รองผบ.ทร. ร่วมการฝึกยิงตอร์ปิโดMK46 ภาคทะเล
พล.ร.อ.ธีรกุล ตรวจเยี่ยมการฝึกยิงตอร์ปิโด ภาคทะเล ทดสอบระบบควบคุมและศักยภาพของลูกตอร์ปิโด รวมถึงตรวจความพร้อมของหน่วยยิง
17 มีนาคม 2565 พลเรือเอก ธีรกุล กาญจนะ รองผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้อำนวยการ การฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2565 เดินทางไปสังเกตการณ์ การฝึกยิงตอร์ปิโด MK46 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกภาคสนาม ภาคทะเล (FTX) การฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2565 บนเรือหลวงจักรีนฤเบศร ทำการฝึกยิง ณ บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนล่าง
โดยมี พลเรือเอก ธีรกุล กาญจนะ รองผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะ ผู้อำนวยการการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2565 และผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือ ร่วมสังเกตการณ์
การฝึกยิงตอร์ปิโด MK46 ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบระบบควบคุมการยิง และศักยภาพของลูกตอร์ปิโด ทดสอบความพร้อมของหน่วยยิง รวมถึงเพิ่มพูนประสบการณ์และความชำนาญในการยิงตอร์ปิโดของกำลังพลประจำเรือ
โดยการจัดกำลังทางเรือที่ร่วมการฝึก แบ่งตามหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละหมู่เรือ ได้แก่
หมู่เรือคุ้มกันและยิงตอร์ปิโด ประกอบด้วย เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือหลวงสุโขทัย เรือหลวงสายบุรี เรือหลวงมกุฎราชกุมาร และเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำแบบที่ 1 (S- 70 B) หรือ ซีฮอว์ค โดยมี เรือหลวงสุโขทัย เป็นเรือยิงหลัก และเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เป็นเรือยิงสำรอง หมู่เรือตรวจสอบและรักษาความปลอดภัยสนามยิง ประกอบด้วย เรือหลวงตาปี เรือหลวงคลองใหญ่
และเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง จำนวน 2 ลำ หมู่เรือปล่อยเป้า ประกอบด้วย เรือหลวงอ่างทอง และ เรือ ต.235 หมู่เรือตรวจพื้นที่สนามยิง ประกอบด้วย เรือหลวงบางระจัน และเรือหลวงหนองสาหร่าย
โดยมี พลเรือตรี สมบัติ นาราวิโรจน์ ผู้บัญชาการกองเรือฟริเกตที่ 1 เป็น ผู้บังคับหมวดเรือฝึกยุทธวิธีร่วมกองเรือและการฝึกยิงตอร์ปิโดแบบ MK46 การยิงในครั้งนี้ ใช้สนามฝึกในพื้นที่อ่าวไทยตอนล่าง บริเวณระยะห่างจากเกาะพะงันไปทางทิศตะวันออกประมาณ 46 กิโลเมตร ทำการยิงในระยะ 2,700 หลา (2.5 กิโลเมตร) ที่ความลึก 53 เมตร โดยเป้าฝึกเป็นเป้าใต้น้ำจำลองเดิม ที่กรมโรงงาน ฐานทัพเรือสัตหีบ ได้จัดสร้างขึ้นสำหรับใช้ในการฝึกยิงตอร์ปิโด
เมื่อปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา และได้นำ HYDRO PHONE จำลองแบบการดักรับสัญญานเสียงใต้น้ำ ในลักษณะเดียวกับการทำงานของโซโนบุย ซึ่งกรมการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือ ได้นำมาใช้ในการถ่ายทอดสัญญาณเสียงและระบบแสดงภาพใต้น้ำ เพื่อติดตามการเคลื่อนที่ และการชนเป้าของลูกตอร์ปิโดแบบ Real Time โดยสามารถแสดงภาพและเสียง ความถี่ตอร์ปิโดเริ่มทำงานจนถึงชนเป้า
