“วิโรจน์” เผยจุดแข็ง “ก้าวไกล” ปลื้มเสียงตอบรับดีขึ้น ลุยตรวจโรงไฟฟ้าขยะ

“วิโรจน์” เผยจุดแข็ง “ก้าวไกล” ปลื้มเสียงตอบรับดีขึ้น ลุยตรวจโรงไฟฟ้าขยะ

“วิโรจน์” ควงผู้สมัคร ส.ก.ลงพื้นที่ตลาดห้วยขวาง เผยจุดแข็ง “พรรคก้าวไกล” ทำงานเป็นทีม สบายใจเสียงตอบรับดีขึ้น ลั่นหากได้เป็น “ผู้ว่าฯ กทม.” จะแก้ปัญหาที่ประชาชนยังแก้ไม่ได้เป็นอันดับแรก - บุกโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุช ตั้งข้อสังเกตเอื้อ “มาเฟีย” ธุรกิจบ่อกลบขยะหรือไม่

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2565 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.พรรคก้าวไกล หมายเลข 1 พร้อมด้วย น.ส.เต็มสินี โสภาสมสวัสดิ์ ผู้สมัคร ส.ก.เขตห้วยขวาง หมายเลข 2 พรรคก้าวไกล ร่วมกันเดินตลาดห้วยขวาง เพื่อพบปะพูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้าและพี่น้องประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อของ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างอบอุ่นเป็นกันเอง พร้อมกับมีการขอถ่ายรูปด้วยกันอย่างคึกคัก 

นายวิโรจน์ กล่าวว่า จุดแข็งของพรรคก้าวไกล คือการทำงานเป็นทีมร่วมกับ ส.ก.ซึ่งรู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี ทำให้การหาเสียงเป็นไปอย่างสบายใจมาก สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือการพบปะพี่น้องประชาชนเพื่อให้มองเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจ และเชื่อใจว่าพรรคก้าวไกลกล้าที่จะแก้ไขปัญหาให้เขาได้

“หลายคนถามว่า หากได้เป็นผู้ว่าฯ จะแก้ปัญหาอะไรก่อน สิ่งที่จะต้องทำก่อนคือ การแก้ปัญหาที่ประชาชนฝากอำนาจไว้กับเราและเป็นปัญหาที่ประชาชนไม่สามารถแก้ไขด้วยตนเองได้ เช่น ปัญหาโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุชส่งกลิ่นเหม็น หรือการเปิดเผยสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือการแก้ปัญหาไซต์ก่อสร้างต่างๆที่บดบังผิวจราจรหรือทางเท้าทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อย ปัญหาเหล่านี้จะต้องไปเคลียร์กับนายทุนผู้รับเหมาซึ่งประชาชนแก้ไขเองไม่ได้ และหวังว่าผู้ว่าฯ ที่เขาฝากอำนาจให้จะมาแก้ตรงนี้ ตรงนี้คือจุดที่ผมชัดเจนที่สุด” นายวิโรจน์ กล่าว

“วิโรจน์” เผยจุดแข็ง “ก้าวไกล” ปลื้มเสียงตอบรับดีขึ้น ลุยตรวจโรงไฟฟ้าขยะ

นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า การบริหารเมืองไม่ใช่การบริหารบริษัทเอกชน จำเป็นต้องบริหารระเบียบและกำกับให้เป็นธรรมด้วย หากระเบียบที่จัดการโดยเมืองไม่เป็นธรรมจะไม่ทำให้เกิดแรงจูงใจต่อคนตัวใหญ่หรือนายทุน ให้มาช่วยเมืองในการพัฒนาหรือโอบรับคนตัวเล็กหรือกลาง เพื่อทำให้เมืองนี้เป็นเมืองที่อยู่อย่างผาสุกร่วมกัน

