"ปวีณ" ปูดเบื้องหลังถูกเตือน-ขวางจับกุม คดีขบวนการ "ค้ามนุษย์" ปี 58
เปิดคำพูด พล.ต.ต.ปวีณ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ปูดเบื้องหลังถูกเตือน-ขัดขวาง จับกุมคดีขบวนการค้ามนุษย์ เมื่อปี 58
แม้ว่าจะผ่านมานานหลายสัปดาห์จนเป็นเรื่องที่สังคมเริ่มให้ความสนใจน้อยลง สำหรับการออกมาพูดถึงขบวนการค้ามนุษย์ในไทยของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 หัวหน้าชุดปราบปรามการค้ามนุษย์เมื่อปี 2558 ว่าถูกนายทหารชั้นผู้ใหญ่ติดต่อมาให้ยุติการทำคดีนี้
ล่าสุดในการเสวนาเรื่อง “ผู้อพยพ แรงงานข้ามชาติ กับปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทย : ความมั่นคงของรัฐ VS ความมั่นคงของมนุษย์และสิทธิมนุษยชน” จัดโดยภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ พล.ต.ต.ปวีณ ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นเรื่องคดีขบวนการค้ามนุษย์ เมื่อได้รับมอบหมายแล้วได้ทุ่มเทตั้งใจ และหาความรู้ในเรื่องนั้น
ภาพจากงานเสวนาผู้อพยพ แรงงานข้ามชาติ กับปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทย : ความมั่นคงของรัฐ VS ความมั่นคงของมนุษย์และสิทธิมนุษยชน
พล.ต.ต.ปวีณ กล่าวว่า ในช่วงนั้นได้หาข้อมูลเรื่องการปราบปรามการค้ามนุษย์แล้ว เพราะรัฐบาลประกาศว่าเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อได้รับมอบหมายให้เข้ามาทำคดีนี้ จึงมุ่งมั่นเต็ม ส่วนสิ่งที่ได้อภิปรายในสภานั้นเป็นเพียงส่วนเล็กน้อย เพราะความจริงแล้วโหดร้ายกว่านั้น โดยข้อเท็จจริงยังมีอีกมากมายในเรื่องของความโหดร้าย และความเหี้ยมโหดของขบวนการนี้
พล.ต.ต.ปวีณ กล่าวว่า โดยเฉพาะการที่ได้รับข้อมูลจากสื่อมวลชนต่างประเทศระบุว่า ยังมีพื้นที่อื่นๆ ฝังศพอีกมากเป็นร้อย รวมถึงฝั่งมาเลเซียก็ยังมีศพอีกเป็นร้อย เป็นขบวนการกระทำกันมาเป็นเวลานาน การที่มนุษย์ทำกับมนุษย์ด้วยกันนั้นโหดร้ายเกินไป จึงตั้งใจว่าต้องทำอย่างจริงจัง ประกอบกับการที่มีอำนาจหน้าที่และมีตำแหน่งสูงพอจะสั่งการได้ และนำแนวทางไปสู่การปฏิบัติได้
อ่านเพิ่มเติม : เปิดโปงปม "ค้ามนุษย์" เมื่อไทยกลายเป็นประเทศ "ศูนย์กลาง" ขบวนการเบ็ดเสร็จ
เปิดสถิติคดี "ค้ามนุษย์" ในไทยปี 64 กับการจัดอันดับ "เทียร์สอง"
"เมื่อทำไปเรื่อยๆ กลับมีคนไม่พอใจบอกว่าทำมากเกินไปให้หยุด เพราะว่าอันตราย หลังจากนั้นมีทหารระดับนายพล โทรศัพท์มาว่าหยุดได้แล้วอันตรายมาก อย่าไปทำ”พล.ต.ต.ปวีณกล่าว
พล.ต.ต.ปวีณ ระบุว่า จากนั้นได้รายงานผู้บังคับบัญชาทราบ แต่ภายหลังเริ่มมีการปิดบังข้อมูลไปซึ่งปกติเวลาจับผู้ต้องหา จะต้องไปตรวจค้นที่บ้านผู้ต้องหา แต่การไปตรวจค้นต้องไม่ได้มีแค่ตำรวจอย่างเดียวต้องมีการบูรณาการกำลังกันกับหลายหน่วยงาน อาทิ ฝ่ายปกครอง ทหาร ปปง. และที่สำคัญที่สุดต้องมีสื่อมวลชนไปด้วย ทำให้คนที่ต้องการปิดบังข้อมูลไม่สามารถทำได้สำเร็จ แต่ยังมีคนที่พยายามขัดขวางกฎหมายที่เป็นถึงระดับ พล.ต.อ. ทำกันเป็นทีมสกัดกั้นทุกอย่าง ที่ผ่านมาก็เคยเจอคนคอยขัดขวางในคดีอื่นมาเหมือนกัน แต่เรื่องนี้ด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเท ตนจะไม่หยุดจะเดินต่อไปให้ได้
นอกจากนี้ พล.ต.ต.ปวีณ ยังกล่าวด้วยว่า ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์นั้น คนที่เป็นผู้นำผลักดันให้มีการแก้ไขคือสหรัฐอเมริกา หรือสหภาพยุโรป ไม่กี่วันมานี้มีเอกสารเผยแพร่ออกมาเรื่องรายงานปัญหาสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยที่สหรัฐอเมริการ และสหาภาพยุโรปจับตาดูประเทศไทยอย่างใกล้ชิด
