ครม.อนุมัติโครงการยกระดับ ศก.ฐานราก ด้วยวิทยาศาสตร์ วงเงิน 35.69 ล้านบาท

ครม.อนุมัติโครงการยกระดับ ศก.ฐานราก ด้วยวิทยาศาสตร์ วงเงิน 35.69 ล้านบาท

ครม.อนุมัติโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัด ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม วงเงิน 35.69 ล้านบาท หวังให้เกิดการลงทุนของเกษตรกร และผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรม และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กรอบวงเงิน 35.69 ล้านบาท 

โดยให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติมพ.ศ.2564 ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้(คกง.)เสนอ

สำหรับ โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัด ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรมสู่ภูมิภาค ก่อให้เกิดการลงทุนของเกษตรกร และผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรม และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น รวมทั้งกระตุ้นการบริโภคของประชาชนภายในประเทศจากสินค้าเกษตรคุณภาพดีและผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมจากวัตถุดิบท้องถิ่น

ขณะที่ระยะเวลาดำเนินโครงการอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม - ธันวาคม 2565  กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรจำนวน 4,250 ราย  พื้นที่ดำเนินการใน 8 จังหวัด ได้แก่  จังหวัดจันทบุรี ชุมพร ปทุมธานี พังงา เพชรบูรณ์ สกลนคร สมุทรสงคราม และจังหวัดอุดรธานี มีกิจกรรมหลักได้แก่

1.การปรับปรุงกระบวนการผลิต เช่น พัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตโดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือนวัตกรรม มาใช้ในการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

2.การส่งเสริมการจัดทำสารสกัด เช่น พัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการแปรรูป เพิ่มมูลค่าวัตถุดิบ หรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยให้แก่กลุ่มเป้าหมายในจังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัดประกอบด้วยกิจกรรมที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ ความพร้อมของบุคลากรในพื้นที่ และความพร้อมของพื้นที่ดำเนินโครงการ

ทั้งนี้ ผลที่คาดว่าจะได้รับ ประกอบด้วย เกษตรกรในพื้นที่ดำเนินโครงการมีรายได้ประมาณ 60 ล้านบาทต่อปี และเกิดผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรสร้างมูลค่าเพิ่ม 40 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ ยังอนุมัติให้มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการแผนงานการแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 จากเดิมสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2565 เป็นสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2565  และอนุมัติให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขยายระยะเวลาดำเนินกิจกรรมพัฒนา Platform การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล จากเดิมสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นสิ้นสุดเดือนพฤษภาคม 2565  และเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงิน จากเดิม 20 ล้านบาท เป็น 21 ล้านบาท

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์