"รัฐบาล" โชว์ ฐานะการเงินการคลัง ประเทศ มี เสถียรภาพ เข้มแข็ง
"โฆษกรัฐบาล" เผย "นายกฯ" ให้ความสำคัญ ดูแลความเดือดร้อนคนทุกกลุ่ม เน้น ใช้งบฯ มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง โว ฐานะของไทย เสถียรภาพเข้มแข็ง คาด จัดเก็บรายได้ ตามเป้า 2.4 ล้านล้าน
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้ความสำคัญกับการดูแลช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ควบคู่กับทำให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าได้ รวมถึงออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนด้านต่างๆ ทั้งด้านพลังงานและเชื้อเพลิง ค่าครองชีพ ด้านขนส่ง แรงงานและนายจ้าง โดยมุ่งเน้นให้การใช้จ่ายงบประมาณที่มีอยู่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ และอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การบริหารจัดการที่เป็นไปอย่างมีระบบ มีแผนงาน โครงการที่ชัดเจน ทำให้ขณะนี้ฐานะทางการเงินการคลังของประเทศไทยยังมีเสถียรภาพที่เข้มแข็ง
โดยเสถียรภาพด้านการคลังดูได้จากการบริหารรายได้และรายจ่ายของภาครัฐ ซึ่งฐานะทางการคลังของรัฐบาลตัวเลขล่าสุดใน 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 2564 – กุมภาพันธ์ 2565) ระดับอัตราเงินคงคลังปลายงวดอยู่ที่ประมาณ 400,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงตามดุลเงินสดที่ขาดดุลอยู่ในขณะนี้และเป็นไปตามดุลงบประมาณ
นายธนกร กล่าวว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้นจำนวน 901,414 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 1,429,194 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 394,465 ล้านบาท ซึ่งในปี 2565 ได้ตั้งงบประมาณขาดดุลไว้ที่ 700,000 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลังปลายงวด ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 418,588 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับที่รัฐบาลได้มีการกำหนดสภาพคล่องไว้อยู่ที่ประมาณ 400,000 – 500,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพพียงพอ
ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลคาดจะเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดคือ 2.4 ล้านล้านบาทขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 ยังมีความเข้มแข็งอยู่ที่ประมาณ 245,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอยู่ในระดับสูงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้
นายธนกร กล่าวว่า ขณะเดียวกันเสถียรภาพทางด้านราคา ซึ่งดูจากอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีผู้บริโภคนั้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาพลังงานโดยเดือนมกราคม อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% และเดือนกุมภาพันธ์ อัตราเงินเฟ้อประมาณ 5% แต่หากดูอัตราเงินเฟ้อที่ไม่รวมเรื่องพลังงานกับอาหารสด อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ0.5 ในเดือนมกราคม และเดือนกุมภาพันธ์ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มที่ 1.8 ซึ่งรัฐบาลก็ได้เข้ามาดูแลช่วยเหลือประชาชนระยะสั้นในการลดต้นทุน และการช่วยเหลือค่าครองชีพต่าง ๆ ผ่าน 10 มาตรการสำคัญโดยพุ่งเป้าเน้นช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริง พร้อมมีการติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะต่อไป ส่วนอัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ปรับตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ของแรงงานรวม ซึ่งเป็นผลมาจากที่รัฐบาลได้มีการผ่อนคลายมาตรการและเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา รวมไปถึงการดำเนินโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ผู้ประกอบการด้านโรงแรมสามารถกลับมาเริ่มดำเนินกิจการและรักษาการจ้างงานได้ รวมทั้งประชาชนมีความมั่นใจที่จะเดินทางมากขึ้นภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
นอกจากนี้ การค้าขายระหว่างประเทศทั้งการนำเข้า-ส่งออกของประเทศไทยทั้งในปี 2563 และปี 2564 แม้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะผลกระทบGlobal supply chain disruption ที่เกิดขึ้นทั่วโลกทั้งเรื่องของวัตถุดิบ อุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ส่งผลต่อภาคการผลิตทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การผลิตสินค้า การขนส่งไปจนถึงผู้บริโภค ทำให้เกิดการชะลอตัวในการผลิตในปี 2563 แต่จากที่มีการป้องกันระดับโรงงาน คือ Factory quarantine ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นโดยลำดับ และส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยปี 2564 ปรับตัวดีขึ้น โดยมีอัตราการเติบโตในมูลค่าของดอลลาร์สหรัฐประมาณ17 – 20% ซึ่งในปีนี้คาดว่าตัวเลขการขยายตัวของภาคการส่งออกของไทยจะอยู่ที่ 5 – 10%
นายธนกร กล่าวอีกว่า จากข้อมูลของกระทรวงการคลัง พบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้คือภาคเกษตร และการค้าขายชายแดน ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านในรอบอาเซียนยังคงพึ่งพาสินค้าอุปโภคบริโภคอยู่ ทั้งนี้ ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 2565 คือภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐทั้งการใช้จ่ายงบประมาณปี 2565 และการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมถึงในส่วนของภาคเอกชนที่ได้มีการระดมทุน โดยเฉพาะการออกหุ้นกู้ทั้งบริษัทที่อยู่ในตลาดและนอกตลาดในปี 2564 ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้ภาคการลงทุนของภาคเอกชนเริ่มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุน ทั้งค่ายรถเดิมที่มีอยู่และค่ายรถใหม่ แสดงให้เห็นได้ว่าภาคเอกชนยังมีการลงทุนอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่สำคัญด้วย