"3ป." รอมชอมอำนาจ ลากยาวข้ามชอตรัฐบาลหน้า
แม้สัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง 3ป.อาจจะไม่หวานชื่นดังเก่า แต่จำเป็นต้องสร้างภาพให้เห็นถึงความกลมเกลียว เพื่อให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ยาวจนครบเทอม
รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางแนวทางจะอยู่ยาวจนครบเทอม ท่ามกลางคำถามว่าจะอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อถูกเล่นเกมการเมืองจากทุกฝั่ง ทั้งรัฐบาลด้วยกันเองและฝ่ายค้าน
ปรากฏการณ์แยกพรรคจากพลังประชารัฐ ของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หลังปฎิบัติการโค่นนายกฯประยุทธ์ไม่สำเร็จ ทำให้ถูกประเมินว่ารัฐบาลอาจอยู่ยาก และสุ่มเสี่ยงที่นายกฯอาจต้องยุบสภาในเดือนพฤษภาฯ คาศึกซักฟอก
ความพยายามแก้เกม “กลุ่มกบฎ” ด้วยการผนึกของพรรคร่วมรัฐบาล จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้นายกฯ ประยุทธ์มั่นใจเพิ่มขึ้น แต่เหตุผลสำคัญคือความเป็นปึกแผ่นของพรรคพลังประชารัฐ รวมทั้งพรรคเล็ก 14 เสียงที่จำเป็นต้องดึงมาไว้ข้างรัฐบาลให้ได้
ทว่าเสถียรภาพพรรคร่วม และรัฐบาลจะเป็นไปได้ 3 ป.ต้องกลมเกลียวกันเสียก่อน เพราะตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาในแวดวงการเมืองไม่เชื่อว่าความสัมพันธ์ 3 ป.ยังเหมือนเดิม แม้แต่ภาพล่าสุดการรับประทานอาหารร่วมกัน ก็ถูกมองว่าอาจทำเพื่อสยบข่าว
เป้าหมายเบื้องต้นของรัฐบาลในการอยู่จนถึง การเป็นเจ้าภาพเอเปก ซึ่งก็ใกล้กับช่วงที่รัฐบาลจะครบเทอม 23 มีนาคม 2566 เวลานี้นายกฯ จึงวางไทม์ไลน์เอาไว้ชัดเจน คือ 4 พันธกิจ
1.การเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาช่วงเมษายน-พฤษภาคม
2.เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คาดว่าประมาณปลายพฤษภาคม-มิถุนายน
3.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก 2 ฉบับ ซึ่งยื้อได้ถึง เดือนสิงหาคม
4.การประชุมผู้นำเอเปกเดือนพฤศจิกายนที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
แม้จะมี 4 พันธกิจเพื่ออยู่ยาวแต่วิบากกรรมที่นายกฯ ประยุทธ์ ต้องฝ่าไปให้ได้คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเดือนมิถุนายน หลังจากฝ่ายค้านจะยื่นญัตติในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม และอีกเรื่อง คือการยื่นตีความตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีในเดือนสิงหาคม
เพราะการอยู่ยาวของนายกฯ จะต้องมาพร้อมกับความชอบธรรมทางการเมืองด้วย ซึ่งขณะนี้ปฎิเสธไม่ได้ว่า คะแนนนิยมของนายกและรัฐบาลตกต่ำอย่างต่อเนื่อง การอยู่ยาวหรืออยู่ครบสมัยไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคืออยู่แล้วทำอะไรให้ประชาชนและประเทศชาติ
ขณะที่ความนิยมของรัฐบาลลดลงจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้ 1.การแก้ปัญหาไม่ตอบโจทย์ เช่น เรื่องเศรษฐกิจ หนี้สินกับรายได้ต่างๆ เรื่องโควิด การทำงานรูทีน แบบข้าราชการประจำ ซึ่งความเป็นผู้นำความเป็นนายกฯ ต้องทำงานแบบซีอีโอเชิงยุทธศาสตร์ มองและแก้ว่าปัญหานี้จะไปอย่างไร ไม่ใช่เรียกแต่ประชุม ที่ไม่ค่อยเกิดผล