  • “วิโรจน์” บุกโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุช

อนึ่ง ในช่วงเช้า นายวิโรจน์ พร้อมด้วย น.ส.ฐาปนีย์ สุขสำราญ ผู้สมัคร ส.ก.เขตประเวศ พรรคก้าวไกล หมายเลข 6 เดินทางไปยังหมู่บ้านอิมพีเรียลพาร์ค ถนนเฉลิมพระเกียรติ ซอย 67 พื้นที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้ากำจัดขยะของ บริษัท กรุงเทพธนาคม โดยเฉพาะเรื่องมลพิษทางกลิ่นที่เหม็นรบกวนความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างรุนแรง และกระจายไปไกลในรัศมีกว่า 5 กิโลเมตร มีหมู่บ้านได้รับผลกระทบกว่า 30 หมู่บ้าน ล่าสุด มีคำสั่งจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้สั่งพักใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าของ บริษัท กรุงเทพธนาคม เนื่องจากบริษัทไม่ปฏิบัติตาม Code of Practice : CoP สำหรับการใช้ก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้ครบถ้วน โดยเฉพาะการจัดการเชื้อเพลิงขยะชุมชนจนส่งผลให้เกิดปัญหากลิ่นเน่าเหม็นต่อชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง 

นายวิโรจน์ กล่าวว่า แม้มีคำสั่งดังกล่าวออกมา แต่ไม่ได้หมายความว่า การดำเนินกิจกรรมในโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้จะยุติลง ในทางกลับกันอาจเอื้อให้โรงไฟฟ้าขยะกลายเป็นที่พักขยะ เพื่อส่งต่อไปฝังกลบในบ่อขยะในพื้นที่อื่น รวมถึงบ่อใหญ่ในจังหวัดข้างเคียง หมายความว่า กรุงเทพมหานครอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก 800 บาทต่อตัน และหากการกำจัดขยะโดยเปลี่ยนเป็นพลังงานทำไม่สำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการลดการฝังกลบ จากเดิมร้อยละ 80 ให้เหลือร้อยละ 30 ปัญหาขยะแบบเดิมๆก็จะยังอยู่กับกรุงเทพต่อไป 

“วิโรจน์” เผยจุดแข็ง “ก้าวไกล” ปลื้มเสียงตอบรับดีขึ้น ลุยตรวจโรงไฟฟ้าขยะ

“หลายคนมองว่า ผมแอนตี้โรงไฟฟ้าขยะ ความจริงไม่ใช่เลย พวกเรามองว่าเป็นแนวคิดที่ดีด้วยซ้ำในการเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นพลังงานด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เพราะไม่ว่าสวีเดน โกเบ โอซาก้า โรงไฟฟ้าขยะไปตั้งที่ไหนเขาก็ยิ่งยินดี เพราะหมายถึงเขาจะได้อากาศที่กรองสะอาดขึ้น มีน้ำที่สะอาดขึ้น อย่างในญี่ปุ่นกรองเสียจนน้ำสะอาดเกินไป ทำให้ปลาไม่แข็งแรง เจอเชื้อโรคจะตายง่าย เลยต้องเติมสารเคมีเพิ่มลงไปด้วยซ้ำ โรงงานแบบนี้อยู่กับเมืองของเขามา 20-30 ปีก็ไม่มีปัญหา แต่ของเรากลายเป็นว่าเอาโครงการที่ดีระดับโลกมาตายที่ กทม.ไปหมด กรุงเทพธนาคมซึ่งเป็นบริษัทของ กทม. แทนที่ทำแล้วจะกลายเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่น กลับทำลายความเชื่อใจของประชาชนในพื้นที่ เพราะเมื่อมีปัญหาตั้งแต่โครงการแรก โครงการที่สองที่สามก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ในที่สุดก็จะต้องใช้การฝังกลบต่อไปกลายเป็นปัญหาระยะยาว” นายวิโรจน์ กล่าว

