ครม.เห็นชอบไทยเข้าร่วมปฏิญญากลาสโกว์ ลดการสูญเสียป่าไม้
ครม.เห็นชอบไทยเข้าร่วมปฏิญญากลาสโกว์ของผู้นำด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ช่วยสร้างบทบาทและภาพลักษณ์ของประเทศด้านการอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ และที่ดินอย่างยั่งยืนในเวทีระหว่างประเทศ
เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมปฏิญญากลาสโกว์ของผู้นำด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ลงนามในหนังสือแจ้งยืนยันการเข้าร่วมปฏิญญาฯเพื่อนำส่งให้สหราชอาณาจักรต่อไป
โดยปฏิญญากลาสโกว์มีวัตถุประสงค์ ในการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดการป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน รวมทั้งแสดงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเพื่อลดการสูญเสียป่าไม้และความเสื่อมโทรมของที่ดินภายในปีค.ศ. 2030 ตลอดจนเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ มีประเด็นสำคัญประกอบด้วย การอนุรักษ์ป่าไม้และระบบนิเวศบนบก เพื่อเร่งให้เกิดการฟื้นฟูป่าไม้และระบบนิเวศ, สนับสนุนนโยบายการค้าและการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน, การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชนท้องถิ่น พัฒนาการเกษตรให้ยั่งยืนและมีผลกำไร เสริมสร้างการรับรู้คุณค่าของผืนป่า ตระหนักถึงสิทธิของชนพื้นเมืองดั้งเดิมและชุมชนท้องถิ่น
โดยสอดคล้องกับกฎหมายภายในและตราสารระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง, ดำเนินการหรือปรับเปลี่ยนนโยบายการเกษตรยั่งยืนและความมั่นคงด้านอาหาร เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเกษตรที่ยั่งยืนส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารและเกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม, สนับสนุนด้านการเงินเพื่อการเกษตรและการจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน และการอำนวยความสะดวกให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนให้สอดคล้องกับเป้าหมายการฟื้นฟูพื้นที่ป่าและที่ดินจากความเสื่อมโทรม
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แจ้งว่า การเข้าร่วมปฏิญญาฯ ครั้งนี้ จะเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศไทยตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 55 และเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปีค.ศ.2065
ตามที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงของประเทศไทยในการประชุมสุดยอดผู้นำโลก(World Leaders Summit) ของCOP26 เมื่อวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร รวมถึงเป็นการสร้างบทบาทและภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้านการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้และที่ดินอย่างยั่งยืนในเวทีระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ในฐานะประธานการประชุม COP26 ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีของไทยเพื่อเชิญให้ประเทศไทยเข้าร่วมปฏิญญากลาสโกว์ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 ซึ่งใกล้กับวันที่จะมีการประชุม COP26 คือวันที 29 ตุลาคม-12 พฤศจิกายน 2564 จึงทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเข้าร่วมปฏิญญาฯได้ทันในช่วงที่มีการประชุมCOP26 เนื่องจากการเข้าร่วมจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอครม.เพื่อเห็นชอบ โดยปัจจุบันมีประเทศสมาชิกประกาศเข้าร่วมปฏิญญาแล้ว 143 ประเทศ จากทั้งหมด 197 ประเทศ เหลืออีก 54 ประเทศ