“อุดม รัฐอมฤต” มอง 5 ปีรัฐธรรมนูญ 60 พายเรือในอ่าง “3 ปฏิรูป”มืดมน
5ปีของรัฐธรรมนูญไทย รายทางที่ผ่านมา ถูกคนค่อนแคะว่า เป็นวิกฤตของประเทศ ทำการเมืองล้มเหลว ตามมุมมองของ "ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ" เขามองแบบนั้นหรือไม่?
“6 เมษา” เมื่อ 5 ปีที่แล้ว คือ วันแรกที่ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ประกาศและมีผลบังคับใช้ ให้เป็นกติกาสูงสุดต่อการปกครองประเทศ
ตลอดระยะเวลา 5 ปี มีความพยายามแก้ไขเนื้อหา โดยฝ่ายการเมือง และภาคประชาชนมาแล้วหลายครั้ง โดยสาระสำคัญ คือ ความพยายามแก้ไขเนื้อหาเพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจทางการเมือง ระหว่าง “กลุ่มคสช.” ที่ถูกเรียกให้เป็น “ฝ่ายเผด็จการสืบทอดอำนาจ” กับ “กลุ่มการเมือง” ที่เรียกว่า “ฝ่ายประชาธิปไตยตัวแทนประชาชน”
ความพยายามแก้ไขนั้น ทำสำเร็จเพียง 1 ครั้ง โดยแก้ไขว่าด้วยระบบเลือกตั้ง จากจัดสรรปันส่วนผสม บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ ไปเป็นการเลือกตั้งแบบเติมเต็ม ด้วยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
ขณะนี้ยังมี ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอโดยฝ่ายการเมือง และฝ่ายประชาชนที่รอการพิจารณาโดยรัฐสภา ในช่วงเปิดสมัยประชุมเดือนพฤษภาคม 2565 นี้
ก่อนวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้น ในวันครบรอบ 5 ปี ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 "กรุงเทพธุรกิจ” จะพาไปฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 “ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต" นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฐานะอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)” เพื่อฟังผลลัพธ์ตามจุดประสงค์ของการยกร่างเนื้อหา ที่เป็นกติกาสูงสุด ซึ่งปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า กลายเป็นจุดอ่อนทางการเมืองไทย และส่งผลต่อดุลของอำนาจปกครองประเทศ
*จุดมุ่งหมายตอนยกร่างกับ 5 ปี ที่ “บังคับใช้” = ไม่ได้ดั่งใจ
“ผมมองว่า ไม่ว่าใครร่าง ปัจจัยสำคัญคือ คนใช้ ที่ผ่านมามีบางเรื่องที่ลงตัว แต่บางเรื่องไม่ลงตัว เพราะขึ้นอยู่กับความคิดเชิงอำนาจของผู้ใช้ ของพรรคพวก แบบพรรคพวกพาไป แทนการใช้เหตุผลและความถูกต้อง” ศ.ดร.อุดม ฉายภาพสะท้อน
สิ่งที่ไม่ลงตัวในประเด็นสำคัญ ที่อดีต กรธ.ขยายความ คือ การปฏิรูปประเทศ ที่เป็นจุดริเริ่มสำคัญที่รัฐธรรมนูญอยากเห็นทิศทางในบ้านเมือง ทั้งปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดิน ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่เป็นเสาหลักของประเทศ โดยที่ผ่านมาดูเหมือนว่ามืดมน หาทางออกไม่เจอ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเกิดผลเสียหายทั้งหมด แต่ภาพรวมไม่ได้ดั่งใจ และประชาชนรู้สึกว่าพายเรือในอ่าง
“ผมไม่ตำหนิ หรืออยากให้กล่าวโทษกับ ส.ว. ฐานะคนติดตาม ตรวจสอบ งานปฏิรูป เพราะต้องเข้าใจว่าคนที่ตั้งส.ว.ไม่อยากให้เคลื่อนอะไรมาก ดังนั้นจึงทำอะไรไม่ได้ พูดตรงไปตรงมา คือ ถูกกำหนดมาแล้วว่าให้ทำตามข้างบน” อดีต กรธ. กล่าว
* ปฏิรูปไปไม่ถึงฝั่ง ผลกระทบคือ “ประชาชน”
