เปิดไทม์ไลน์ "เลือกตั้ง" สนาม "กทม.-พัทยา" 2565
เปิดไทม์ไลน์ เลือกตั้ง "ผู้ว่าฯกทม.-ส.ก.-นายกเมืองพัทยา-สมาชิกสภาเมืองพัทยา ตั้งแต่วันประกาศเลือกตั้ง จนถึงวันประกาศผล 2565
ความชัดเจนเมื่อวันที่ 8 มี.ค.2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอเรื่องพิจารณาเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) นายกเมืองพัทยา และสมาชิกสภาเมืองพัทยา โดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้กำหนดวันเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.2565
เมื่อ ครม.มีมติเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนจากนี้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(ครม.) จะแจ้งมติให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต. ) รับทราบ โดย กกต.จะประชุมเพื่อประกาศ กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. สมาชิกสภา กทม. นายกเมืองพัทยา และสมาชิกสภาเมืองพัทยา อย่างเป็นทางการ
ต่อมาผู้อำนวยการการเลือกตั้งท้องถิ่น จะประกาศให้มีการเลือกตั้ง ก่อนจะถึงกระบวนการเปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กำหนดวันสุดท้ายการส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน การแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งการเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ จนวันเลือกตั้ง และประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติ การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 กำหนด
สำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม.และเมืองพัทยา ขณะนี้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ใช้เขตกรุงเทพฯ เป็นเขตเลือกตั้ง 50 เขต รวม 50 คน มีผู้ว่าฯกทม. 1 คน ส่วนเมืองพัทยา มีการเลือกนายกเมืองพัทยา 1 คน และสมาชิกสภาเมืองพัทยา รวม 24 คน
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2565 ถือเป็นการจัดเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปีเศษ ภายหลังคนกรุงเทพฯ ได้หย่อนบัตรเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2556 ในครั้งนั้นเป็นชื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนเสียงที่ 1,256,349 คะแนน บันทึกชื่อเป็นผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากคนที่ 16 ต่อจากนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน
แต่การดำรงตำแหน่งในสมัยที่ 2 ต้องยุติหน้าที่จากคำสั่ง คสช.มาตรา 44 เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2559 โดย คสช.ได้แต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง จากรองผู้ว่าฯ กทม.ขณะนั้นขึ้นเป็นผู้ว่าฯ กทม.แทน "สุขุมพันธุ์"
จากนั้นคนกรุงเทพฯ เว้นว่างจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มายาวนานจนมาถึงที่ประชุม ครม.อนุมัติการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี ยาวนานมากพอกับวาระผู้ว่าฯ กทม.ถึง 2 สมัย(วาระ 4 ปี)
สำหรับโรดแมพจัดเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. ส.ก. นายกเมืองพัทยา และสมาชิกสภาเมืองพัทยา จะอยู่ที่ในขั้นตอนก่อนไปถึงวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ตามที่มีการเผยแพร่ในสาธารณะ มีรายละเอียดดังนี้
มีนาคม 2565
8 มี.ค.65 ครม.มีมติเห็นสมควรให้มีการเลือกตั้ง
25 มี.ค.65 วันที่ กกต.ประกาศกําหนดให้มีการเลือกตั้ง (ม.142) / วันที่ ผอ.กต.ท้องถิ่น เสนอร่างประกาศให้มีการเลือกตั้ง / วันที่ ผอ.กต.จังหวัด ให้ความเห็นชอบร่างประกาศให้มีการเลือกตั้ง
28 มี.ค.65 วันที่ ผอ.กต.ท้องถิ่น ประกาศให้มีการเลือกตั้ง (ม.12)
31 มี.ค. - 4 เม.ย.65 วันรับสมัครรับเลือกตั้ง (ม.12)
เมษายน 2565
11 เม.ย.65 ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร (ม.52)
14 เม.ย.65 วันสุดท้ายยื่นคําร้องต่อ กกต.กรณีไม่รับสมัคร (ม.55)
26 เม.ย.65 ประกาศกําหนดหน่วยเลือกตั้ง/ที่เลือกตั้ง (ม. 23) / ประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (ม.43)
พฤษภาคม 2565
1 พ.ค.65 วันสุดท้ายแต่งตั้ง กปน./รปภ. (ม.28) / วันสุดท้ายการยื่นคําร้องคัดค้านการรับสมัคร (ม.56)
6 พ.ค.65 วันสุดท้ายส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน (ม.43) 11 พ.ค. 65 / วันสุดท้ายเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้ง/ที่เลือกตั้ง (ม. 23) / วันสุดท้ายเพิ่มชื่อ/ถอนชื่อ (ม.44,ม.45) / วันสุดท้าย กกต.วินิจฉัยสิทธิสมัคร (ม.56)
14 พ.ค.65 วันสุดท้ายแจ้งการแต่งตั้งตัวแทนผู้สมัคร (ม.58)
15 - 21 พ.ค.65 แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (ม.40)
21 พ.ค.65 วันสุดท้ายศาลอุทธรณ์/ศาลอุทธรณ์ภาควินิจฉัยสิทธิสมัคร (ม.56) / วันสุดท้ายอบรมเจ้าพนักงานผู้ดําเนินการเลือกตั้ง/มอบวัสดุอุปกรณ์ 22 พ.ค. 65
22 พ.ค.65 วันเลือกตั้ง
23 - 29 พ.ค.65 แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (ม.40)
มิถุนายน 2565
6 มิ.ย.65 วันสุดท้ายจัดส่งบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจัดทําบัญชีผู้ถูกจํากัดสิทธิ(ระเบียบท้องถิ่นฯ ข้อ 216)
21 มิ.ย.65 วันสุดท้ายประกาศผลการเลือกตั้ง ตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง
กรกฎาคม 2565
21 ก.ค.65 วันสุดท้ายประกาศผลการเลือกตั้ง ตามมาตรา 17 วรรคสอง / วันสุดท้ายจัดทําบัญชีรายชื่อผู้ถูกจํากัดสิทธิ (ระเบียบท้องถิ่นฯ ข้อ 66)