55 ปี ดาวประเทศไทย “ดิสรัปชั่น” ตัวเองปักหมุด “เน็ตซีโร่”
ดาว (DOW) บริษัทชั้นนำระดับโลกด้านวัสดุศาสตร์ (Materials Science) ซึ่งพัฒนาและผลิตวัสดุชนิดต่างๆ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยมุ่งมั่นที่เป็นเลิศด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน ด้วยการทำงานที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และให้การยอมรับบุคคลากรที่มีความหลากหลาย
ก่อตั้งโดย "นายเฮอร์เบิร์ต เฮนรี่ ดาว" หนึ่งในนักเคมีและนักประดิษฐ์ชั้นนำของโลกในปี 2440 เพื่อผลิตเคมีภัณฑ์และวัสดุใหม่ๆ ที่ช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับผู้คนในสมัยนั้น
ดาว มีเป้าหมายที่สร้างอนาคตยั่งยืนให้โลกด้วยความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ การดำเนินงานที่เป็นเลิศทั่วโลกด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล
สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์และโซลูชันทางวิทยาศาสตร์ของดาว ได้แก่ พลาสติกชนิดต่างๆ เคมีภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรม สารเคลือบผิว และซิลิโคน ซึ่งเน้นสร้างความแตกต่างเพื่อตอบโจทย์ในตลาดที่เติบโตสูง เช่น บรรจุภัณฑ์ การก่อสร้าง ยานยนต์และการขนส่ง และการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ปัจจุบันดาวมีฐานการผลิต 104 แห่งใน 31 ประเทศ และมีพนักงาน 35,700 คน
ดาว เริ่มธุรกิจในไทยปี 2510 ถึงปัจจุบันนับได้ 55 ปี เป็นฐานการผลิตใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก และได้ร่วมกับ “เครือเอสซีจี” ตั้งกลุ่มบริษัทร่วมทุนเอสซีจี-ดาว ในปี 2530
ปัจจุบันกลุ่ม บริษัท ดาว ประเทศไทย ประกอบด้วยกลุ่มบริษัทย่อย ซึ่งดาวเป็นเจ้าของเพียงผู้เดียว และกลุ่มบริษัทร่วมทุนเอสซีจี-ดาว นอกจากนี้ ยังมีบริษัทร่วมทุนระหว่าง Dow และโซลเวย์ในไทย โดยมีกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักของดาว 3 กลุ่ม คือ 1.วัสดุประสิทธิภาพสูง และสารเคลือบผิว 2.เคมีภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน 3.พลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์ และพลาสติกชนิดพิเศษ
ส่วนตลาดที่สำคัญของกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ประกอบด้วย 1.Packaging : อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ 2.Building & Infrastructure : อุตสาหกรรมอาคารและ โครงสร้างพื้นฐาน
3.Mobility : อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง 4.Consumer cares : อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค 5.Electrical appliances : อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า
6.Electronics : อุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 7.Paints & coatings : อุตสาหกรรมสีและสารเคลือบผิว 8.Adhesives & Sealants : อุตสาหกรรมสารยึดติดและสารกันรั่วซึม
นอกจากนี้ปัจจุบันกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ประกอบด้วย 13 โรงงาน ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) จังหวัดระยอง
สำหรับสินค้าที่ผลิตในไทย ประกอบด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดโพลิเอทิลีน โพลิสไตรีน อีลาสโตเมอร์ กลุ่มผลิตภัณฑ์โพลิยูรีเทน และสไตรีนบิวทาไดอีน เลเทกซ์ รวมทั้งมีสินค้านำเข้าจากฐานการผลิตในประเทศอื่น เช่น ตัวทำละลาย เคมีภัณฑ์เพื่อการก่อสร้าง ซิลิโคน พลาสติกชนิดพิเศษ
สำหรับเป้าการทำงานด้านความยั่งยืน ดาว ได้ตั้งเป้าหมายการต้านโลกร้อนภายในปี 2573 จะลดการปล่อยคาร์บอนลง 15% ภายในปี 2593 ดาวจะปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
อีกทั้งจะตั้งเป้าหมายหยุดขยะพลาสติก ภายในปี 2573 โดยจะทำให้ขยะพลาสติก 1 ล้านตัน ถูกเก็บกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิล ส่งเสริมวงจรรีไซเคิล ภายในปี 2578 ผลิตภัณฑ์เพื่อแพคเกจจิ้งทั้งหมดของดาว ต้องนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้
ฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2565 มีแผนนำเสนอโซลูชั่นและสร้างความเข้าใจในเรื่องของคาร์บอนมากขึ้น พร้อมกับมุ่งเน้นคิดค้นผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่เมื่อใช้เสร็จแล้วนำกลับมารีไซเคิลได้ใหม่ 100%
ขยะพลาสติกมีจำนวนมากแต่นำกลับมาใช้ยาก ดังนั้น เพื่อไปสู่เป้าหมาย Net Zero ต้องสร้างความร่วมมือ 4 ส่วน คือ 1.เทคโนโลยี 2.พฤติกรรมผู้บริโภค 3.โครงสร้างพื้นฐาน 4.กฎหมาย