ศ.ดร.อุดม กล่าวยอมรับว่าเมื่อการปฏิรูปไม่คืบ หรือไม่เป็นที่น่าพอใจ เมื่อเทียบกับความคาดหวังของประชาชน ทั้งนี้อาจกลายเป็นความขัดแย้ง ปัญหาภายในบ้านเมือง แต่ที่ผ่านมาทุกคนมีบทเรียนแล้วว่า ต้องปรับเปลี่ยนอะไร ตนเชื่อว่าทุกฝ่ายมีบทเรียนที่สามารถหาทางออกและหาทางแก้ไขได้ เช่น การปฏิรูปตำรวจ ตนมองว่ายังมีส่วนที่ได้บ้าง แต่ไม่ได้ทั้งหมด
“มีคนมองว่า หากการเมืองไม่เปลี่ยน อย่างอื่นก็เปลี่ยนไม่ได้ คงไม่เช่นนั้นทั้งหมด เหมือนอย่างที่มีคนพูดว่า ต้องแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะการเมืองไม่สร้างสรรค์ ผมมองว่า ไม่ว่าใครจะมาร่าง หลายมาตราคงทำให้ดีกว่านี้ไม่ได้ บางคนพูดว่า ต้องเขียนเพื่อคนจน เป็นการพูดเชิงความคิด แต่ทางกฎหมายจะทำเขียนให้คนเอาหัวเดินต่างเท้าไม่ได้ หรือเอาคนจนมาปกครองประเทศไม่ได้ หากจะทำได้ต้องเปลี่ยนประเทศเป็นคอมมิวนิสต์"ศ.ดร.อุดม สะท้อนความเห็น
และขยายความต่อว่า "ความที่เขาคิด คือความสุดโต่ง แม้ปัจจุบันมีหลายอย่างควรเปลี่ยน แต่อย่าลืมว่า การเมืองไม่ใช่แค่นักการเมือง แต่ยังมีคนที่เคลื่อนไหวต่างๆ ซึ่งแต่ละคนต้องอยู่บนเหตุและผล หากฝ่ายใดใช้อำนาจใช้ความรุนแรง ต้องเกิดการต่อสู้ ดังนั้นคนที่พยายามบอกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ คือ ความคิดชิงมวลชน”
ศ.ดร.อุดม มองในมุมความต้องการของบางฝ่ายที่อยากแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ว่า เขาบอกเหตุผลเพื่อให้บ้านเมืองเดินไปได้ แต่คือพูดด้านเดียว แต่ไม่ใช่ว่า กรธ. ทำเนื้อหาถูกทั้งหมด แต่การเมืองเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และวันนั้นหากประชาชนไม่เอารัฐธรรมนูญที่ กรธ. ร่าง บ้านเมืองจะวุ่นวาย
* เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อพวกเรา - ส.ว.เลือกนายกฯ ผลลัพธ์ “การเมืองพัง”
อดีต กรธ. มองว่า ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถูกฝ่ายการเมืองเคลมว่า เพื่อพวกเรานั้น คนยกร่างไม่เคยคิดว่าจะให้กลุ่มไหนขึ้นมา แต่ที่ถูกจับจ้องมากคือ การยอมให้มีบทเฉพาะกาล ให้ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ในห้วง 5 ปีแรก ที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งคนมองว่า คือเกิดระบอบสืบทอดอำนาจ ทั้งที่มีเหตุผลที่อธิบายได้
อย่างไรก็ดี เมื่อพ้น 5 ปีแล้ว จะเรียกว่าสืบทอดอำนาจได้อย่างไร รวมถึงรัฐบาลอยู่ได้ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ควรอยู่ ตนมองว่าหากประชาชนเห็นด้วย คงสืบทอดอะไรไม่ได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวคือประเด็นที่ใช้สู้กันทางการเมือง เพื่อชิงเสียงข้างมากในสภาฯ ให้ได้
“กรณีที่มีคนเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เลิกอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ ก็ว่ากันไป แต่อย่างที่บอกคือเลือกตั้งครั้งหน้า ส.ว.จะมีบทบาทน้อยลง เพราะเหตุที่สภาเสียงข้างมาก ไม่ใช่ฝ่าย ส.ว. โดยต้องยอมรับว่า การเมืองเดินไม่ได้หากเสียงข้างมากในสภาฯ เป็นพรรคเพื่อไทย จะให้ส.ว.เลือกนายกฯ มาจากพรรคเสียงข้างน้อยได้อย่างไร เพราะจะบริหารไม่ได้ ทั้งนี้ไม่ได้บอกว่าส.ว.ต้องเลือกคนของ คสช. เท่านั้น แต่มีแนวโน้ม เพราะคสช.คือผู้เลือกส.ว.”