2.ยังมีปัญหาเรื่องตัวบุคคลในรัฐบาล ที่นายกฯ ต้องกลับไปคิดว่าจะปรับ ครม.อย่างไร
3.ความเบื่อหน่ายนายกฯประยุทธ์ ที่อยู่นานเกินไป ซึ่งเป็นธรรมชาติของการเมือง ต่อให้มีผู้นำดีอย่างไร เมื่ออยู่นานเกินไปประชาชนก็เบื่อ ตัวอย่างพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่อยู่มา 8 ปี แม้ไม่เคยปรากฏว่าท่านทำเรื่องผิดพลาดอะไร มีความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม แต่พออยู่นานความเบื่อมันเกิดเร็ว และยุคนี้โลกที่เปลี่ยนเร็วการรับรู้ได้เร็ว ยิ่งทำงานแบบรัฐราชการ ความต้องการการเปลี่ยนแปลงของประชาชนจึงยิ่งมากขึ้น
4.ความนิยมของพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้นหลังจากโทนี่ ทักษิณ ชินวัตร ที่ระยะหลังใช้กลยุทธ์ดึงเสียง ทั้งดึงน้องสาว อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาพบแฟนคลับ
5.ไม่มีนโยบายใหม่ เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้คน และมองไม่เห็นอนาคต ต้องย้อนกลับไปดูว่าในระยะที่ผ่านมารัฐบาลทำอะไร อย่างไรบ้างเป็นยุทธศาสตร์ที่เป็นแนวนโยบายนำพาประเทศไปข้างหน้าแต่กลับปรากฎว่า นโยบายใหม่ของรัฐบาล เช่น บางกระทรวงที่เกี่ยวกับก่อสร้าง กับก้าวหน้าในการเรียกเปอร์เซ็นต์จากผู้รับเหมาจาก 4% เป็น 6% นายกฯเคยได้ยินเรื่องเหล่านี้หรือไม่ และกล้าเข้าไปจัดการหรือไม่ ซึ่งมันมีเงื่อนไขในทางการเมืองที่อาจทำให้นายกฯไม่กล้าเข้าไปจัดการปัญหานี้ จึงเป็นโอกาสของนักเลือกตั้งและไอ้โม่งแต่ไม่เป็นโอกาสของประชาชน
ตัดกลับมาที่ การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ซึ่งเป็นเรื่อง “คณิตศาสทางการเมือง” เกี่ยวข้องกับการเมืองว่าจะรอดหรือไม่รอด เมื่
เช็คเสียงของรัฐบาลจะพบว่าปัจจุบันมี 265 ฝ่ายค้านมี 208 และตัวแปรสำคัญอยู่ที่พรรคเศรษฐกิจไทยของร.อ.ธรรมนัสกับพรรคเล็กซึ่ง 265 เสียงเดิมรวมพรรคเศรษฐกิจไทย แต่ขณะนี้ร.อ.ธรรมมนัสประกาศอิสรภาพว่าไม่ได้อยู่ข้างรัฐบาล
ซึ่งสะท้อนถึงการประนีประนอมอำนาจไม่ได้ เมื่อดึงกลุ่มนี้ออกมาจะเหลือ 236 เสียง ถ้าตัวเลข 14 เสียงพรรคเล็ก บวก 16 เสียงพรรคเศรษฐกิจไทย มาอยู่ฝ่ายค้านก็จะเป็นตัวแปรสำหรับรัฐบาล เมื่อฝ่ายค้านมี 208 เสียง
อย่างไรก็ตามฝ่ายสนับสนุนนายกฯประยุทธ์อ้างว่าในพรรคเศรษฐกิจไทยมี 4-6 เสียงที่ยังโหวตให้นายกฯขณะที่ในพรรคพลังประชารัฐก็มีส่วนที่ไม่สนับสนุนนายกฯประยุทธ์อยู่แม้จะไม่รู้จำนวนชัดเจนจึงต้องคำนวณกลับเช่นกัน ฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ พล.อ.ประวิตร และพล.อ.ประยุทธ์ต้องกลับไปจัดการภายในพรรคพลังประชารัฐ เมื่อดูเสียงแม้จะสุ่มเสี่ยงแต่ก็ยังเหนือกว่าฝ่ายค้าน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์มั่นใจว่าอยู่ยาว ฉะนั้นเรื่องของคะแนนเสียง รัฐบาลต้องแน่นเพื่อรับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ส่วนประเด็น “ตำแหน่งนายกฯ 8 ปี” ก็เป็นโจทย์สำคัญ ก็ต้องดูอีกประเด็นที่จะเป็นบรรทัดฐานคือเรื่องการตีความตำแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีอายุครบ 70 ปี ซึ่งวรวิทย์ กังศศิเทียม เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี 2557 จากรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งระบุให้วาระตุลาการมีอายุ 9 ปีแต่อายุตัวต้องไม่เกิน 70 ปี
