ทำความรู้จัก ส.ก.เป็นใคร-ทำหน้าที่อย่างไร ก่อนถึงเลือกตั้ง 22 พ.ค.65
ทำความรู้จัก ส.ก.เป็นใคร-ทำหน้าที่อย่างไร มีอำนาจแค่ไหนในศาลาว่าการ กทม. ตลอดระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 4 ปี เช็คข้อมูลก่อนถึงเลือกตั้ง 22 พ.ค.65
เปิดรับสมัครเลือกตั้งไปแล้วสำหรับสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) โดยมีผู้สมัครทั้งสิ้น 31 คน แบ่งเป็นชาย 25 คน หญิง 6 คน มีผู้สมัครที่อายุมากที่สุด 75 ปี และอายุน้อยที่สุด 43 ปี จากนี้ กกต.กทม.จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้งภายใน 7 วันนับตั้งแต่ปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 4 เม.ย.65
การเลือกตั้ง ส.ก. วันที่ 22 พ.ค.2565 เป็นการเลือกตั้งทั่วกรุงเทพฯ ครั้งแรกในรอบ 12 ปี ภายหลังจัดเลือกตั้งครั้งล่าสุดวันที่ 29 ส.ค.2553 การเลือกตั้ง ส.ก.ครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการปัดฝุ่นการทำหน้าที่ ส.ก.ที่มาจากการเลือกตั้งในฐานะผู้แทนท้องถิ่นให้คนกรุงเทพฯ ภายหลัง กกต.ออกประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ก. 50 เขตเลือกตั้ง โดยมีสมาชิกเขตเลือกตั้งละหนึ่งคนและเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 2 มี.ค.2565
หน้าที่ของ ส.ก.จะทำหน้าที่คล้าย ส.ส.ในระบบรัฐสภา แต่ ส.ก.จะมีหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติของ "สภาท้องถิ่น" หรือ "สภา กทม" มีหน้าที่ควบคุม ตรวจสอบและดูแลการบริหารราชการ กทม.ของฝ่ายบริหารที่มีผู้ว่าฯ กทม.เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งเปรียบเหมือนคณะรัฐมนตรี มีหัวหน้าฝ่ายบริหารประเทศในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
สำหรับอำนาจหน้าที่ ส.ก.จะถูกแบ่งเป็น 4 หน้าที่หลัก ประกอบด้วย
1.พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี อาทิ การพิจารณางบประมาณประจำปี ของ กทม.ในแต่ละปี ซึ่งเปรียบเหมือนบทบาทของ ส.ส.ในรัฐสภาที่พิจารณาตราพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ
2.เสนอญัตติ ตรวจสอบและติดตามการบริหารราชการ กทม. เพื่อให้ หน่วยกทม.ดำเนินการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขในด้านต่างๆ เปรียบเสมือนการทำหน้าที่ถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ครม. แต่ใน กทม.จะมีโครงสร้างตั้งแต่ สำนักปลัด กทม. สำนักบริหาร 18 สำนัก อาทิ สำนักการแพทย์ สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม
3.ร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการวิสามัญของสภา กทม.เพื่อควบคุมและติดตามผลการบริหารงานหรือพิจารณาสอบสวนเรื่องใดๆ อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กทม. จำนวน 11 คณะ ประกอบด้วย
- 1.คณะกรรมการตรวจรายงานการประชุมและพิจารณาเปิดเผยรายงานการประชุมลับ
- 2.คณะกรรมการการศึกษาและวัฒนธรรม
- 3.คณะกรรมการการโยธาและผังเมือง
- 4.คณะกรรมการการสาธารณสุข
- 5.คณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม
- 6.คณะกรรมการการเศรษฐกิจ การเงิน การคลังและติดตามงบประมาณ
- 7.คณะกรรมการการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย
- 8.คณะกรรมการการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม
- 9.คณะกรรมการกิจการสภากรุงเทพมหานคร
- 10.คณะกรรมการการจราจร ขนส่ง และการระบายน้ำ
- 11.คณะกรรมการการท่องเที่ยวและการกีฬา
4.ในฐานะผู้แทนประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้งระดับเขต ยังมีหน้าที่ประสาน ช่วยเหลือ แก้ไขความเดือนร้อนให้ประชาชนในพื้นที่
ขณะที่ "สภา กทม." เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2516 ซึ่งมีสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง 46 คน จากนั้นชุดที่ 2-11 เป็นสภา กทม.ที่มาจากการเลือกตั้ง จนถึงในปี 2565 สภา กทม.มีมาแล้วทั้งหมด 12 ชุด โดยในชุดที่ 12 มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2557 มี ส.ก.ทั้งหมด 30 คน
ส.ก.ที่มาจากการเลือกตั้งวันที่ 22 พ.ค.2565 จะมีทั้งหมด 50 คน จาก 50 เขตเลือกตั้งในกรุงเทพฯ มีวาระในการดำรงตำแหน่งครั้ง 4 ปี ได้รับเงินเดือน ดังนี้
- ประธานสภา กทม.
เงินประจำตำแหน่ง 58,560 บาท
เงินตอบแทน 15,000 บาท
รวม 73,560 บาท
- รองประธานสภา กทม.
เงินประจำตำแหน่ง 53,640 บาท
เงินค่าตอบแทน 7,500 บาท
รวม 61,140 บาท
- สมาชิกสภา กทม.
เงินประจำตำแหน่ง 44,700 บาท
เงินค่าตอบแทน 3,750 บาท
รวม 48,450 บาท
หากรวมรายได้ 4 ปีจะมีดังนี้
- ประธานสภา กทม.จะอยู่ที่ 3,530,880 บาท
- รองประธานสภา กทม.จะอยู่ที่ 2,934,720 บาท
- สมาชิกสภา กทม.จะอยู่ที่ 2,325,600 บาท