริตการก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร ของการเคหะแห่งชาติ ที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นจำเลย

ความคืบหน้ากรณีนี้ เมื่อเวลาประมาณ 16.50 น. องค์คณะชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์พิพากษาเเก้โทษริบทรัพย์ นายวัฒนา จำเลยที่ 1พร้อมด้วยจำเลยที่ 4, 5, 6, 7, 8 เเละ10 ร่วมชดชดใช้เงิน 89 ล้านบาท

ในส่วนอาญานั้น องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ฯเห็นว่า อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้นพิพากษายืนว่า นายวัฒนา มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 รวมความผิด 11 กระทง กระทงละ 9 ปี รวม 99 ปี แต่คงจำคุกจริง 50 ปี

องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ฯ ระบุว่า ข้ออ้างนายวัฒนาที่อ้างว่าไม่ได้มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 4 และที่ 7 ขืนใจให้ฝ่ายผู้ประกอบการจ่ายสินบนนั้นเป็นสิ่งที่ฟังไม่ขึ้น จึงให้ยกอุทธรณ์ของนายวัฒนา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากคำพิพากษาดังกล่าวทำให้นายวัฒนาต้องถูกคุมตัวไปรับโทษทันที

 

 

 

โดยคดีนี้มีจำเลยด้วยกัน 14 ราย ได้แก่

1.นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร

2.นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตบอร์ดการเคหะแห่งชาติและอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการระหว่างวันที่ 9 ก.ย. 2548 – 19 ก.ย. 2549

3.นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจก่อสร้างที่พักอาศัย

4.นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ "เสี่ยเปี๋ยง" นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่

5.น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง ลูกน้องคนสนิทนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร

6.น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด

7.น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด

8.บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด โดยนายปกรณ์ อัศวีนารักษ์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน

9.บริษัท ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท ไทย เฉน หยู อินเตอร์เนชั่นแนลคอนสตรัคชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) โดยนางพิมพ์วรา รัชต์ธนโรจน์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน

10.นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง หรือกี้ร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย (ปัจจุบันหลบหนีคดี)

11.บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด

12.บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย

13.บริษัท พรินซิพเทค ไทย จำกัด ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง

14.น.ส.สุภาวิดา คงสุข กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน บริษัท ไทยเฉนหยูฯ

ในช่วงบ่าย นายวัฒนา พร้อม นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ในฐานะทนายความของนายวัฒนา ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ในศาลฎีกา คดีบ้านเอื้ออาทร

นายวัฒนา กล่าวว่า มายืนยันความบริสุทธิ์ตัวเองมาตามหาความเป็นธรรม ได้สู้คดีอย่างเต็มที่ อยากจะขอบคุณกัลยาณมิตร นายนรินท์พงศ์ และอีกหลายคน นายโภคิน พลกุล คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทยให้กำลังใจ วันนี้มาฟังคำพิพากษาเชื่อว่าจะออกมาตามครรลองเพราะบ้านเมือง กระบวนการยุติธรรมเสียความน่าเชื่อถือมากแล้ว ทุกคนพยายามเอากลับมาอยู่ในที่ในทาง หลักการดำเนินคดีอาญา เป็นพื้นฐานทั้งโลก ที่สำคัญคือองค์ประกอบกฎหมายครบหมด หลักการไปสู่ข้อเท็จจริงพิสูจน์ได้ พยานหลักฐานที่นำมาพิสูจน์ข้อกล่าวหาต้องได้มาโดยชอบ คดีนี้ไม่มีอะไรถูกต้องทั้งหมด

“ผมไม่ใช่พูดแบบศรีธนญชัย เชื่อหรือว่ามีการเรียกผู้ประกอบการมาทั้งหมดแล้วเรียกเงิน เชื่อหรือว่ามี พอข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้จะพิสูจน์ต้องไปปั้นสิ่งที่เป็นเท็จมา และสุดท้ายองค์ประกอบกฎหมาย การใช้ตำแหน่งโดยมิชอบ การกล่าวหาว่าผมเรียกเงิน นั้นผมไม่มีอำนาจ เพราะการเคหะแห่งชาติ มีบอร์ดพิจารณา ถ้ารัฐมนตรีจะทำผิด แค่ผู้สนับสนุน”นายวัฒนากล่าว

โดยกรณีนี้ ศาลฎีกาฯ เคยอ่านคำพิพากษาไปแล้ว เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2563 โดยพิพากษาจำคุกวัฒนา เมืองสุข ในฐานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 รวมความผิด 11 กระทง กระทงละ 9 ปี รวม 99 ปี แต่คงจำคุกจริง 50 ปี ต่อมานายวัฒนายื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยมีการตั้งองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์คดีดังกล่าว และให้ประกันตัวนายวัฒนา ออกมา โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 10 ล้านบาท