ต่อมาปี 2560 มีการแก้รัฐธรรมนูญ กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระ 7 ปี และอายุตัวบุคคลขยายได้ถึง 75 ปี ซึ่งขณะนี้วรวิทย์ประธานศาลรัฐธรรมนูญ อายุครบ 70 ปีเมื่อ 1 มีนาคม 2565?ที่ผ่านมา แต่เจ้าตัวขอใช้รัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับหลอมรวมซึ่งเป็นวิธีคิดที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง
แนวคิดนี้จึงไปสอดคล้องกับแนวคิดนายกฯ ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งได้ 8 ปีหรือไม่ คือนับการเป็นอายุนายกฯจากการเลือกตั้งที่ไม่ใช่จากการยึดอำนาจ ฉะนั้นก่อนจะถึงการตีความตำแหน่งนายกฯก็ต้องลุ้นตำแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่อาจเป็นบรรทัดฐานเสียก่อน ซึ่งอาจถูกนำมาอ้างอิงซึ่งกันและกัน
ถึงเวลานี้ เมื่อพล.อ.ประยุทธ์วางแผนจะอยู่ยาวแล้ว จึงต้องผนึกกำลังพรรคร่วมรัฐบาล มาคุยกันใหม่เพื่อกระชับอำนาจ ซึ่งก็ปรากฎว่า มีการพูดคุยนอกรอบกับครม.2-3 รอบแล้ว นอกจากนั้น ยังคุยในช่วงการประชุม ศบค.ล่าสุดคือ 11 กุมภาพันธ์ โดยเรียกรัฐมนตรีที่เป็นแกนนำพรรคมาหารือ หลังจากเกิดเหตุการณ์บอยคอตของพรรคภูมิใจไทย
ล่าสุด ยังมีการพูดคุยกันระหว่างแกนนำหลัง ครม.นอกรอบถึง 45 นาที โดยมีประโยคสำคัญของนายกฯ คือ“ช่วยกันต่อนะ” มีการโฟกัสกันถึงประเด็นหารือทั้งเรื่องการเบรคอารมณ์ความขัดแย้งกันระหว่างกรณี ไพบูลย์ นิติตะวัน สายตรง พล.อ.ประวิตร ถูกโหวตคว่ำตำแหน่งประธานกรรมาธิการวิสามัญว่าด้วยกฎหมายลูกในสภาฯ และเลือก สาธิต ปิตุเตชะ จากพรรคประชาธิปัตย์แทน ว่ากันว่า เป็นการเคลียร์ใจและหยั่งกระแสดู ว่าใครจะมีอารมณ์เช่นไร และมีการมอบหมายให้พล.อ.ประวิตร ผู้จัดการรัฐบาลไปเคลียร์ เพราะเจ้าตัวส่งชื่อไพบูลย์ในนามพลังประชารัฐแต่สุดท้ายก็ถูกคว่ำด้วยคะแนน 22 ต่อ 21 ด้วยกลเกมที่มีฝ่ายรัฐบาลรวมอยู่ด้วย
ฉะนั้น หากจะอยู่ยาวพล.อ.ประยุทธ์ต้องทำอะไรบ้าง ข้อแรก 3 ป.ต้องหันมากลมเกลียวกัน จึงเกิดภาพการรับประทานร่วมกันที่บ้านป่ารอยต่อ ที่พี่ใหญ่ 3 ป. พล.อ.ประวิตร ลงทุนทำกุ้งกระเทียม เมนูโปรดให้น้องเล็กอย่างพล.อ.ประยุทธ์ และตักให้ด้วย
ถึงแม้สัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง อาจจะไม่ดีกันมาก แต่จำเป็นต้องสร้างภาพให้เห็นถึงความกลมเกลียว ด้วยการรับประทานอาหารด้วยกันประมาณชั่วโมงครึ่งและเมื่อออกมา พล.อ.ประวิตรออกมาส่ง พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.อนุพงษ์ ก็มีการสวมกอดกัน และไม่พ้นถูกตีความว่าเป็นดราม่าทางการเมือง แต่หลังจากการรับประทานอาหารร่วมกันแยกย้ายออกไปแล้ว มีกลุ่มใดกลับเข้ามาคุยกับบิ๊กป้อม ประวิตรต่อหรือไม่ เพราะนัดหมายคิวต่อจากนั้น อาจทำให้ภาพกลมเกลียวนั้นจางลงได้
ยุทธศาสตร์ลากรัฐบาลนี้ไปจนถึงรัฐบาลหน้า หากไม่รอมชอมกัน ย่อมไม่มีใครยืนอยู่ได้ และสุดท้ายอาจไม่เหลือแม้แต่ชื่อ 3 ป.บนกระดานการเมืองเที่ยวหน้า