“วิโรจน์” เผยจุดแข็ง “ก้าวไกล” ปลื้มเสียงตอบรับดีขึ้น ลุยตรวจโรงไฟฟ้าขยะ

  • ตั้งข้อสังเกตเอื้อ “มาเฟีย” ธุรกิจบ่อกลบขยะหรือไม่

วิโรจน์ กล่าวอีกว่า ปัญหากลิ่นของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ไม่ได้เกิดจากปัญหาขยะมากถูกพักไว้แล้วเกิดกลิ่นเหม็น แต่กลิ่นที่รุนแรงขนาดนี้สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากกระบวนการหมักของขยะ เพื่อเตรียมเปลี่ยนเป็น RDF : Refuse Derived Fuel หรือเชื้อเพลิงขยะ ซึ่งเดิมออกแบบไว้เป็นระบบปิด แต่จากการตรวจสอบของกรมโรงงานพบว่า ระบบบำบัดกลิ่นเสีย ทำให้เกิดกลิ่นที่รุนแรงจนต้องเปิดระบายออกมาสร้างปัญหาให้พื้นที่รอบข้างและนำไปสู่การร้องเรียนต่างๆ

นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า การทำให้เทคโนโลยีดีๆกลายเป็นระบบที่ใช้การไม่ได้ อาจเกิดจากความจงใจเอื้อกลุ่มทุนธุรกิจบ่อขยะที่จะเสียประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นค่านำไปฝังกลบที่ กทม.ต้องจ่ายดังที่กล่าวไปข้างต้น หรือจากรายได้ที่คนเข้าไปคัดแยกเอาขยะต้องเสีย ซึ่งตรงนี้รู้กันว่าเป็นธุรกิจที่มีมาเฟียคุมมาอย่างยาวนาน เมื่อโรงไฟฟ้าขยะเหล่านี้ใช้งานไม่ได้ สุดท้ายจะเหลือสภาพเป็นเพียงจุดพักขยะเพื่อรอนำไปที่บ่อขยะรอการฝังกลบ สำหรับพื้นที่จุดพัก จากแค่ปัญหากลิ่นก็จะขยายต่อกลายเป็นปัญหาน้ำเพราะไม่เชื่อว่าจะมีการออกแบบไว้เพื่อรองรับขยะที่หมักหมมและน้ำเสียอาจซึมลงดินไปสู่แหล่งน้ำที่อยู่ใกล้ๆได้

“วิโรจน์” เผยจุดแข็ง “ก้าวไกล” ปลื้มเสียงตอบรับดีขึ้น ลุยตรวจโรงไฟฟ้าขยะ

หลังการพบปะรับฟังปัญหาจากประชาชนในพื้นที่ นายวิโรจน์ รุดไปพูดคุยกับพนักงานที่ทำงานในโรงไฟฟ้าขยะโดยตรง เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าในการซ่อมระบบบำบัดกลิ่นที่เสีย และรูปแบบการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าขยะ หลังมีคำสั่งจาก กกพ.สั่งพักใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า ว่ายังมีการดำเนินการต่อไปหรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงการยุติการขายไฟฟ้าเท่านั้น แต่การดำเนินการหมักเพื่อแปลงขยะเป็น RDF ยังมีอยู่ โดยลดปริมาณลง อย่างไรก็ตาม การรับขยะเข้ามาวันละ 800 ตัน ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและยอมรับว่า หากกระบวนการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานหยุดชะงักก็เป็นไปได้ที่จะต้องนำไปสู่กระบวนการฝังกลบ ส่วนการซ่อมระบบบำบัดกลิ่นจะเสร็จสิ้นภายในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งทางวิโรจน์ ได้ขอว่า หากซ่อมเสร็จจริงขอให้รายงานไปทางคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย เพื่อจะขออนุญาตนำคณะกรรมาธิการฯ พร้อมด้วยทีมวิศวะสิ่งแวดล้อมลงมาตรวจสอบ ซึ่งทางบริษัทรับปากตามที่ขอ 

นายวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า  โรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้ เกิดจากคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 ซึ่งละเว้นกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ประชาชนในพื้นที่จึงยังมีข้อสงสัยว่า การจัดการที่ล่าช้าในเวลานี้ เป็นเพราะคณะกรรมการบริษัทแห่งนี้มีนายทหารระดับสูงที่อาจรู้จักกับ พล.อ.อนุพงศ์ ,พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร ด้วยหรือไม่ รวมถึงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์นายทุนธุรกิจบ่อกลบขยะในจังหวัดข้างเคียง จึงทำให้การแก้ไขปัญหาอะไรก็ตามที่ควรจะทำได้ง่ายกลับกลายเป็นยาก