* แก้รัฐธรรมนูญ บัตร 2 ใบ สร้าง “พรรค” ได้เปรียบ
ศ.ดร.อุดม พูดในประเด็นนี้ไว้ชัดเจนว่า เหตุผลที่พรรคการเมืองต้องการแก้ไข เพราะหวังว่าจะมีเสียงที่ดีขึ้น ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอต้นร่างแก้ไข หรือพรรคเพื่อไทยที่มองว่าบัตรเลือกตั้ง 2 ใบได้เปรียบมากกว่า
อย่างไรก็ดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้น และคลอดเป็นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 นั้น ถือว่าแฟร์ และเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองปรับเปลี่ยนเนื้อหาได้ ไม่ใช่มีแค่กลุ่มการเมืองจากฝ่าย คสช. หรือฝ่ายยึดอำนาจอย่างเดียว
“ผลการแก้ไขบัตร 2 ใบ มีความเป็นไปได้สูง ที่ทำให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ และมีกลุ่มการเมืองที่จะไปอยู่ข้างเดียวกัน"
"หากคุณทักษิณ ชินวัตร มีความคิดสุดโต่งเหมือนก่อน จะลำบาก และท้ายที่สุดอาจเป็นรัฐบาลได้ แต่จะเป็นรัฐบาลเหมือนสมัยรัฐธรรมนูญ 2540 หรือรัฐธรรมนูญ 2550 ที่คุมอำนาจเบ็ดเสร็จไม่ได้ เพราะมีระบบถ่วงดุล ต้องยอมรับว่าปัจจุบันการเมืองไทยมีบทบาท และกลไกของข้าราชการที่มีอำนาจ และมีพลัง ทั้งข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และพลเรือน"
ศ.ดร.อุดม ประเมินด้วยว่า บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มีปัจจัยหลายเรื่องชี้ว่าจะสถานการณ์จะไม่เหมือนกับก่อนปี 2557 เพราะนายทักษิณ ถูกลดบทบาททั้งเงิน และการสนับสนุน รวมถึงกลุ่มก้อนทางการเมืองเปลี่ยนไปมาก ทั้งพรรคเพื่อไทยที่แตกเป็นกลุ่ม แม้ประชาชนยังมีศรัทธา แต่ในทางการเมืองจะขึ้นอยู่กับแกนนำหัวคะแนนทางการเมือง
“ผมมองว่าในการเมืองไทย การขับเคลื่อนทางการเมือง นอกจากคนแล้ว ต้องมีทุน มีเงินหล่อเลี้ยง ไม่ว่าฝ่ายใด ดังนั้นทำให้การสร้างการเมืองหรือการเลือกตั้งสร้างสรรค์ทำได้ยาก การเลือกตั้งคนมักมองถึงการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ให้คนมีกิน แต่การเมืองที่สร้างสรรค์ต้องหาคนที่รับผิดชอบต่อปัญหา ไม่ใช่ตัดสินบนพื้นฐานความยากจน หรือตัดสินว่าพวกพ้องสำคัญกว่า"
* คำตอบ เดดล็อก“ประยุทธ์”8 ปี
ศ.ดร.อุดม บอกว่าเรื่องนี้อยู่ที่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ตามที่เคยให้ความเห็น คือต้องเริ่มนับอายุนายกฯ ในปีที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 บังคับใช้ เพราะความหมายของ มาตรา 264 ให้ คณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้
รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะรัฐบาลรักษาการที่ถูกจำกัดการใช้อำนาจ ทั้งนี้ในช่วงที่เปลี่ยนผ่านอำนาจการเมือง "ครม.ของคสช.” ไปสู่รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ไม่ทราบได้ว่าจะใช้ระยะเวลานานหรือไม่ ดังนั้น กรธ.ต้องการให้รัฐบาล คสช. ทำหน้าที่ต่อ และมีอำนาจเต็ม ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะเดินไม่ได้
“ปกติการรักษาของรัฐบาลจะมีช่วง 2-3 เดือน แต่คนร่างไม่แน่ใจ เพราะไม่ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งทันที อีกทั้งอำนาจของรัฐบาลรักษาการ จะถูกจำกัดอำนาจตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลยังมีภารกิจ และมีหน้าที่สำคัญหลายเรื่อง ที่ต้องทำต่อ จึงต้องให้มีอำนาจเต็มต่อไป นอกจากนั้น ผมมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ มาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ไม่ได้มาตามบทเฉพาะกาล"
* ย้ำความตั้งใจของ กรธ.ในวาระ 5 ปีของรัฐธรรมนูญ
ศ.ดร.อุดม ยืนยันในความตั้งใจของ กรธ. คือ “ต้องการสร้างการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย ที่มองด้วยเหตุและผล ไม่ใช่มองว่าใครเป็นพวกใคร ผมอยากเห็นการเมืองหรือบ้านเมืองเดินหน้า ดังนั้นต้องลดสิ่งที่เป็นอคติต่อกัน ต้องพยายามคิดถึงสิ่งที่สังคมได้ประโยชน์ ลดความทุกข์ ลำบากของคน”.