“ชัชชาติ” เปิดนโยบาย “9 ดี” ถ้าทำครบเมืองน่าอยู่ เน้นทำน้อยแต่ได้เยอะ
“ชัชชาติ” เปิด 200 นโยบาย “9 ด้าน 9 ดี” หัวใจสำคัญคือการบริหารจัดการที่ดี ลั่นถ้าทำครบ-เรื่องใดแตะ ทำให้เมืองน่าอยู่ได้ ลั่นต้องทำน้อย แต่ได้เยอะ โครงการต้องโปร่งใส ไม่เส้น ไม่ส่วย
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ในนามอิสระ เบอร์ 8 กล่าวตอนหนึ่งในงาน “เปิดฉากศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. 65” จัดโดยนักศึกษาหลักสูตร มหานคร รุ่น 9 ร่วมกับ “เครือเนชั่น” ถึงนโยบายหากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ว่า “กลุ่มเพื่อนชัชชาติ” คิดกันอย่างตกผลึกว่าอยากให้ กทม.เป็นอะไร สุดท้ายสรุปได้ว่า กทม.ต้องเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ถามว่าง่ายหรือไม่ ก็ไม่ง่าย เพราะคำว่าน่าอยู่ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เป็นโจทย์ที่ท้าทาย เมื่อลองศึกษาตัวอย่างจากทั่วโลกแล้ว เชื่อว่ามี 9 ด้าน 9 ดี ถ้าทำครบ หรือด้านใดด้านหนึ่งแตะชีวิตของทุกคน จะทำให้เมืองเราน่าอยู่ขึ้น มีทั้งหมดกว่า 200 นโยบาย หัวใจสำคัญคือการบริหารจัดการที่ดี แบ่งเป็น
- ปลอดภัยดี คือการรับเรื่องร้องเรียนจุดเสี่ยง ถ้ามีแก้ไขทันที
- สุขภาพดี ยกระดับศูนย์สาธารณสุข คลินิกโรคคนเมือง
- สิ่งแวดล้อมดี เช่น การปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ประกาศสงครามกับฝุ่น เปลี่ยนขยะเป็นรายได้
- เรียนดี คืนครูให้กับโรงเรียน เปิดโรงเรียนเป็นพื้นที่ให้เด็กใช้ความคิดสร้างสรรค์วันเสาร์-อาทิตย์
- บริหารจัดการดี
- เดินทางดี กทม.ต้องเป็นศูนย์กลางดำเนินการควบคุมไฟจราจร ดูเส้นทางรถเมล์
- โครงสร้างดี แก้ไขผังเมือง ทำโครงสร้างตามผังเมืองให้ทัน
- เศรษฐกิจดี เป็นเรื่องใหญ่ กระตุ้นเศรษฐกิจ ทำตัวเป็น “ผู้ว่าฯ เที่ยงคืน”
- สร้างสรรค์ดี เปิดพื้นที่ให้เด็กรุ่นใหม่ทำงาน สร้างธุรกิจใหม่ ๆ
“นโยบายใน 9 ด้าน เริ่มทำได้ทันที เราทำได้มี กทม.มีข้าราชการ และลูกจ้าง 8 หมื่นคน มี 16 สำนัก มีงบ 8 หมื่นล้านบาท นโยบายของเรา 200 นโยบายกระจายตามสำนัก วันแรกทุกนโยบายก้าวหน้าได้ทันที นโยบายที่ทำใช้ไปนาน ๆ นโยบายระยะสั้น 100 วันเห็นผลได้ หัวใจคือนโยบายต้องตอบโจทย์พวกเราทุกคน เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับพวกเราทุกคน” นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการต่าง ๆ ใน กทม.เราเชื่อในแนวคิดว่า อยากทำน้อย แต่ได้เยอะ ลงทุนให้คุ้มค่า เช่น กับป้ายหาเสียง ทำน้อย ทำเล็ก ติดน้อย แต่ได้เยอะ เพราะตอบโจทย์ ดังนั้นทำอย่างไรให้ กทม.ทำน้อยแต่ได้เยอะ ลงทุนให้เหมาะสม ที่สำคัญการทำโครงการต้องโปร่งใส ไม่เส้น ไม่ส่วย
“มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเห็นนโยบาย อ่านละเอียดแล้วบอกผมว่า นโยบาย 9 ดี ไม่เพ้อฝัน ทำได้จริง ใช้งบไม่มาก และครอบคลุมทุกเรื่องของพวกเรา มาช่วยกันสร้าง ผมทำคนเดียวไม่ได้ ต้องช่วยกันทั้งหมดให้เป็นเมืองน่าอยู่” นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ ตอบคำถามถึงการติดตั้งไวไฟฟรีใน กทม. จะทำครอบคลุม 100% หรือจะทำเฉพาะจุดใหญ่ เช่น ชุมชน โรงเรียน ความต่างคืออะไร และมีอะไรป้องกันคนนำไปใช้ในทางที่ผิด ว่า ปัญหานี้สำคัญ ประชาชนพูดถึงเยอะ มีหลายนโยบาย สำคัญสุดคือเรื่องการลงทุน ต้องดูว่าตัวเลขการลงทุนเท่าไหร่ นโยบายเบื้องต้นคือติดตั้งไวไฟฟรี ณ จุดที่มีประชากรหนาแน่น ชุมชน โรงเรียน ห้องสมุด สถานบริการของ กทม. โรงพยาบาล สวนสาธารณะบางจุด ทำน้อยแต่ได้มากก่อน ทำให้ได้ตรงนี้ก่อน แต่จะ ให้ทำทั้ง กทม. ต้องดูเรื่องการลงทุนอีกทีหนึ่ง ยังไม่อาจสัญญาตอนนี้ได้ เพราะมีเรื่องการลงทุน กทม. มีงบลงทุนจำกัด แต่เอาสถานที่สำคัญก่อน เพื่อให้คนเข้าถึงบริเวณให้บริการ แต่ถ้าเงินเหลือ มีเทคโนโลยีถูกลงได้ ขยายให้ครอบคลุมทั้ง กทม. ได้ เป็นเหมือนโครงสร้างพื้นฐาน
นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องรักษาความปลอดภัย มีระบบลงทะเบียน การรู้ตัวเอง มันมีระบบเทคโนโลยีทำได้อยู่แล้ว อันนี้เป็นเทคโนโลยี โดยเฉพาะในยุคโควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนของประเทศ หลายคนเข้าถึงเทคโนโลยี คนเริ่มชิน ไวไฟฟรีไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือการลงทุนให้คุ้ม ถ้าลงทุนมาก แต่ได้น้อย ไม่คุ้ม