สำหรับ การฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2565 ( การฝึก ทร.65) ในปีนี้ ทำการฝึกในขั้นสถานการณ์ปกติ – ความขัดแย้งระดับต่ำ ดำเนินการฝึกในกระบวนการวางแผนทางทหารเพื่อการจัดทำคำสั่งยุทธการ รวมถึงการฝึกด้านการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การฝึกปฏิบัติการช่วยเหลือและบรรเทาภัยพิบัติ ตลอดจนการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล (FTX) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบแผนป้องกันประเทศ ตลอดจนทดสอบกระบวนการวางแผนทางทหารและแนวทางการใช้กำลัง การอำนวยการยุทธ์ตามแผนที่ใช้ในการฝึก รวมถึงเพื่อทดสอบขีดความสามารถปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ โดยใช้โครงสร้างจริงของหน่วยทุกระดับของกองทัพเรือเพื่อให้สอดคล้องกับแนวความคิดการจัดฝึก “รบอย่างไร ฝึกอย่างนั้น”
ในส่วนของการฝึกปัญหาที่บังคับการ (CPX) เป็นการฝึกกระบวนการวางแผนทางทหาร ในขั้นสถานการณ์ปกติจนถึงขั้นความขัดแย้งระดับต่ำ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการจัดทำคำสั่งยุทธการเพื่อนำไปใช้ในการอำนวยการยุทธ์
โดยมีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้อง อาทิ การป้องกันฐานทัพเรือและการควบคุมเรือ
การปฏิบัติการข่าวสาร การส่งกำลังบำรุง การปฏิบัติการสงครามไซเบอร์และการบังคับใช้กฎหมายในทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฝึกการปฏิบัติของ ศรชล.เพื่อสร้างแนวทางที่ชัดเจนด้านการสนธิกำลังในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล อาทิ แนวความคิดในการควบคุมเส้นทางเรือพาณิชย์ รวมทั้งจัดให้มีการฝึกหัวข้อการปฏิบัติการเรือดำน้ำสำหรับเตรียมการรองรับเรือดำน้ำที่จะเข้าประจำการ โดยทำการฝึกรวม 3 สัปดาห์
สำหรับ การฝึกภาคสนาม ภาคทะเล ซึ่งเป็นการฝึกการปฏิบัติของหน่วยกำลังรบและการสนับสนุนของหน่วยที่เกี่ยวข้อง
มีหัวข้อการฝึกที่สำคัญคือ การปฏิบัติการของกองกำลังทางเรือเฉพาะกิจปฏิบัติการระยะไกล การยิงตอร์ปิโด MK46 จากเรือหลวงสุโขทัย ในพื้นที่อ่าวไทย ในวันนี้ การฝึกสนธิกำลังดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง
ซึ่งจะมีการฝึกปฏิบัติการร่วมของกองกำลังนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง(สอ รฝ.) การปฏิบัติการของ สอ.รฝ. ในการสนับสนุนการโจมตีเรือผิวน้ำ บริเวณสนามฝึกยิงปืนทุ่งโปรง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และบริเวณสนามฝึกกองทัพเรือบ้านจันทเขลม จังหวัดจันทบุรี ในวันที่ 21 เมษายน 2565
นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการฝึกปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภับพิบัติ (HADR) ด้วยกำลังทางเรือตามแนวคิด From The Sea การค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่การรบทางทะเล (Combat Sea SAR) โดยจะทำการฝึกในพื้นที่ เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 โดยเชิญ กำลังจากส่วนราชการอื่น ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการฝึก
การฝึกในครั้งนี้ กองทัพเรือได้จัดกำลังพลจากกองเรือยุทธการ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ตลอดจนหน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือ เข้าร่วมการฝึก โดยมียุทโธปกรณ์ที่สำคัญเข้าร่วมการฝึก อาทิ เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือหลวงสายบุรี
เรือหลวงอ่างทอง เรือหลวงสุโขทัย เรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือหลวงตาปี เรือหลวงสงขลา เรือหลวงวังใน เรือตรวจการณ์ กำลังอากาศนาวี ปืนใหญ่ ปืนต่อสู้อากาศยานแบบต่างๆ รวมถึงกำลังจากกองทัพบกและอากาศยานจากกองทัพอากาศอีกจำนวนหนึ่ง