"เจ้าหน้าที่ทุจริตบางคนได้ปกป้องผู้ทำการค้ามนุษย์ เวลามีเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจะเข้าไปทำการตรวจค้น เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทำให้กระบวนการไม่สำเร็จ และเครือข่ายการค้ามนุษย์เหล่านี้ได้รับการสนับสนุนร่วมกระทำผิดจากตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอื่นๆ ของไทยด้วย"พล.ต.ต.ปวีณ กล่าว
ด้าน ดร.ชุติมา สีดาเสถียร นักเคลื่อนไหวทางสังคมในประเด็นโรฮิงญา นักวิจัยอิสระ และอดีต บก.หนังสือพิมพ์ภูเก็ตหวาน กล่าวว่า เคยมีโอกาสได้สัมภาษณ์อดีตผู้บัญชาการกองทัพเรือภาคที่สามที่ภูเก็ตว่ามีประเด็นใดที่น่าเป็นห่วงด้านความมั่นคงของประเทศเนื่องจากเขาเป็นคนดูแลชายฝั่งอันดามันทั้งหมด และได้คำตอบว่ามีความกังวลเรื่องผู้อพยบชาวโรฮิงญาแต่ไม่ได้ให้คำตอบอะไรเพิ่มเติม แต่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่เป็นภาษาไทยมีเพียงแค่ 1 – 2 % เท่านั้น เราไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับโรฮิงญาที่เป็นภาษาไทยในทางสาธารณะ จึงได้เริ่มเขียนอธิบายว่าโรฮิงญาคืออะไรพอเข้าใจแล้วว่าชาวโรฮิงญาคือชาวเมียนมาที่ไม่มีสัญชาติ
"ยังมีข้อมูลจากสื่อต่างประเทศว่าชาวโรฮิงญาอพยพมาทางเรือผ่านประเทศไทยเพื่อจะไปประเทศอื่นๆ ต่อ ทำให้เริ่มตั้งคำถามว่าจะส่งสารกลับไปที่ครอบครัวพวกเขาอย่างไรเพราะบางคนก็เสียชีวิต บางคนไปได้ถึงฝั่ง บางคนถูกจับไปใช้แรงงาน ทำให้ตนเริ่มเก็บข้อมูลมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง สตูล"ดร.ชุติมา กล่าว
ดร.ชุติมา กล่าวอีกว่า สิ่งที่สนใจจริงๆ ก็คือ เขาเป็นมนุษย์เหมือนกัน ต้องการจะบอกว่าเขาอยู่ตรงนี้ ปัญหาอยู่ตรงนี้ ประเด็นหลักคือ สิทธิ และความไร้สัญชาติของเขา เขาจะไปอย่างไรจะอยู่อย่างไรนั้นไม่ใช่ประเด็นระหว่างประเทศ ไม่ใช่ประเด็นระดับภูมิภาค แต่เป็นประเด็นระดับสากลที่ต้องมาช่วยกันจัดการผู้อพยพที่ไร้สัญชาติชาวโรฮิงญา พร้อมตั้งคำถามว่ารัฐไทยดูแลคนเหล่านี้อย่างไรในเมื่อเขาเป็นคนไร้รัฐเราจับกุมเขา เราผลักดันเขาแบบไหน เราดูแลเขาแบบไหน จะไปที่ประเทศที่สามได้หรือไม่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจในเรื่องนี้
ขณะที่ ดร.ศิพิมพ์ ศรบัลลังก์ หัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ได้เห็นภาพของขบวนการค้ามนุษย์ที่อยู่บริเวณเมืองใหญ่ๆ ตามสะพานลอยจะเห็นขอทานหรือกลุ่มเด็กที่ไปขอเงินทำให้เริ่มตั้งคำถามว่าเด็กเหล่านี้เข้ามาได้อย่างไร มีชีวิตอย่างไร มีอะไรอยู่เบื้องหลัง ทำให้เริ่มสนใจประเด็นเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ หลังจากนั้นได้มุ่งความสนใจไปที่แรงงานข้ามชาติเพราะมองว่าเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์
"เมื่อหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ ก็พบว่าประเด็นนี้ถูกทำให้เป็นเรื่องของความมั่นคง ในมุมหนึ่งจะเห็นได้ว่าภาครัฐมองคนกลุ่มนี้เป็นปัญหาความมั่นคงเป็นภัยที่คุกคามความมั่นคงของรัฐทั้งที่ในความจริงแล้วแรงงานเหล่านี้อาจจะไม่ได้มีสถานะเป็นภัยคุกคามของรัฐ แต่รัฐกำลังผลักให้เป็นปัญหาความมั่นคง และสวมทัศนคติเหล่านี้โดยการถ่ายทอดผ่านวาทกรรมต่าง ๆ ยัดเยียดให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดีกับแรงงานข้ามชาติ"ดร.ศิพิมพ์ กล่าว
ดร.ศิพิมพ์ กล่าวว่า จากนั้นได้พบกับ พล.ต.ต.ปวีณ ทำให้มองเห็นว่าสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเป็นสภาพที่น่าหดหู่ใจมากจริงๆ ทำให้ตนมองว่าประเด็นนี้ภาครัฐจะต้องมองและจัดการอย่างเป็นระบบด้วยใจที่เป็นธรรมด้วย
อ่านเพิ่มเติม :