ดาวจะสร้างความเข้าใจให้คนมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ เอกชน หรือประชาชนเข้าใจการลดคาร์บอน ด้วยเทรนด์สินค้าต่างประเทศจะบังคับให้ผลิตสินค้าต้องสร้างคาร์บอนน้อย อีกทั้งปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและทั่วโลกตื่นตัวนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดแต่หากสินค้าไม่ปรับตัวจะแข่งไม่ได้
"เทคโนโลยีดิสรัปชั่น" มีวิธีการรับมือที่ดีที่สุด คือ "การดิสรัปชั่นตัวเอง" ซึ่งดาวได้ดริสทรัปตัวเองตลอดและมีนักวิทยาศาสตร์ค้นนวัตกรรมใหม่ โดยเฉพาะการรีไซเคิลที่หากไม่ทำจะถูกกีดกันและทำให้สร้างนวัตกรรมมากมาย อาทิ เม็ดพลาสติกรีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นฟิล์มยืดหดเพื่อแพค หรือเม็ด PCR รวมถึงพัฒนาพาเลทที่เป็นไม้เทียมจากพลาสติกรีไซเคิลยาก ได้แก่ ถุงบรรจุภัณฑ์ที่ประกอบด้วยพลาสติกหลายชั้นเช่น ถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม ถุงผงซักฟอก แชมพู-ครีมนวดผมชนิดซอง มาใช้งานขนส่งอุตสาหกรรม สำหรับคลังสินค้าและงานขนส่งอุตสาหกรรม
ล่าสุดคิดค้นเม็ดพลาสติกบริสุทธ์จากขยะพลาสติกรีไซเคิล โดยดาวทำข้อตกลงให้ ฟือนิกซ์ อีโคจี กรุ๊ป (Fuenix Ecogy Group) ประเทศเนเธอร์แลนด์จัดส่งวัตถุดิบประเภทน้ำมันไพโรไลซิส (Pyrolysis Oil Feedstock) ที่ได้จากขยะพลาสติกรีไซเคิลให้โรงงานของดาวที่เมืองแทร์นอยเซน ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อใช้ผลิตผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ใหม่
ทั้งนี้ ถือเป็นการส่งเสริมการรีไซเคิลพลาสติกกลับเป็นวัตถุดิบใหม่มากขึ้น โดยนำเอาขยะพลาสติกหลากประเภทมาผ่านกระบวนการให้กลับเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ซึ่งเม็ดพลาสติกที่ผลิตจากน้ำมันไพโรไลซิสจะเหมือนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบดั้งเดิมรวมทั้งใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารได้ปลอดภัยและตอบโจทย์การผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียน (Circular Polymers)
“ดาวนำดิจิทัลมาใช้ในองค์กร อาทิ หุ่นยนต์หรือโดรนสร้างความปลอดภัยในโรงงาน อีกทั้งสถานการณ์โควิดทำให้การติดต่อลูกค้าต้องเปลี่ยนไปจึงทำคลิปลงยูทูบอธิบายสินค้า Dow Pack Guru และอนาคตจะทำเทคโนโลยีเสมือน (VR) สร้างความหลากหลายให้ลูกค้า”
ดาวดำเนินธุรกิจหลากหลายเพื่อตอบรับกับความต้องการลูกค้าทั้งการลดพลังงาน สร้างความแข็งแรง และโมบิลิตี้ รถไฟหรือยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ผ่านโซลูชั่นแบตเตอรี่รถอีวีที่ร่วมกับต่างประเทศตอบโจทย์หลายโซลูชั่น ซึ่งโซลูชั่นที่ขยายตัวดีในไทยอยู่ในผลิตภัณฑ์ครีมนวดผม ครีมล้างหน้า ยาสระผม
รวมทั้งด้วยเทรนด์การลดโลกร้อนต่อจากนี้จะเห็นผู้ผลิตใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในกระบวนการผลิต ซึ่งต่างจากเดิมที่การเลือกผลิตภัณฑ์เน้นความแข็งแรง แต่สมัยนี้จะดูการบริหารจัดการคาร์บอน ซึ่งทั่วโลกมีกฎหมายและนโยบายลดอุณหภูมิดังนั้นจากเวที COP26 จะเป็นตัวกำหนดเทรนด์และทิศทางเทรนด์อุตสาหกรรม
ดาว ได้ประกาศความมุ่งมั่นใหม่ต่อยอดจากเป้าหมายความยั่งยืนปี 2568 ที่เน้นแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและขยะพลาสติกภายในปี 2573 ดาวจะลดปล่อยคาร์บอนจำนวน 5 ล้านตันต่อปี หรือ ลดลง 15% จากฐานปี 2563 และยังตั้งใจเป็นองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 เพื่อให้สอดคล้องกับความตกลงปารีส โดยใช้และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรน้อยลง เพื่อช่วยให้ลูกค้าได้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย
นอกจากนี้ ภายในปี 2573 ดาวจะช่วยหยุดขยะพลาสติก โดยทำให้ขยะพลาสติกจำนวน 1 ล้านตันถูกเก็บกลับมาใช้ใหม่ผ่านการดำเนินงานของดาว และภายในปี 2578 ดาวจะช่วยสร้างวงจรรีไซเคิลให้สมบูรณ์ โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของดาวที่ผลิตเป็นแพคเกจจิ้งต้องนำกลับมารีไซเคิลได้ โดยนำขยะพลาสติกมาบดและหลอมเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล คาดว่าลดการปล่อยคาร์บอนและลดใช้พลังงานถึง 20-30%
รวมทั้งมีการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมแล้ว และมีความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เพื่อริเริ่ม "โครงการ Dow & Thailand Mangrove Alliance" ในการอนุรักษ์ป่าชายเลนที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับป่าไม้ประเภทอื่น